โค้ช “จิตอาสา” พลังบวกพลิกสังคม  

โค้ช “จิตอาสา” พลังบวกพลิกสังคม  

การโค้ชช่วยพลิกชีวิตผู้คนให้เดินหน้าสู่เป้าหมาย เหมือนกระจกสะท้อนคุณค่าให้คนมีศรัทธาในชีวิต ปลดล็อกปัญหาคน สังคม และประเทศชาติ

โค้ชเพื่อประเทศไทยจึงรวมโค้ชจิตอาสาไปโค้ชตัวต่อตัวให้นักเรียน ครู ทหาร และนักโทษ รวมถึงตำรวจพยาบาล เหล่าอาชีพที่เสียสละ ได้เห็นคุณค่าในตนใช้ชีวิตอย่างสมดุล สร้างความเปี่ยมสุข นำความปรองดองสู่สังคมไทย

งานประชุมโค้ชระดับโลกที่จัดขึ้นครั้งแรกในประทเศไทย “APAC 2017 Coaching Conference” ดึงบรรดาโค้ชกว่า300คน และผู้ที่สนใจพัฒนาชีวิตตัวเอง องค์กร ร่วมฟัง กว่า 800 คน โดยมีหนึ่งในโค้ชระดับโลกมาร่วมเสวนาอย่าง ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ ผู้มีค่าตัวในการค่าโค้ชแต่ละครั้งที่ 4 แสนดอลลาร์ (ราว 13-14 ล้านบาท)  รวมถึง "พจนารถ ซีบังเกิด" หรือ โค้ชจิมมี่ ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท จิมมี่ เดอะ โค้ช (Jimi The Coach Group) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการ APAC 2017 Coaching Conference คนไทยหนึ่งเดียวที่ร่วมเป็นกรรมการในกลุ่มพันธมิตรแห่งเอเชียแปซิฟิก เพื่อเผยแพร่ทักษะการโค้ชให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และสังคม 

โค้ชจิมมี่ เล่าว่า การพัฒนาศักยภาพตัวเอง ด้วยการโค้ชนั้นเป็นการพาผู้คนก้าวไปข้างหน้า ด้วยการ ปลดล็อก ปมปัญหาบางอย่างในชีวิตของคนๆนั้น

อย่างไรก็ตาม ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การโค้ชในองค์กรให้กับผู้บริหาร หรือ ซีอีโอบริษัท เป็นเรื่องที่ต้องปิดบัง เช่นเดียวกันกับในสหรัฐอเมริกา ที่การโค้ชเกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ทว่าในปัจจุบัน ผู้ถูกโค้ชพร้อมที่จะเปิดเผยตัวเอง บอกเล่าถึง เคล็ดลับ กุญแจความสำเร็จ ปลุกพลังจากการโค้ชมากขึ้น

จิมมี่ เล่าว่า หลังก่อตั้งบริษัทโค้ชมาเป็นระยะเวลา 9 ปี โค้ชซีอีโอองค์กรใหญ่ๆในประเทศหลากหลายองค์กร จึงต้องการนำทักษะการโค้ชมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรากฐานของสังคมไทย เริ่มต้นจากความต้องการเห็นคนที่ถูกโค้ช มองเห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมส่งต่อคุณค่าดีๆนั้นคืนหลับให้คนรอบข้าง สังคม และประเทศ

กลายเป็นที่มาของโครงการ โค้ชเพื่อประเทศไทย (Coaching For Thailand) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมพันธมิตรโค้ชในงานประชุมดังกล่าว ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค.ที่ผ่านมา ระดมโค้ชแถวหน้าของเมืองไทยกว่า 30 คน มาโค้ชโดยมีเป้าหมายนำ “องค์ความรู้” ไปปรับใช้กับตัวเอง และองค์กรธุรกิจ สร้างทีมเวิร์คการทำงานร่วมกันด้วยคุณค่าต่อตนเอง และผู้อื่นได้อย่างราบรื่น มีสุข แม้พื้นฐานชีวิตและภูมิหลังของมนุษย์แต่ละคน รวมถึงเป้าหมายในชีวิตจะแตกต่างกัน

นอกจากนี้ ยังโค้ชให้คนทั่วไป ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทักษะการโค้ช ได้มีโอกาสโค้ชตัวต่อตัวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ทักษะการโค้ชทำให้มนุษย์ก้าวไปข้างหน้าไม่ติดกับปัญหา ซึ่งเราใช้การโค้ชเป็นอาชีพทำมาหากิน ช่วยนักธุรกิจ ผู้จัดการ แต่ทักษะเดียวกัน ยังส่งต่อคุณค่าให้กับผู้ที่เป็นกำลังหลักของสังคม เป็นอาชีพที่เสียสละ อย่าง ทหาร นักโทษ ครู หมอและพยาม รวมถึงเด็กนักเรียนวัยรุ่น คนเหล่านี้อาจไม่รู้จักและไม่มีโอกาสที่จะถูกโค้ช

