เซียน..! ส่องหุ้นครึ่งปีหลัง แนะสูตรรอด“ช้า แต่ ชัวร์”

เซียน..! ส่องหุ้นครึ่งปีหลัง แนะสูตรรอด“ช้า แต่ ชัวร์”

เปิดคำพยากรณ์หุ้นไทย “6 เดือนหลัง” 4 กูรู ตั้งโต๊ะวิเคราะห์ ธีมลงทุนช่วงตลาดไร้สตอรี่ ลดจังหวะลงทุนสู่โหมด “ช้า” ขอทำรีเทิร์นแบบ “ชัวร์” เหตุยังไม่มีปัจจัยบวกเปลี่ยนทิศทางขยับดัชนี SET Index

ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวโดดเด่น แม้ต้นปี ทริส เรทติ้ง ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3-3.85% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวอยู่ประมาณ 3% 

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์” ออกมาประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3-4% จากแรงส่งของภาคการส่งออก ที่เชื่อว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ทว่า ปฏิกิริยาตลาดหุ้นไทยกลับไม่ตอบรับ เห็นได้จาก SET INDEX ที่อยู่ในอาการ ย่ำอยู่กับที่ ไม่ไปไหน !! 

โดยดัชนีเปิดตลาดเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2560 อยู่ที่ 1,563 จุด จาก ปลายปี 2559 ที่ดัชนีปิดตลาด 1,542 จุด

โดยปีนี้ดัชนีขยับขึ้น จุดสูงสุด 1,591 จุด (ตัวเลขเมื่อวันที่ 26 ม.ค.60) และปรับตัวลดลงแรง จุดต่ำสุด 1,535.51 จุด (ตัวเลข ณ วันที่ 13 มี.ค.60) และยังไม่สามารถผ่าน จุดสูงสุดเดิมที่เคยทำได้เมื่อเดือนพ.ค.2557 ในระดับ 1,643 จุด

ประกอบกับ แรงกดดัน จากปัจจัยลบต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการเมือง และเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา การกำหนดนโยบายทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มยูโรโซน อาทิ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) การปรับลดขนาดสินทรัพย์ในงบดุลของเฟด และเศรษฐกิจในยูโรโซน ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกยังปั่นป่วน ซึ่งปัจจัยกระทบทั้งในและนอกประเทศอาจจะเป็นตัวกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ นักลงทุนตกอยู่ในอาการ ลดสถานะการลงทุนครึ่งปีหลังเพื่อชะลอรอดูปัจจัยบวกใหม่ๆ รวมทั้งเมื่อปี 2559 ดัชนี SET Index ขยับถึง 19.79% และครองแชมป์ ผลตอบแทน สูงสุดในอาเซียน ดังนั้น ปีนี้อาจจะลดความร้อนแรงลงบ้าง

สอดคล้องกับทิศทาง ผลตอบแทน ครึ่งแรกปี 2560 ไม่โดดเด่น โดยย้อนหลัง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) พบว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย อยู่ที่1.4%” ถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่น ซึ่งตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี รีเทิร์น อยู่ที่ 2% และในเอเชียปรับขึ้นไปทำ All Time High เช่น ตลาดอินเดียที่ 14% ฟิลิปปินส์ 14% และอินโดนีเซียที่ 9% และหากเปรียบเทียบในประเทศกลุ่ม TIP (ไทย ,อินโดนีเซีย ,ฟิลิปินส์) ตลาดหุ้นไทยมี P/E ต่ำที่สุดในกลุ่มที่ 15 เท่า ขณะที่อินโดนีเซียอยู่ที่ 16 เท่า และ ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 18 เท่า

ฉะนั้น เมื่อตลาดหุ้นไทยยังต้องเผชิญกับภาวะกดดัน ครึ่งปีหลังจะมีปัจจัยใดมาผลักดัน SET Index ขยับได้หรือไหม “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” มีทัศนะจากเหล่า กูรูตลาดหุ้น  

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในฐานะผู้เผยแพร่แนวความคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกของประเทศไทย ยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง 2560 มีลักษณะ ไซด์เวย์ เพราะยังไม่มีปัจจัย บวกใหม่ หรือ เหตุการณ์ที่จะมาทำให้ตลาดหุ้นเปลี่ยนทิศทางได้ ฉะนั้น บรรยากาศการลงทุนคงคล้ายๆ ตลาดครึ่งปีแรก

ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรกไซด์เวย์ และถือว่าตลาดหุ้นลดความผันผวน หรือ ผันผวนน้อยมาก เนื่องจากนักลงทุนมีการเก็งกำไรลดลง ซึ่งลักษณะตลาดหุ้นแบบนี้ไม่ใช้คุณสมบัติของตลาดหุ้นไทย

ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างนิ่งไปทางค่อนข้างต่ำ ฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจไม่เติบโต ตลาดหุ้นไทยก็ไม่โตตามไปด้วย จึงเห็นว่าครึ่งปีแรกผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยแค่ 1.4%

ลักษณะตลาดหุ้นไทยปีนี้ถือเป็นปีของการพักผ่อน ไม่ต้องหวังรีเทิร์นจากราคาหุ้น แต่ให้หวังในปันผลแทน

โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เจ้าของชื่อล็อกอิน "ลูกอีสานในเว็บไซต์ Thaivi” มีมุมมองสอดคล้องกันว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย หรือ ใกล้เคียงครึ่งปีแรก โดยคาดว่ามูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่มีวอลุ่ม 3-4 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นวอลุ่มที่ซบเซา

ครึ่งปีหลังตลาดหุ้นไทยคงยังไม่ก้าวไปไหน และน่าจะอยู่ในอาการ ย่ำอยู่กับที่ เหมือนในครึ่งปีแรก สาเหตุบ่งชี้นั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว หรือ ดีขึ้นแบบกระจุกตัว ประกอบกับ กำไร ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีการเติบโตเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มพลังงาน , ปิโตรเคมี ,สินเชื่อ เป็นต้น

แม้ในปัจจุบันโครงการเมกะโปรเจคของรัฐจะอนุมัติออกมาหลายโครงการแล้ว แต่เศรษฐกิจยังไม่ตอบรับปัจจัยบวกดังกล่าวอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เนื่องจากเครื่องยนต์อย่างการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ลงทุนใหม่ หรือ ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม

ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยไม่มีลมใต้ปีกพยุง จะเห็นชัดเจนว่าบริษัทจดทะเบียนที่มีพื้นฐานดีจะยืนอยู่ในตลาดได้ แต่บริษัทที่มีพื้นฐานไม่ดีก็จะเริ่มเห็นอาการสั่นไหว

ฉะนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ นักลงทุนต้องมีความรู้ก่อนถึงจะสามารถเลือกหุ้นพื้นฐานดีและซื้อในราคาเหมาะสม แต่หากนักลงทุนไม่มีความรู้ แต่ลงทุนโดยเชื่อมาร์เก็ตติ้งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ดังนั้น หากไม่มีความรู้ก็ควรจะให้คนที่เป็นมืออาชีพที่มีความรู้มาบริหารพอร์ตการลงทุนให้ เช่น กองทุนรวม

อย่างไรก็ตาม ในภาวะปัจจุบันไม่มีปัจจัยอะไรที่จะผลักดันตลาดหุ้นไทยขึ้นต่อได้ดีไปกว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียน 

ฉะนั้น เจ้ามือตัวจริงของตลาดหุ้นไทยนั่นคือ กำไรของบริษัท

ความผันผวนของตลาดหุ้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นโอกาสในการลงทุน หากตลาดหุ้นไม่ผันผวนนั่นซิ ถือเป็นเรื่องผิดปกติ

สำหรับกลุ่มที่น่าเข้าไปลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง กลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีโครงการอยู่ในมือและมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศรวมด้วย เนื่องจากธุรกิจจะเติบโตแบบเสถียรภาพ แม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในแง่ของราคาหุ้น จะไม่หวือหวา แต่ในระยะยาวถือว่าเป็นธุรกิจที่ดี ประกอบกับปันผลถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นกัน เช่นเดียวกับ กลุ่มสินเชื่อ โดยครึ่งปีแรกกลุ่มสินเชื่อมีผลประกอบการที่เติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนให้เลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัวที่มีผลประกอบการเติบโต ทั้งในแง่ของรายได้กำไร และมีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เมื่อกำไรบริษัทเติบโตจะสะท้อนไปที่ราคาหุ้นได้เอง

เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนด้านเทคนิคเจ้าของพอร์ต หลักพันล้าน วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง ว่า ตลาดหุ้นไทยถือว่า ลงทุนยาก เพราะตลาดหุ้นดัชนีแกว่งตัวไม่มาก จากต้นปีเคยมองว่าดัชนี SET Index จะปรับตัวขึ้นจากปี 2559 แต่ผ่านครึ่งปีแรกมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ตลาดหุ้นประเทศไทยราคาถูกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่น

โดยส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไม? ตลาดหุ้นไทยไม่ขึ้นทั้งที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ P/E ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 15.7 เท่า นั่นถือว่าราคาไม่แพง เทียบกับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย P/E กว่า 20 เท่า

"ปลายปีที่ผ่านมาผมให้สัมภาษณ์ว่าต้นปีนี้ ดัชนีจะอยู่ 1,600-1,700 จุด ส่วนตัวก็งงเหมือนกัน ทำไมตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหน ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งที่พื้นฐานบ้านเราก็ไม่แย่ ภาครัฐเดินหน้าโครงการต่างๆ เม็ดเงินลงทุนทยอยออกมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นักลงทุนรอความหวังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา ทั้งการลงทุนโครงการเมกะโปรเจค และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ยอมรับว่าตอนนี้เริ่มไม่มั่นใจและไม่กล้าลงทุน เพราะว่าดัชนีตลาดหุ้นไม่ไปไหน ทั้งๆ ที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดูดีขึ้น ทั้งจากการลงทุนของภาครัฐที่ออกมา ตัวเลขส่งออกขยายตัว แต่ผลรับกลับไม่เป็นดังที่คาดการณ์ไว้

ซัน-กระทรวง จารุศิระ นักลงทุนด้านเทคนิค ถูกการันตีด้วยรางวัล แชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย 2013” บอกว่า สำหรับดัชนี SET Index ในระยะสั้น-กลาง ในด้านเทคนิคเส้นกราฟบ่งชี้ว่า SET มีลักษณะไซด์เวย์กรอบระหว่าง 1,530-1,600 จุด โดยหากครึ่งปีหลังดัชนีสามารถผ่าน 1,580 จุดได้ ดัชนีเป็นขาขึ้นแตะ 1,600-1,646 จุด แต่หากไม่ผ่านดัชนีจะเป็นขาลง

ปีนี้ยังมีโอกาสที่ SET จะผ่าน 1,600 จุดได้ หากงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนยังเติบโต

ส่วนในภาพรวม “ระยะยาว” นั้นมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้น โดยมองว่า SET Index เป็น ขาขึ้น เพราะปัจจับันอยู่ในช่วงของการลงทุนพัฒนาประเทศที่นำโดยภาครัฐ

"ในเชิง Fundamental (พื้นฐาน) ถือว่าหุ้นไทยแข็งมาก และอยู่ในช่วงของการลงทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ Valuation ก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิด คือแพงจริงถ้าคิดดัชนีตลาดตรงนี้เทียบกับเพื่อนบ้าน แต่แพงเพื่อที่จะไปต่อได้อีก เพราะมีเรื่องของการลงทุนจากภาครัฐมาสนับสนุน"

แม้จะมองภาพรวมเป็นมุมบวก แต่ดัชนีตลาดหุ้นกลับไม่ตอบรับ “กระทรวง” บอกว่า นักลงทุนไม่มั่นใจและกลัว ซึ่งเป็นปัจจัยลบ กดดันตลาด นั่นคือ 1.นักลงทุนรอความชัดเจนของการเลือกตั้ง ทำให้ตอนนี้นักลงทุนชะลอดูก่อน และ 2.นักลงทุนรอดูนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีความแน่นอน

สำหรับ หุ้นที่คาดว่าเป็น ดาวเด่น และมีกำไรเติบโต “โดดเด่น” ในปีนี้ กลุ่มสินเชื่อ ซึ่งจะเห็นว่าไม่ว่าตลาดจะปรับตัวลดลงมา แต่ราคาหุ้นไม่ลดลงไม่มาก เพราะว่าในแง่ของผลประกอบการมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง กลุ่มพลังงานโรงไฟฟ้า แม้ว่ากำไรจะไม่ได้หวือหว่า แต่จะดีในแง่ของผลประกอบการที่มีเสถียรภาพ และมั่นคงในอนาคต

ด้าน กลุ่มต้องระมัดระวัง จะเป็นหุ้นใน “กลุ่มสื่อ” (โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล) โดยในช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับลดลงทุกตัว กลุ่มคอมมูนิตี้ ซึ่งเป็นหุ้นที่มีปัจจัยกระทบมาก และต้องอิงกับเศรษฐกิจทั่วโลก ฉะนั้น จะเป็นหุ้นที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง

-------------------

เซียนหุ้นรายไหนชนะตลาด

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวความคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกของประเทศไทย เผยถึงผลตอบแทนการลงทุนพอร์ตหุ้นของเขาในช่วงครึ่งปีแรกว่า  เท่ากับตลาด” ถือว่าเป็นพอใจหากเทียบกับผลตอบแทนของดอกเบี้ยที่ต่ำมาก แม้ว่าผลตอบแทนตลาดจะอยู่ที่ 1.4% แต่หากรวมเงินปันผล 3-4% ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่น่าเกลียด

จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ ดร.นิเวศน์ พบว่า ในครึ่งปีแรกมีหุ้นในพอร์ตหลากหลาย เช่น บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS จำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.78% บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.60% บมจ.มูราโมโต้ อีเล็คตรอน หรือ METCO จำนวน 120,000 หุ้น คิดเป็น 0.57% บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ หรือ QH จำนวน 60,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.56% และ บมจ. ทุนธนชาต หรือ TCAP จำนวน 14,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.16%

ขณะที่ โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) บอกว่า ผลตอบแทน ในครึ่งปีแรกปี 2560 พอร์ตหุ้นเติบโต ราว5%” แต่ถือว่ายัง ชนะตลาด ที่มีผลตอบแทน 1-2% แต่หากรวมปันผลผลตอบแทนตลาดอยู่ราว 3-4% โดยในส่วนของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (วีไอ) จะชอบตลาดหุ้นที่มีลักษณะขึ้นลงไม่หวือหว่า

จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ อนุรักษ์ พบว่า ในครึ่งปีแรกมีหุ้นในพอร์ตหลากหลายตัว เช่น บมจ.ฟินันซ่า หรือ FNS จำนวน 6,736,400 หุ้น คิดเป็น 2.73% บมจ.ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) หรือ HFT จำนวน 3,676,000 หุ้น คิดเป็น 0.56% บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก หรือ PJW จำนวน 8,350,000 หุ้น คิดเป็น 1.45% บมจ.ริชี่ เพลซ 2002 หรือ RICHY จำนวน 5,899,100 หุ้น คิดเป็น 0.75% บมจ. ซีฟโก้ หรือ SEAFCO จำนวน 1,544,700 หุ้น คิดเป็น 0.51%

บมจ.ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ หรือ SORKON จำนวน 210,000 หุ้น คิดเป็น 0.65% บมจ.เอสวีโอเอ หรือ SVOA จำนวน 6,668,800 หุ้น คิดเป็น 0.94% บมจ. อุตสาหกรรมพรมไทย หรือ TCMC จำนวน 6,504,000 หุ้น คิดเป็น 1.28% บมจ.ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY จำนวน 9,959,400 หุ้น คิดเป็น 1.76% บมจ.ถิรไทย หรือ TRT จำนวน 2,016,900 หุ้น คิดเป็น 0.65% และบมจ. วินเนอร์กรุ๊ป เอ็นเตอร์ไพรซ์ หรือ WINNER จำนวน 5,053,100 หุ้น คิดเป็น 1.26%

ด้าน เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนด้านเทคนิคเจ้าของพอร์ต หลักพันล้าน บอกว่า ครึ่งปีแรกผลตอบแทนจากการลงทุน บวก5%” โดยเป็นกำไรจากหุ้นตัวเดิมในพอร์ตที่ซื้อไว้ตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งครึ่งปีแรกแทบจะไม่ได้ซื้อหุ้นเติมเข้าพอร์ต แต่เตรียมเงินสดไว้รอซื้อตลอดหากดัชนี SET ปรับขึ้นแตะ 1,600 จุดได้

แม้ตลาดหุ้นไทยปีนี้เคลื่อนไหวไม่มากนัก แต่ส่วนตัวยังคงลงทุนอยู่โดยการลงทุนช่วงที่เหลือของปีนี้ต้องใช้เทคนิคและดูเรื่องปัจจัยพื้นฐานประกอบการลงทุน และเลือกหุ้นเป็นรายตัว ซึ่งปัจจุบันมีหุ้นขนาดใหญ่ที่มี P/E ต่ำกว่าตลาด 10-20 ตัว

กลยุทธ์การลงทุนนั้น ยังเน้นเลือกหุ้นเป็นรายตัว และถือลงทุนระยะยาวขึ้น และกระจายความเสี่ยงออกไปในทองคำ หากราคาทองร่วงจะเข้าไปซื้อเดือนละ 1 กิโลกรัม

จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ “เสี่ยป๋อง” พบว่า ในครึ่งปีแรกมีหุ้นในพอร์ต บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE ถือหุ้นจำนวน 30,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.80% บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL จำนวน 42,450,000 หุ้น คิดเป็น 0.88% 

ซัน-กระทรวง จารุศิระ นักลงทุนด้านเทคนิค บอกว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนครึ่งปีแรก กำไรบวกเล็กน้อย โดยหุ้นที่สร้างกำไรให้จะเป็นหุ้นลิสซิ่งและหุ้นปิโตรเคมีเยอะมากในช่วงที่ผ่านมาเพราะได้ทำการบ้านมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้แล้วว่ากำไรจะดี จึงเข้าไป ซื้อ"

ผลตอบแทนที่ออกมาถือว่าอยู่ในระกับ พอใจมาก ฉะนั้น อยากแนะนำว่าก่อนทำการลงทุนไม่ว่าจะเล่นสั้นหรือยาวก็ต้องศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ภาวะแวดล้อมต่างๆ ให้ตกผลึกเสียก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน อย่าสุ่มสี่สุ่มห้าเพราะการลงทุนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น 

นอกจากนี้แนะนำว่าให้จัดสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในแต่ละรูปแบบของการลงทุนออกไป

--------------------

โบรกมองหุ้นไทย ครึ่งหลัง"ไม่สดใส"

โค้ด...เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี มีโอกาสที่ Fund Flow จะไหลเข้า

คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังตลาดหุ้นไทยมีโอกาส ปรับฐาน ตามตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มมี Valuation แพง นำโดย S&P 500 ของสหรัฐฯ ซึ่งมี Forward P/E ที่ 18 เท่า สูงในระดับเดียวกับช่วง Dot Com Crisis และไม่มีการปรับฐานลงเกินกว่า 5% มาอย่างต่อเนื่องถึง 10 เดือน (นับตั้งแต่ ก.ค. ปีที่แล้ว) ซึ่งโดยกปกติ S&P 500 จะปรับฐานลงทุกๆ 6 เดือน ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้ออกมาดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ จึงมีแนวโน้มที่ S&P 500 จะย่อตัวลง และฉุดตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกให้ลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังมี ความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าจับตา เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การเลือกตั้งอังกฤษและอิตาลี และการคิดคำนวณตลาดหุ้น A-Share ใน MSCI

การย่อตัวลงของตลาดหุ้นมีแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นไทย

โดยคาดว่าดัชนี SET Index จะปรับลดลงตามหุ้นโลกแต่จะลงไม่ต่ำกว่า 1,550 จุด แล้วปรับขึ้นแบบ Sideways Up โดยคงเข้าเป้าหมายที่ 1,650 จุด โดยมีแนวต้านระหว่างทางที่ 1,600 จุด และ 1,620จุด หากผิดคาด SET Index ปรับตัวลงต่ำกว่า 1,550 จุด ก็น่าจะไปสร้างฐานใหม่ที่ 1,530 จุด

สำหรับคำแนะนำการลงทุน ยังคงแนะนำให้ลงทุนเลือกลงทุนเป็นรายตัว (Selective Buy) แต่ฐานราคาต่ำ แต่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากโครงการภาครัฐ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นไทย ยังถือว่ามี Valuation ไม่แพงมาก โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 5 เดือนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นอยู่ที่ 2% ส่วนตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1.4% ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชียปรับขึ้นไปทำ All Time High เช่น อินเดียที่ 14% ฟิลิปปินส์ 14% และอินโดนีเซียที่ 9% และหากเปรียบเทียบในประเทศกลุ่ม TIP (Thailand, Indonesia, Philippines) ตลาดหุ้นไทยมี P/E ต่ำที่สุดในกลุ่มที่ 15 เท่า ขณะที่อินโดนีเซียอยู่ที่ 16 เท่า และ ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 18 เท่า

เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยัง Laggard ตลาดหุ้นในภูมิภาคอยู่มากจึงมองว่ามีโอกาส Fund Flow จากต่างประเทศจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติยังคงลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่มาก

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิเช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การเติบโตของการส่งออก และความชัดเจนเรื่องการการเลือกตั้งที่จะช่วยหนุนความเชื่อมั่น