เจาะเลือดตรวจดีเอ็นเอ ป้องกันนำช้างป่าสวมสิทธิ์ที่ตรัง

เจาะเลือดตรวจดีเอ็นเอ ป้องกันนำช้างป่าสวมสิทธิ์ที่ตรัง

เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสุขภาพช้าง และเก็บตัวอย่างเลือด นำไปวิเคราะห์หาพันธุกรรม DNA ป้องกันการนำช้างป่ามาสวมทะเบียนเป็นช้างบ้าน

19 มิถุนายน 2560 บริเวณลานบ้าน นายสุชาติ บัวเกิด หมู่ที่ 3 ตำบลบางกุ้ง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ทีมงานสัตว์แพทย์จากสถาบันช้าง กรมปศุสัตว์ จ.สุรินทร์ และที่ทีมสัตว์แพทย์จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และทีมสัตว์แพทย์จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพช้างประจำ เพื่อตรวจสอบหาช้างที่เจ็บป่วย สำรวจจำนวนประชากรช้าง และร่วมเก็บตัวอย่างเลือดของช้างบ้าน จำนวนกว่า 10 เชือก จากทั้งจังหวัดที่ทำงานอยู่ในพื้นที่กว่า 70 เชือก ซึ่งที่เหลือก็จะลงพื้นที่ไปตามอำเภอต่างๆให้ครบทั้ง 10 อำเภอ

โดยกำหนดให้เจ้าของช้าง นำช้าง ตั๋วแสดงรูปพรรณช้าง ตรวจสอบไมโครชิพ พร้อมหลักฐานอื่นๆมาแสดง และทำการเจาะเลือดเ พื่อนำไปตรวจสอบวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม ( DNA ) ว่าตรงกับฐานข้อมูลที่กรมปศุสัตว์มีอยู่หรือไม่ ป้องกันการนำช้างป่ามาสวมทะเบียนเป็นช้างบ้าน รวมทั้งป้องกันการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมาย และป้องกันปัญหาช้างตกมัน ในช่วงฤดูกาลเปลี่ยนผ่านเข้าสู่หน้าฝน ทำให้ช้างมีแหล่งน้ำและอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการตกมันได้ ซึ่งช้างส่วนใหญ่ในจังหวัดตรัง เป็นช้างที่มีไว้เพื่อการทำงานชักลากไม้ ซึ่งพบว่าเจ้าของช้างบางรายมีตัวเลขไมโครชิพไม่ตรงกับเอกสาร ทีมสัตวแพทย์จึงแนะนำให้รีบไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้อง และปีนี้ช้างส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ค่อยมีโรค มีบาดแผลจากการทำงานตามผิวหนัง และเป็นพยาธิผิวหนังบ้าง ทีมสัตวแพทย์ได้ฉีดยาบำรุงและยาถ่ายพยาธิให้พร้อมยากิน และยาทาผิวหนัง

ด้านสัตวแพทย์หญิง ภัทร เชื้อพลายเวช ผอ.สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า โครงการตรวจสุขภาพช้างจัดขึ้นต่อเนื่องทุกปีในภาคใต้ครอบคลุม 11 จังหวัด ปีนี้กำหนดตรวจสุขภาพช้างวันที่ 17-19 มิ.ย.2560 แบ่งการทำงานเป็น 2 ทีม คือกรมปศุสัตว์ สถาบันช้างจ.สุรินทร์ และ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมกันออกหน่วยตรวจสุขภาพ และตรวจไมโครชิพช้าง ดูการเคลื่อนย้ายช้าง ซึ่งภาพรวมในจ.ตรัง จากการตรวจสุขภาพช้างไปแล้วประมาณ 53 เชือก พบว่ามีสุขภาพแข็งแรงดี มีความสมบูรณ์ของช้าง ปัญหาสุขภาพที่เจอคือ มีบาดแผลจากการทำงาน มีพยาธิภายนอก บริเวณผิวหนัง ส่วนพยาธิภายในได้ให้ยาถ่ายไว้กับควาญช้าง ซึ่งปีนี้ถือว่าไม่มีปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เชื่อว่าเป็นผลจากที่เจ้าของและควาญช้าง ใส่ใจสุขภาพช้างมากขึ้น

สำหรับจังหวัดตรังมีช้างประมาณ 100 เชือก ทำงานชักลากไม้ยางพาราในพื้นที่ 70 กว่าเชือก ที่เหลือไปทำงานทัวร์และชักลากไม้ยางพาราในจังหวัดใกล้เคียง