เพราะความท้าทายเมื่อครั้งตั้งสถาบันการโค้ชคือความต้องการขยาย “ทักษะการโค้ช” ไปสู่คนไทย 67 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นเหมือนการถอด“รหัสลับ”ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมเปี่ยมสุข

เป้าหมายแรกของการเข้าไปโค้ช เน้นกลุ่มวัยรุ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณค่าเข้าใจชีวิต และผู้อื่น สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้สังคม รวมถึงอาชีพผู้ทำงานเสียสละ อย่าง ทหาร ตำรวจ ครู หมอ และพยาบาล ผู้ทำงานหนัก ซึ่งจะเป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ที่ดีขึ้น

กรณีเด็กวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาปลายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงรอยต่อชีวิตที่จะก้าวเป็นผู้ใหญ่ บางส่วนยังไร้เป้าหมาย มองตัวเองด้อยค่ามองตัวเองเป็นคนชายขอบ ขาดทางเลือกในการใช้ชีวิต การศึกษาแข่งกับใครไม่ได้ ไม่ยอมรับตัวเอง ออกจากโรงเรียนกลางครัน หนีเรียน หรือเด็กบางคนหันไปพึ่งยาเสพติดและเป็นเครื่องมือของขบวนการก่อร้าย การโค้ชตัวต่อตัว ช่วยเปลี่ยนทัศนคติเด็กกว่า 100 คน ให้มองมุมใหม่มีเป้าหมายชีวิต เห็นทางเลือกมากมาย เมื่อเด็กวางเป้าหมายชีวิตได้ เส้นทางต่อไปก็ง่ายที่จะออกแบบชีวิตตัวเองให้ไปสร้างคุณค่าในเส้นทางที่ตัวเองเลือก

เช่นเดียวกันกับอาชีพที่ต้องเสียสละกับสังคมอย่าง หมอ พยายาล ครู ตำรวจและทหาร หลังบ้านที่คอยตรวจตรา สร้างคน บำบัดทุกข์ให้กับประชาชน ในระหว่างที่คนอื่นมีโอกาสหยุดพักผ่อนกลับเป็นวันทำงานของพวกเขาเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับการเข้าไปโค้ชให้กับทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ต้องไปทำหน้าที่ชนกับม็อบธรรมกาย เป็นต้น

หรือแม้กระทั่งครู อาชีพสร้างคนให้กับสังคม แต่หากครูเป็นทุกข์เพราะสอนด้วยความจำเจ เบื่อหน่ายกับปัญหาชีวิต ก็ไม่สามารถส่งต่อความรู้ ไปสู่เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติได้ การไปช่วยให้ครูมีทัศนคติที่เห็นคุณค่าอยากสอน อยากสร้างคนด้วยทักษะการโค้ช จึงเป็นเป้าหมายต่อไปที่ให้ทักษะการโค้ชไปบรรจุในวิชาการเรียนการสอน เป็นฐานสำคัญให้เด็กรักการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง

การโค้ชทำให้รู้จักการใช้ชีวิตควบคู่กับดูแลประเทศ เพราะเป็นอาชีพเสียสละที่พวกเขาเลือกแล้ว ทำให้เขามีความสุขชื่นชมตัวเองในความเสียสละ รักอาชีพ เห็นคุณค่าในตัวเองและบริการจัดการชีวิตครอบครัวได้อย่างสมดุล

อีกตัวอย่างของการโค้ชคือ การเปลี่ยนมุมมืดของเหล่าบรรดานักโทษผู้ต้องขังสตรี ที่เลือกในเรือนจำจังหวัดตาก 20 คน เป็นความท้าทายเพราะค่อนข้างมีทัศนคติติดลบต่อตัวเอง จากความผิดพลาดจากในอดีต จนกลัวว่าสังคมมองไม่ดีเคยผ่านคุก การโค้ชต้องเติมพลังใจให้มองเห็นแง่งามคุณค่าของชีวิตเพื่อก้าวสู่ชีวิตใหม่ที่มีทางเลือกใหม่เสมอ

“การโค้ชนั้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเนื้อแท้เป็นคนดี แต่มีปัจจัยและสภาพแวดล้อมมาเปลี่ยนให้เค้าต้องทำเช่นนั้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นทักษะการโค้ชจึงไปปลุกพลังว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต ให้ใช้ชีวิตที่เหลือให้เต็มไปด้วยความหมายและคุณค่าต่อตนเอง และครอบครัว จึงพร้อมก้าวออกไปเริ่มต้นใหม่ด้วยทักษะอาชีพที่ฝึกจากห้องขัง และไมด์เซ็ทด้านบวก”

