‘ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป’ ชูวิศวกรรมการเงิน ขยายธุรกิจสู่อาเซียน 

‘ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป’ ชูวิศวกรรมการเงิน ขยายธุรกิจสู่อาเซียน 

"ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป" ชูวิศวกรรมการเงิน ขยายธุรกิจสู่อาเซียน 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นแหล่งที่ช่วยสร้างการเติบโตของภาคเอกชนได้อย่างมหาศาลหากสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินได้ถูกต้องและถูกจังหวะ โดยในตัวอย่างของ ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ผู้ให้บริการด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านโลจิสติกส์ ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2555 ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 6.4 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันมีสินทรัพย์กว่า 1 แสนล้านบาท

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า เครื่องมือทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัท แต่ต้องใช้ให้ถูกเวลา และมีความเชี่ยวชาญในเครื่องมือนั้น และยอมรับว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มใช้เครื่องมือทางการเงินค่อนข้างมาก

ในการทำธุรกิจ สิ่งที่เรามอง คือรูปแบบของธุรกิจก่อน ต้องจับกลุ่มธุรกิจเติบโตในอนาคต และสิ่งที่จะเข้ามาหนุนให้เติบโตได้ดี คือต้องมีวิศวกรรมทางการเงินเข้าช่วย หากเราทำได้ ธุรกิจจะติดปีกบินทันที แต่ถ้าไม่แข็งแกร่งและไม่เชี่ยวชาญพอ จะเกิดปัญหาฟองสบู่ “จึงเป็นเรื่องท้าทายที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินเหมาะสมและถูกเวลา”

ที่ผ่านมา บริษัทใช้เครื่องมือการเงินมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ เพราะส่วนตัวชื่นชอบเรื่องการเงินอยู่แล้ว โดยเราเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการเข้าลงทุนคลังสินค้าและเข้าซื้อค่อนข้างเยอะมาก แต่เห็นจุดอ่อนว่าการทำโครงการต้องใช้เวลานานในการเก็บเงินค่าเช่าเพื่อลงทุนใหม่ จึงเห็นโอกาสของกองทุนอสังหาริมทรัพย์จึงนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ขายเข้ากองทุน หลังจากนั้นนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน

รวมถึงจัดทำอันดับเครดิตเรตติ้ง เพื่อ ออกหุ้นกู้ และ ตั๋วบีอี รวมถึงการปันผลเป็นหุ้น เพื่อรักษากระแสเงินสดในตลาด ต่อมา เราเห็นโอกาสการเติบโตที่ก้าวกระโดด ในการเข้าซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ใช้เงินลงทุนกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทเพิ่มทุนเพียง 25% เท่านั้น และสามารถชำระคืนเงินกู้ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท หมดภายใน 2 ปี เป็นการใช้หนี้ก่อนกำหนด และหลังจากนั้นก็ขายสินทรัพย์ที่ไม่เป็นธุรกิจหลักออกไป เพื่อไม่ต้องแบกภาระหนี้ ทำให้หนี้สินต่อทุนเหลือ 1.3 เท่า

ผลของการใช้วิศวกรรมทางการเงิน ทำให้การเติบโตของบริษัทเพิ่มขึ้นจากที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ในช่วงเข้าไอพีโอที่ 6.4 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเรามีทรัพย์สินกว่าแสนล้าน ซึ่งเป้าหมายหลังจากนี้ บริษัทจะใช้เครื่องมือทางการเงินต่อเนื่อง ทั้งการเข้าซื้อกิจการ และการควบรวมกิจการก็เป็นสิ่งที่เราดูอยู่ อะไรน่าสนใจก็จะซื้อและทำให้โตขึ้น โดยสนใจอยู่ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท โดยโฟกัสพลังงานและดิจิทัล

