คุณค่าการเสียดสีที่โลกต้องการ

คุณค่าการเสียดสีที่โลกต้องการ

ไม่ใช่แค่อารมณ์ขันหรือการใช้ความย้อนแย้งมาทิ่มแทงกัน แต่การเสียดสีมีคุณค่ายิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะในเวลายากลำบากของสังคม

การเสียดสีคืออะไร? เอาจริงๆ ไม่ต้องหาความหมายทุกคนก็รู้ดีอยู่แก่ใจ นิยามของการเสียดสีอยู่ที่การใช้ อารมณ์ขัน มุกตลก ความย้อนแย้ง และการพูดเกินจริง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เรื่องงี่เง่าส่วนบุคคล ไปจนถึงการเมือง และประเด็นสังคมอื่นๆ ฉะนั้น การเสียดสีจึงไม่ใช่แค่เพื่อการสร้างความขบขัน หรือเพื่อความบันเทิง แต่เป็นเครื่องมือทางสังคมที่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด

บทบาทของการเสียดสี

ในทางทฤษฎีแล้ว การเสียดสี (Sarcasm) เป็นธรรมชาติของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ ผู้เรียนรู้ที่จะสร้างทั้งความรู้สึกด้านดีและด้านลบให้แก่ผู้คนรอบข้าง Katherine Rankin นักประสาทวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ค้นพบว่าการเสียดสีทั้งในแง่บวกและตลกร้ายในแง่ลบ ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์ในสังคมมนุษย์ ที่สำคัญ “การเสียดสี” เกิดขึ้นมาตามสายวิวัฒนาการของมนุษย์เพื่อการเอาตัวรอดในชีวิตที่ประกอบกันเป็นสังคมเลย

ความอัจฉริยะของมนุษย์ที่เหนือกว่าสัตว์อื่นคือการวิวัฒนาการของสมองที่เรียนรู้จะแยกแยะ “ศัตรู” หรือ “มิตร” และวิธีการพื้นฐานก็คือการวัดด้วยการ “เก็ทมุก” หรือไม่ การเสียดสีด้วยอารมณ์ขันเชิงร้ายเหมือนจะอยู่ในสันดานดิบของมนุษย์ทุกคน หากเราโยนมุกเสียดสีใส่ใครแล้วเขาเก็ท โอเค เราคือเพื่อนกัน หากไม่แล้วล่ะก็คุณก็คือคนกลุ่มอื่น มนุษย์ก็ค่อยๆ วิวัฒนาการมาเป็นคนประเภทต่างๆ คัดกรองมิตรและศัตรูไปโดยอัตโนมัติและซับซ้อนขึ้นทุกที แต่ก็ด้วยเครื่องมือพื้นฐานอย่างหนึ่ง ก็คือการเสียดสีนี่แหละ

ส่วนการใช้ความขบขันมาวิจารณ์สังคมและการเมืองที่เราเห็นอยู่ตลอดไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว อย่างนักคิดอริสโตฟาเนส (Aristophanes) ก็ได้สร้างละครขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการตำหนิสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และสงครามเปโลโปนนิเซียน และบทประพันธ์ของเชคสเปียร์ ก็มีหลายบทหลายตอนที่เสียดสีมาตรฐานสังคมโดยใช้การอุปมาอุปไมย ส่วนการ์ตูนเสียดสีวิจารณ์วัฒนธรรม สังคม และการเมืองนั้นก็มีมายาวนานตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 18 ด้วยซ้ำ มาถึงวันนี้การเสียดสีก็ยิ่งทำหน้าที่อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะในยุคของการควบคุมข้อมูลข่าวสารผ่านอำนาจรัฐ ซึ่งสวนทางกับความล้นทะลักของข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ เราจึงได้เห็นการเสียดสีในรูปแบบต่างๆ เปลี่ยนผ่านเคลื่อนไหวกันอย่างน่าสนุก

