ยันร่างพ.ร.บ.ปิโตรฯฉบับใหม่เป็นประโยชน์กับปท.

ยันร่างพ.ร.บ.ปิโตรฯฉบับใหม่เป็นประโยชน์กับปท.

"ครม." รับทราบ "ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ" ฉบับใหม่ ยันเป็นประโยชน์กับประเทศ พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ"

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในวันนี้ว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้รายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยประกอบด้วยข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารจัดการปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม การแบ่งปันผลผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต และการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ NOC

โดยกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงในข้อแรกเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม บัญญัติให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการ และต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติละประชาชน โดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ที่ผ่านมา การบริหารงานคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนอยู่แล้ว และการจัดหาทรัพยากรปิโตรเลียม เพื่อสนองต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศ ซึ่งการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท ส่วนค่าภาคหลังนำไปจัดสรรสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสัดส่วน 60% ส่วนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ได้กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการปิโตรเลียมไว้ในกฎหมาย รวมถึงคุณสมบัติว่าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะด้านในสาขาธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน กฎหมาย หรือสาขาอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการ

ด้านการทำสัญญาแบ่งปันผลผลิต นั้น ประกอบด้วย 3 ระบบ คือ 1.สัมปทานปิโตรเลียม 2.สัญญาแบ่งปันผลผลิต และ 3.สัญญาจ้างบริการ ซึ่งการเลือกใช้ระบบใดจะมีหลักในการพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลศักยภาพของแห่งปิโตรเลียม คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐจะได้และต้องสามารถจูงใจผู้ลงทุนได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไม่เกิน 50%

ขณะที่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานเกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ ต้องมีความเหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย รวมทั้งรูปแบบของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ต้องพิจารณาด้วยว่าจะเป็นแบบใด ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรมหาชน ดังนั้นจึงจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้ง รูปแบบการจัดตั้ง วิธีการ ซึ่งทุกอย่างยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างรวดเร็ว และภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากที่พ.ร.บ.ปิโตรเลียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้