บจ.รุกโรงไฟฟ้า ‘ชีวมวล’ ลดเสี่ยง

บจ.รุกโรงไฟฟ้า ‘ชีวมวล’ ลดเสี่ยง

บจ.รุก "โรงไฟฟ้าชีวมวล" ลดเสี่ยง 3 บริษัทจับมือร่วมทุนลุยโรงไฟฟ้าในเมียนมา หวังสร้างรายได้เติบโตมั่นคง-ต่อยอดธุรกิจอื่น

3บริษัทจับมือ ร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในเมียนมา กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ไตรมาส 1 ปีหน้า หวังกระจายความเสี่ยงพึ่งพารายได้ทางเดียว และช่วยต่อยอดธุรกิจในอนาคต 

นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) VTE กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) มีบริษัทจดทะเบียนจากประเทศไทยเข้าร่วมถือหุ้นด้วยกัน  3 บริษัท คือ บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-Power) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ถือหุ้น 20% บริษัท คิวทีซีโกลบอลพาวเวอร์ จํากัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี (QTC) ถือหุ้น 15% และบริษัท วินเทจ วิศวกรรม ถือหุ้น 12% สำหรับผู้ถือหุ้นที่เหลือคือ Noble Planet Pte. Ltd.(สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 5 และ Planet Energy Holdings Pte. Ltd. (สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 48

ทั้งนี้ GEP มีบริษัทย่อย 1 แห่ง ถือหุ้น 100% คือ บริษัท จีอีพี (เมียนมาร์) จำกัด (GEP-Myanmar) เป็นบริษัทสัญชาติเมียนมา ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement :PPA) กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ Ministry of Electricity and Energy ของเมียนมา โดย EPGE จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 220 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดที่ 170 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD)ในอัตราการรับซื้อไฟฟ้าคงที่ ที่ 0.1275 ดอลลาร์ต่อหน่วยไฟฟ้า ตลอดอายุสัญญาของ PPA

โดยโครงการผลิตไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 4 เฟส รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น220 เมกะวัตต์ อัตราการรับซื้อสูงสุด 170 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่ม COD ได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

“สำหรับวินเทจ วิศวกรรม นอกจากการเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 12% แล้ว ยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาโครงการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 292.62 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10,080.76 ล้านบาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 34.45 บาท ต่อดอลลาร์) ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจของ VTE ทั้งส่วนที่เป็นงานรับเหมาก่อสร้างและพลังงานทดแทนให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตได้มากกว่าเดิม"

ทั้งนี้ ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนที่เมียนมาจะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น คือนอกเหนือจากสามารถขยายธุรกิจเพื่อให้การเติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของรายได้อีกด้วย เพราะจะมีรายได้แบบต่อเนื่อง (Recurring income) จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทโดยการลงทุนในธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรที่มั่นคง

 ขณะเดียวกัน บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) และ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เปิดเผยว่า บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ทั้งสองบริษัทถือหุ้นฝ่ายละ 33.37% ร่วมกับพันธมิตรอีกราย จะเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 2 เมกะวัตต์ (MW) ใน จ.แพร่ และธุรกิจโรงสับไม้ใน จ.นราธิวาส รวมมูลค่าราว 145 ล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าลงทุนของทั้ง ECF และ FPI ตามสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายละ 50.62 ล้านบาท

โดย ECF และ FPI แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวรวม 2 โครงการ โดยเป็นการลงทุนผ่าน SAFE ที่จะเป็นผู้เข้าลงทุน โดยการเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท เซฟ ไบโอแม็ส จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงสับไม้ ใน อ.แว้ง จ.นราธิวาส มูลค่าลงทุนฝ่ายละ 33.37 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน SAFE ซึ่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดภายในบริษัท หรือการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2560