การอำ หรือการแซะอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับการเสียดสี แต่ก็ต่อยอดขึ้นมาอีกทีราวกับเป็นประดิษฐกรรมใหม่ๆ ทางภาษา

เราได้คุยกับแอดมินเฟสบุ๊คแฟนเพจ “ฉันเป็นนักเสียดสี” ผู้ขอไม่เผยตัวตนจริง เขาบอกแค่ว่าทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษา เกี่ยวกับการแปล และการใช้ภาษา เขาเริ่มต้นทำแฟนเพจด้วยความชอบเพจด้าน Sarcasm ของต่างประเทศ ในเมื่อเขาเป็นคนอ่านภาษาอังกฤษแตกฉานจึง “เก็ท” มุก และคิดว่ามันจริงและโดนใจ เมื่อ 3 ปีที่แล้วซึ่งยังไม่มีเพจมากมายขนาดนี้ เขาจึงริเริ่มทำเพจขึ้นมาด้วยจำนวนผู้ติดตามหลักร้อย กับเรื่องทั่วๆ ไป ที่ส่วนหนึ่งแปลมาจากมุกต่างประเทศ เรียบเรียงให้โดนใจคนไทย แต่เพจมา “เกิด” จริงๆ ก็ด้วยประเด็นที่มาจากเขาเอง

“ผมเปิดประเด็นเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวไทย ว่าทำไมต้องพ่วงชื่อต่างประเทศด้วย เราเป็นนักเดินทาง เราไม่ชอบ ทำไมต้องกุ้ยหลินเมืองไทย แล้วมันมีแบบนี้ทั่วประเทศเลย คนก็เข้ามาเป็นพัน ไลค์เป็นหมื่น แสดงว่ามันตรงใจคน”

แต่โพสต์ที่เรียกแขกจริงๆ ก็คือโพสต์เกี่ยวกับการเมือง ที่สร้างผู้ติดตามได้หลายหมื่น แอดมินยืนยันว่าเพจนี้ไม่ได้เน้นที่การเมืองโดยเฉพาะ เสียดสีในหลายเรื่อง “แต่สิ่งที่พูดกันมากในประเทศตอนนี้ คนเห็นได้ชัดก็คือเรื่องการเมือง ทุกวันนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองให้พูดเยอะ”

ทำไมเราต้องเสียดสี

การเสียดสีมีอยู่ในทุกสังคม บางประเทศมีรายการในสื่อกระแสหลักที่เน้นเรื่องการเสียดสีโดยเฉพาะเลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับในประเทศไทย ณ ตอนนี้ สื่อที่เป็นอิสระที่สุดคือสื่อออนไลน์ ฉะนั้น การเสียดสีจึงฟุ้งกระจายไปทั่ว เป็นที่รักเป็นที่อยากแชร์ของชาวเน็ตเหลือเกิน แล้วทำไมเราถึงต้องเสียดสีถึงขนาดนี้ แอดมินให้ความเห็นว่า

“ในความคิดผมคือ คนเราพูดตรงๆ แล้วไม่ฟัง ดื้อด้าน จึงต้องเสียดสี ยกตัวอย่างสำนวนไทย คำสอนของไทย เรามีคำว่ากุศโลบาย ซึ่งโกหกเราตลอดเลยนะ เช่น ทำไมร้องเพลงในครัวต้องได้ผัวแก่ด้วย ทำไมต้องหลอกกัน ต้องใช้วิธีที่ไม่พูดกันตรงๆ ถึงจะกลัว ถึงจะคิดกันได้ ผมว่ามันเป็นนิสัยคนไทยเลยนะ พูดตรงๆ ไม่ได้ จริงๆ แค่ต้องการไม่ให้น้ำลายหกลงกับข้าว ถูกไหม แต่ต้องมาขู่กันว่าเดี๋ยวได้ผัวแก่นะ ต้องจิกกัดแบบนี้ เหน็บแนมให้มันเจ็บๆ คนที่มีพุทธิปัญญา เขาก็จะเก็บกลับไปคิดฮะ คนที่แตะนิดแตะหน่อยไม่ได้ก็อยู่ตรงนั้นไปแหละ”