ทั้งนี้ ธุรกิจของดับบลิวเอชเอกรุ๊ป ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม พลังงาน และการบริหารจัดการน้ำ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีบริษัทลูก 50 บริษัท ลงทุนใน 3 ประเทศ ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และลาว ใน 5 ปีแรกเน้นในอาเซียนก่อน โดยในการบริหารงานนั้นใช้รูปแบบกรุ๊ปซีอีโอซึ่งจะมีกลุ่มที่คอยกำหนดกลยุทธ์อยู่ด้านบน ทำให้การทำงานสะดวกในการขับเคลื่อนธุรกิจ

ในธุรกิจดั้งเดิมคือ การสร้างศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานระดับโลก จะยังเน้นรูปแบบบิวท์ ทู สูท ตามความต้องการของลูกค้า จะเซ็นสัญญาระยะยาว 10-20 ปี ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ ในอนาคตจะสดใสมาก ซึ่งประเทศมีการค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซค่อนข้างมาก และมีการแข่งขันสูง บริษัทจะนำเอาดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยอยู่ระหว่างการออกแบบให้เหมาะสมกับบริษัท

ส่วนบริษัทลูกอย่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ยังมีการเติบโตที่ดี โดยมีใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า 540 เมกะวัตต์ และจะมีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ส่วนการให้บริการจำหน่ายน้ำในนิคมแต่ละปีมีรายได้ 2-3 พันล้านบาท ซึ่งการให้บริการในนิคมอุตสาหกรรมในอนาคตจะใช้กลุ่มดิจิทัล เข้ามาช่วยขับเคลื่อนมากขึ้น ทั้งดาต้าเซ็นเตอร์และไฟเบอร์ออพติก ให้บริการทั้งภายในและภายนอกนิคม ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีการให้บริการลูกค้าในตลาดหลักทรัพย์ทางด้านดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น และในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือในปี 2562 หากมีการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายจะผลักดันให้เข้าจดทะเบียน

เป้าหมาย 2563 บริษัทจะต้องเป็นเป้าหมายผู้นำในทุกกลุ่ม ต้องมีพื้นที่เช่า 3.3 ล้านตารางเมตร ซึ่งในประเทศ บริษัทได้ขายพื้นที่นิคมขายที่ไปแล้ว 3 หมื่นไร่ และเหลือเนื้อที่กว่า 1 หมื่นไร่ที่พร้อมพัฒนา ส่วนโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต คือแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะเห็นว่า รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ทั้งทางบกทางอากาศและทางน้ำ จะเชื่อมต่อกับการขนส่งสินค้าทั้งหมดการปรับปรุงระบบการขนส่ง อย่างรถไฟทางคู่ หากทำได้เต็มรูปแบบจะช่วยให้ลดต้นทุนด้านการขนส่งของไทยและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 มีผู้ที่เข้ามาคุยและสนใจด้านอีอีซีค่อนข้างมาก และน่าจะเป็นโอกาสในอนาคต

ทั้งนี้เป้าหมายของบริษัทในการขยายธุรกิจต่างประเทศภายใน 2563 ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้อยู่ที่ระดับ 5-10% ของทั้งหมดแผนจะต้องเข้าลงทุนให้ครอบคลุมในกลุ่มซีแอลเอ็มวี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

กลยุทธ์เลือกลงทุน จะดูประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตและเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่รับได้ ตัวอย่างในอินโดนีเซีย จุดเด่นคือภูมิประเทศเป็นเกาะ มีอัตราการขนส่งต่อจีดีพีในระดับสูงมากถึง 22% เราจึงเลือกลงทุนโดยเกาะกลุ่มลูกค้าเข้าไป ซึ่งการเข้าไปนั้นจะเลือกเข้าลงทุนส่วนในเวียดนามใช้นิคมอุตสาหกรรมเป็นหัวหอก และจะนำธุรกิจด้านพลังงานตามไปในอนาคต ส่วนประเทศที่จะเข้าลงทุนในระยะถัดไป ให้ความสนใจมาเลเซียกับพม่า ซึ่งการไปต่างประเทศจะใช้พันธมิตรในต่างประเทศเข้าไปช่วยลงทุน

โค้ด: เรื่องท้าทายที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินเหมาะสมและถูกเวลา