ยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทพุ่ง34% สูงสุดในรอบ4ปี

ยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทพุ่ง34% สูงสุดในรอบ4ปี

"อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า" เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือน พ.ค. อยู่ที่ 4,783 รายเพิ่มขึ้น 34% สูงสุดในรอบ 4 ปี เผยยอด 5 เดือนอยู่ที่ 29,417 ราย

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนธุรกิจและผลการให้บริการเดือนพฤษภาคม 2560 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 5,832 ราย เพิ่มขึ้น 1,049 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีจำนวน 4,783 ราย เพิ่มขึ้น 1,466 ราย และคิดเป็นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 4,366 ราย ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี

สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิก 1,074 ราย เพิ่มขึ้น 196 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีจำนวน 878 ราย และเพิ่มขึ้น 103 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 971 ราย ด้านมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เดือนพฤษภาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 31,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,579 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีจำนวน 21,832 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 12,638 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 18,773 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 531 ราย รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 346 ราย ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ 211ราย ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร 149 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ 130 ราย ตามลำดับ ส่งผลให้ห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 จำนวน 1,389,729 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.90 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการทั่วประเทศ 666,292 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 16.15 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 483,568 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,169 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัดห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,555 ราย โดยยังเชื่อว่ามีหลายปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้คาดการณ์ยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ปีนี้จะอยู่ที่ 66,000 รายได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท 29,417 ราย เพิ่มขึ้น 3,541 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวน 25,876 ราย เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มเดินทางกลับเข้ามาและมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้ง ด้านการเมืองระหว่างประเทศ