นั่นเป็นทักษะไลฟ์โค้ช หรือ โค้ชชีวิตที่รู้จักการใช้ชีวิตแล้ว ปลุกพลังบวกนำร่องให้คนแต่ละสาขาอาชีพได้เห็นคุณค่าตัวเองและเป็นพลังดีงามขับเคลือนสังคมที่เปี่ยมสุขอย่างยั่งยืน

การโค้ชทำให้เราใช้ชีวิตดำรงตนด้วยสติ ที่จะนำไปสู่ความสันติสุข ความเป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศและโลกได้ โดยเริ่มต้นจากตัวเรา ไม่ขัดแย้งภายใน นักธุรกิจและโลกการทำงานก็ไม่ใช่เพียงมุ่งเอาชนะ แต่เกื้อกูลกัน เป็นพันธมิตรกันได้ และทำให้เกิดการปรองดองได้ ไม่แยกสี แยกกลุ่ม แต่เข้าใจความแตกต่างของคนแต่ละกลุ่ม รักธรรมชาติ ไม่ทำลายล้างกัน เพราะมองว่าเราเป็นเพียงเซลล์เล็กๆ หนึ่งในสังคม และทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

“การโค้ชทำให้เห็นเป้าหมายใหม่ที่ชนะ แต่ร่วมมือกันไม่เอาชนะแข่งขันกันแต่เข้าใจตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ปล่อยให้ใครมาซื้อจิตวิญญาณ อยู่ร่วมกันบนความแตกต่างกันไม่แยกกลุ่ม แยกเพศ แยกเชื้อชาติ และศาสนา” 

ด้าน มาร์แชล โกลด์สมิธ โค้ชและวิทยากรชื่อดังระดับโลก นับถือศาสนาพุทธ ผู้มีประสบการณ์การโค้ชกว่า 40 ปี ให้กับซีอีโอชื่อดังทั่วโลก มองถึงทักษะการโค้ชเพื่อสร้างโลกสันติทำได้จริง หากทุกคนมีทักษะการโค้ช ก็จะเข้าใจกัน พร้อมเปลี่ยนแปลงและยอมรับตัวเอง และผู้อื่น

บนโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง และยากที่จะหาจุดสมดุล (Balance) การโค้ชเพื่อใช้ชีวิตด้วยวิถีพุทธ ให้มีสติกลมกลืนกับสิ่งรอบตัวทำให้ผู้บริหารและผู้นำ รวมถึงคนอื่นๆ ตัดสินใจบนความเปลี่ยนแปลงได้ถูกต้องแม้จะมีสิ่งพลาดในอดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่สามารถร่วมกันเปลี่ยนอนาคตของโลกใบนี้ได้

ค่าตัวของมาร์แชล 4 แสนดอลลาร์ต่อคอร์ส ส่วนใหญ่โค้ชให้กับซีอีโอ ซึ่งเพียงเขาคนเดียวก็โค้ชได้เพียงปีละ 5-6 คน

สิ่งที่ต้องต้องการทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นคือการสร้างโค้ชอย่างเขาขึ้นอีกหลายร้อยคน จึงมีโครงการสร้างโค้ชโดยให้คนสมัครเข้าไปทางเว็บไซต์ ปรากฎว่า มีคนสมัครเข้ามากว่า 2 หมื่นคน โดยเขาคัดเลือกให้เหลือ 100 คนเข้ามาเรียนหลักสูตรการโค้ชที่เขาออกแบบไว้ฟรีๆ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องให้ผู้ที่เข้ามาเรียนกลับไปสอนทักษะนี้ต่อไปอีกคนละ 100 คน นั่นเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ทักษะการโค้ชถูกส่งต่อไป

มาร์แชล เล่าเป้าหมายโครงการนี้เป็นการปลุกพลังใหม่ในตัวเขา เพราะในช่วงชีวิตของการเข้าสู่คนสูงวัย ซึ่งต้องยอมรับว่า บางครั้งเขาเริ่มหมดไฟ และพลังในการทำงานกับการทำแบบเดิม แต่การคืนองค์ความรู้ที่เขามีสู่สังคมนั่นทำให้เขาได้เห็นพลังคนหนุ่ม ในการส่งต่อสิ่งที่ดีงามออกไปสู่สังคม เป็นเชื้อเพลิงแห่งพลังชีวิตและไฟในการโค้ชให้ลุกโชนต่อไป

ที่สำคัญผลลัพธ์ที่เพิ่มเข้ามาเขายังได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ที่มีสีสันชีวิตที่หลากหลายแตกต่างกัน