ห่วง ‘บิทคอยน์’ ผันผวนแรง

ห่วง ‘บิทคอยน์’ ผันผวนแรง

ห่วง "บิทคอยน์" ผันผวนแรง นายแบงก์มองยังไกลไปสำหรับไทย นักวิเคราะห์ ชี้ไม่เหมาะถือลงทุน เหตุไม่มีค่าในตัวเอง 

นายแบงก์ มองสกุลเงิน “บิทคอยน์” ยังไกลไปสำหรับไทย ห่วงราคาผันผวนแรง ขณะ นักวิเคราะห์ ชี้ไม่เหมาะถือลงทุนเหตุไม่มีค่าในตัวเอง แต่น่าจะใช้เป็นสื่อกลางเพื่อค้าขายได้ หากราคาไม่ผันผวนเกินไป ชี้ถือเป็นความท้าทายของ ธปท. ที่จะพิจารณาให้ถูกกฎหมายหรือไม่

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การนำสกุลเงินดิจิทัลอย่าง บิทคอยน์ มาใช้ ดูยังเป็นเรื่องที่ไกลไปสำหรับประเทศไทย เพราะยังไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยส่วนตัวมองว่าการใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลายได้ จะต้องเป็นสกุลเงินที่มีขนาดของการทำธุรกรรมที่ใหญ่ หรือมีเพียงสกุลเดียว ซึ่งตอนนี้ยังมีหลายสกุลอยู่

นอกจากนี้การจะใช้อย่างแพร่หลาย จะต้องมีการสร้างความมั่นใจในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องความปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันการใช้สกุลเงินดิจิทัลมีเรื่องการเก็งกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง มีโอกาสที่มูลค่าของเงินนั้นจะเพิ่มขึ้น และลดลงเป็นศูนย์ได้ การเข้าไปตอนนี้ก็เป็นความเสี่ยง”

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร กล่าวว่า การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้สกุลเงินอย่าง บิทคอยน์ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ถือเป็นความท้าทายของธนาคารกลางที่กำกับดูแลเรื่องเหล่านี้ เพราะหน้าที่ของธนาคารกลาง คือ การดูแลปกป้องผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะบาลานซ์ในเรื่องเหล่านี้

“อันนี้ถือเป็นความท้าทายว่าจะบาลานซ์ยังไงระหว่างบทบาทการพัฒนาตลาด กำกับดูแลผู้บริโภค ซึ่งการกำกับดูแลก็ต้องดูว่า กำกับดูแลเพื่ออะไร ส่วนใหญ่ก็จะดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ไปหยุดการพัฒนาต่างๆ ด้วย หากบอกว่า บิทคอยน์ ไม่อนุญาตให้ใช้ แล้วเกิดคนต้องการใช้เพื่อการค้าขายจริงๆ จะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ”

อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตัวบิทคอยน์เองมีความน่าสนใจอยู่ และสุดท้ายคงไม่สามารถหนีประเด็นเหล่านี้ได้ เพราะตัวบิทคอยน์เองก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่มีเรื่องที่น่าห่วงอยู่บ้าง ตรงที่สกุลเงินบิทคอยน์แกว่งตัวแรง

“บิทคอยน์ อาจจะโอเคในแง่การเป็นธุรกรรมในการซื้อขายผ่านออนไลน์ แต่ไม่เหมาะที่จะถือเพื่อการลงทุน เพราะตัวบิทคอยน์ไม่ได้มีมูลค่าในตัวเองและไม่มีอะไรมาหนุนหลังเหมือนธนบัตร และระยะหลังบิทคอยน์เหมือนจะถูกใช้เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าที่จะใช้เพื่อการค้าขาย ซึ่งทำให้ แบงก์ชาติ มีความกังวลในเรื่องนี้”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานกลางใดที่กำกับดูแลการซื้อขาย การควบคุมจึงทำได้ลำบาก ดังนั้นคนที่จะใช้สกุลเงินดังกล่าวต้องมีความเข้าใจจริงๆ ต้องรู้ว่าสกุลเงินนี้มีความผันผวนสูงมาก ซึ่งความผันผวนที่สูงตรงนี้ ก็อาจทำให้ความน่าสนใจในตัวบิทคอยน์ถูกลดทอนลงไป

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานทางการจะเข้ามาควบคุมดูแลธุรกรรม บิทคอยน์ เพราะในทางปฏิบัติมีคนใช้งานอยู่แล้ว เมื่อมีคนใช้งานจริงทางการก็ควรเข้ามาควบคุมดูแล ไม่เช่นนั้นธุรกรรมเหล่านี้จะหลุดออกจากวงโคจร คือ มีการใช้งานโดยไม่ถูกควบคุม

ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการศึกษาเรื่องบิทคอยท์เลย แต่ก็เห็นว่าในต่างประเทศมีการใช้งาน เพราะอาจจะทำให้มีความสะดวกสบาย เหมือนเป็นหนึ่งในสกุลเงิน 

อย่างไรก็ตามสกุลเงินนี้กลุ่มที่ทำธุรกิจสีเทา ใช้กันเยอะ เพราะติดตามไม่ได้ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยง เรื่องนี้เชื่อว่าก่อนจะนำมาใช้ในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ซึ่งค่อนข้าง อนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว อาจจะต้องมีมารตรการออกมาป้องกัน