เรียกว่าอาจจะอยู่ในกมลฯ ของคนไทยเลย “กุศโลบายของคนไทย คือพูดตรงๆ ไม่ฟัง ด่าตรงๆ ก็โกรธ ก็เลยต้องมีอีกวิธีหนึ่งให้พูด คำว่า Sarcasm ความหมายของมันมีคำว่าตลกขบขัน พูดให้ขบขัน ตำหนิไม่ตรง ตำหนิให้ขบขัน แบบนั้น ล้อเลียนความโง่ของคนเพื่อล้อเลียนสังคม” แอดมินตอกย้ำ

คุณค่าของการเสียดสี

หลายครั้งคอนเทนท์ที่มีรสชาติเสียดสีก็ถูกอ่านอย่างตั้งใจ ถูกพูดถึงมากกว่าคอนเทนท์ที่นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาเสียอีก ในสายตาของแอดมินการเสียดสีคือรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร เป็นเครื่องมือที่เรียกความสนใจคน

“เพราะการเสียดสีต้องตลก อ่านแล้วขำ อ่านแล้วโดน เวลาคนเราแชร์อะไรก็อยากให้คนมาอ่าน ถ้าตลกคนก็อยากอ่าน แต่ถ้าแชร์ข่าวตรงๆ ทื่อๆ ไม่ขำ ยาว คนก็ไม่อ่าน ผมว่ามันก็เป็นเวอร์ชั่นหนึ่งของ Infographic อันนั้นเป็นรูปภาพ อันนี้ก็คืออีกวิธีหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามาอ่าน”

เช่นกรณีของเพจอำอย่าง Double Standard ซึ่งเสียดสี The Standard สื่อใหม่ภายใต้การนำของวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หลังจากละวางนามสกุลเดิม a day ไปแล้ว The Standard ตั้งใจทำเนื้อหาอย่างมี “มาตรฐาน” ขณะที่ Double Standard ก็ตามอำแบบกัดไม่ปล่อย (ด้วยสาเหตุว่าด้วยเรื่องการเมือง) ความชวนหัวกลับกลายเป็นตัวดึงดูดให้คนติดตามอ่านอย่างจริงจัง

“คนอ่านตั้งใจอ่านคอนเทนท์เสียดสีมากกว่า เพราะไม่เสียดสีมันก็ทื่อๆ แต่เมื่อไหร่ที่มันเสียดสีคนก็รู้ว่าจะต้องมีอะไรมากกว่านั้น เพราะคนทำคอนเทนท์เขาย่อยมาให้แล้ว อย่าง Double Standard ถ้าเป็นคอนเทนท์ตั้งต้นของ The Standard มี 1 คอนเทนท์อำก็จะมี 1.1 และ 1.2 แบบนี้ มันย่อยแล้วแตกประเด็นมาแล้ว ทำให้คนรู้ว่าตอนนี้ The Standard กำลังพูดถึงอะไร เอาไปต่อยอด เสริมมุกเข้าไป เพจก็น่าติดตาม น่าสนใจ”

รสชาติที่เด็ดขาดทิ่มแทงใจ คืออาวุธสำคัญของการเสียดสี แต่ไม่ใช่แค่ออกแบบคำพูดเพื่อให้คนเฮ คลิกไลค์ แล้วแชร์เท่านั้น การเสียดสียังให้อะไรกับคนอ่าน โดยเฉพาะการเปิดใจสู่ข้อเท็จจริงบางอย่างที่ไม่เคยยอมรับ ข้อมูลที่หากเล่าเรียบๆ ก็คงผ่านเลยไป แต่ถ้าใช้การพูดที่เจ็บแสบ สร้างรอยขูดขีดในใจได้แล้วล่ะก็ “ถ้าคนที่เปิดใจอ่านจะฉุกคิด กลับไปคิด หาคำตอบได้มากกว่าการที่มีใครมาบอกอะไรเราตรงๆ” ต่อให้บางครั้งจะสร้างความเจ็บทางอารมณ์ให้ แต่ก็อาจสร้างมุมมองใหม่ๆ ได้เช่นกัน แม้พลังของการเสียดสีจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรมเต็มร้อย

“แต่ก็ต้องมีส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนความคิดได้บ้าง ถ้าเป็นเรื่องสังคม โดยเฉพาะสังคมที่มี 2 ฝ่ายชัดเจนแบบนี้ผมว่ามันยาก แต่คนรู้แจ้งมีไหม มี ผมเชื่อว่ามี เพราะข้อความทื่อๆ คนไม่อ่านไง ผมมีเพื่อนๆ น้องๆ ที่อ่านข้อมูลธรรมดาก็เฉยๆ แต่พอมาอ่านแบบเสียดสีแล้ว เออ จริงว่ะ นี่คือคำที่เราต้องการได้ยิน แค่นี้เอง แล้วคุณกลับไปคิดต่อเถอะ แค่นั้นก็พอแล้ว”

ณ ช่วงเวลาที่ยากลำบาก เรายิ่งต้องการการเสียดสี     

ไม่เพียงแค่ภาพ การ์ตูน หรือข้อความที่แชร์ต่อกันในโลกโซเชียลเท่านั้น ในวงการศิลปะก็เต็มไปด้วยหัวข้อที่เสียดสีสังคม และดูเหมือนว่าในช่วงเวลาที่เรามีวิกฤติการเมือง หรืออยู่ภายใต้การปกครองด้วยทหาร ที่มีการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูล การพูดตรงๆ อาจนำพาความเดือดร้อนมาให้ หลายครั้งงานศิลปะเชิงเสียดสีจึงถูกนำมาใช้พูดถึงปัญหาต่างๆ

“งานศิลปะร่วมสมัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมุมมองความเป็นปัจเจกชน ณ ปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนสถานการณ์สังคมโดยรวม ตอนนี้เหมือนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร เราอยากพูดอะไรพูดไม่ได้ ศิลปินหลายคน หรือคนสายงานอื่นๆ มาจับงานศิลปะ เพราะสื่อด้านศิลปะเป็นช่องทางหนึ่งที่เขาพูดผ่านได้ เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ตอนนี้ก็มีไม่กี่เรื่องที่น่าพูด การเมืองก็เป็นเรื่องที่ชัด เป็นประเด็นของปัจจุบัน” จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล ผู้จัดการแกเลอรี่ Gallery VER กล่าว

การเสียดสีจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงออกทางอ้อม อารมณ์ขันที่ต่อให้เจ็บแสบ ก็ยังบรรเทาความรุนแรงให้เหมือนเป็นเรื่องล้อเล่น แต่ก็เห็นจริงตาม สามารถทลายกำแพงความเชื่อบางอย่างได้ ซึ่งการเสียดสีไม่เพียงแค่ทิ้งอารมณ์เคืองให้ค้างคาใจ หรือติเตียนทางอ้อมเฉยๆ เท่านั้น นักเสียดสีที่ฉลาดยังสามารถซ่อนข้อเสนอแนะที่น่าจะเป็นไว้ได้ด้วย หากมองผ่านโลกโซเชียลซึ่งสายตาของคนเราไปจับจ้องมากที่สุดตอนนี้ ก็มีเพจเสียดสีเกิดขึ้นมากมาย ทั้งนำเสนอด้วยคำคม ภาพ และการ์ตูน นี่คือกระจกสะท้อนสภาพสังคมที่พวกเรากำลังหาทางออกในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้