ชี้แก้กม.บัตรทอง ช่วยเม็ดเงินถึงมือคนไข้

ชี้แก้กม.บัตรทอง ช่วยเม็ดเงินถึงมือคนไข้

ปลัดสธ.ชี้แก้กฎหมายบัตรทอง แยกเงินเดือนคนสธ.ออกจากงบฯบริการประชาชน ช่วยเม็ดเงินถึงมือคนไข้ หากไม่แยกรพ. บางแห่งไม่มีเงินจะซื้อยามารักษา

กรณีที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 4 ภาคออกแถลงการณ์คัดค้านและแสดงออกไม่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์(ร่าง)พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...) พ.ศ..... ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ร่างพรบ.ฯ ฉบับที่นำมาประชาพิจารณ์ ไม่ใช่ร่างสุดท้ายที่จะใช้ เพราะจะมีการปรับปรุงจากการทำประชาพิจารณ์ และเดิมทีท่านรัฐมนตรีฯ และตนต่างไม่อยากแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้มากนัก แต่เมื่อมีคำถามและอาจเกิดความไม่เข้าใจก็จำเป็นต้องออกมาย้ำว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นในเรื่องของการปรับแก้การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้ไปแตะเรื่องสิทธิบริการใดๆของประชาชน

ต่อข้อถามกลุ่มคนรักหลักฯมองว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้เอื้อประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดึงอำนาจกลับคืน นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่เคยคิดจะยึดอำนาจใครเลย ตั้งแต่มีพรบ.หลักประกันสุขภาพฯ พวกตน หน่วยบริการก็ทำงาน และเคารพพรบ.ที่มีมา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้ซื้อให้บริการเพื่อประชาชน ทางกระทรวงฯ ก็มีรพ.ให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งตนคิดว่าควรมาร่วมกันคิดร่วมกันทำงานเพื่อประชาชนมากกว่า ไม่ใช่มาแบ่งกันว่า ผู้ซื้อ ผู้ขาย

“การแก้ไขให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปเป็นรองประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) นั้น ส่วนตัวผมว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะคณะกรรมการดูให้สมดุลกันก็เพียงพอแล้ว เพราะที่ผ่านมามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน อย่างผมก็เป็นกรรมการ ซึ่งผมมองว่า หากกรรมการหากบอร์ดคิดถึงประโยชน์ของประชาชน คิดถึงความเป็นจริงในการให้บริการ ที่จะส่งผลต่อการบริการประชาชน มีจุดยืนที่ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ คือ ถ้าเราทำอะไรที่ไม่ยึดหลักพวกพ้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวก็จะไม่มีปัญหา” นพ.โสภณกล่าว

กรณีกลุ่มคนรักหลักฯมองว่าการแก้กฎหมายแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จะส่งผลกระทบต่อระบบในเรื่องการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ นพ.โสภณ กล่าวว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมามีการวมเงินเดือนอยู่ในงบเหมาจ่าย ก็เห็นผลชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรเลย แต่กลับทำให้เกิดปัญหางบประมาณของหน่วยบริการไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรน้อย อย่างสมุทรสงคราม และสิงห์บุรี

เนื่องจากเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่รพ.ได้รับ กลับมีงบเหลือไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชน อย่างรพ.บางแห่งติดหนี้ จนไม่สามารถสั่งซื้อยาเข้ามาได้ แต่หากมีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว จะทำให้ทุกรพ.ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อใช้เป็นการบริการประชาชนที่เท่ากัน เพราะไม่ต้องมีตัวแปรเงินเดือนมาเกี่ยวข้อง ยกเว้นบางรพ.ที่อาจได้รับเพิ่ม เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ เนื่องจากอยู่ห่างไกล อยู่บนเกาะ เป็นต้น

“เรื่องแยกเงินเดือนมีการศึกษามาก่อนว่า จำเป็นต้องแยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็บอกว่าจำเป็นต้องเอาเงินเดือนแยกออกมา เพราะหากทำแล้วระบบจะอยู่ได้ และจะส่งผลดีต่อการบริการประชาชน ซึ่งเรื่องพวกนี้มีข้อมูลการันตี และรพ.ในพื้นที่ก็ประสบปัญหาจริงๆ สุดท้ายก็จะส่งผลต่อประชาชน อย่างรพ.อินทร์บุรี รพ.สิงห์บุรี ในจ.สิงห์บุรี และรพ.สมุทรสงคราม” นพ.โสภณ กล่าว