ณยา เอียร์ลิคซ์-อาดัม ร่ายมนต์ผักสดผลไม้สด

ณยา เอียร์ลิคซ์-อาดัม ร่ายมนต์ผักสดผลไม้สด

ความกล้าได้กล้าเสียและพร้อมที่จะลองสิ่งใหม่ ทำให้ “ณยา เอียร์ลิคซ์-อาดัม” ทุ่มเงินเก็บทั้งชีวิตเปิดร้านอาหารในเมียนมาร์เมื่อ 13 ปีก่อนที่ยังเป็นประเทศปิด และประสบความสำเร็จจนเป็นร้านมอนซูน (Monsoon) ที่รู้จักกันไปทั่วโลก

ความกล้าได้กล้าเสียและพร้อมที่จะลองสิ่งใหม่ ทำให้ “ณยา เอียร์ลิคซ์-อาดัม” ทุ่มเงินเก็บทั้งชีวิตเปิดร้านอาหารในเมียนมาร์เมื่อ 13 ปีก่อนที่ยังเป็นประเทศปิด และประสบความสำเร็จจนเป็นร้านมอนซูน (Monsoon) ที่รู้จักกันไปทั่วโลก ร้านอาหารมอนซูนประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับการยอมรับจากหลายสถาบัน รวมถึงสื่ออย่าง ซีเอ็นเอ็น และ บีบีซี ที่มาสัมภาษณ์พิเศษ ทั้งยังมีแขกพิเศษอย่างอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน, โทนี่ แบลร์, อองซานซูจี และเชฟชื่อดังจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยียน

ร้านอาหารมอนซูนเริ่มขึ้นที่นครย่างกุ้งในปี 2547 ร่วมกับเพื่อนชาวเมียนมาอีก 2คน เสิร์ฟเมนูประจำถิ่นของ 5 ชาติ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมาและไทย ความคิดที่แตกต่างจากร้านอาหารอื่นๆ มาจากความชื่นชอบวัฒนธรรม ผู้คนและอาหารของประเทศดังกล่าว

“13 ปีก่อนที่พม่า คนไทยยังไปน้อย อินเทอร์เน็ตยังถูกบล็อก ภาษาก็ยาก แต่พม่ายังไม่มีร้านอาหารที่ตอบโจทย์ตลาดบน ในขณะที่เราขายอาหารอินโดจีน ทั้งสามารถเข้าครัวทำอาหารทุกประเทศจึงทำให้มอนซูนเป็นที่รู้จักและยอมรับกระทั่งได้รับรางวัลร้านอาหารอันดับ 1 ของพม่า ต่อมาก็ขยายสาขาที่สองในเวียดนาม กระทั่งย้ายกลับเมืองไทยในช่วงปีที่ผ่านมา จากธุรกิจร้านอาหารธรรมดา ใช้ผัก สมุนไพร และเนื้อสัตว์ก็ปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารทางเลือกที่ไม่มีเนื้อสัตว์เลย"

 
ช่วงเวลาที่ณยาอยู่บ้านปรับตัว มีโอกาสได้ดูรายการของออสเตรเลียที่อดอาหาร 60 วันและกินแต่น้ำผักผลไม้เท่านั้น ทำให้เธออยากลองบ้าง แต่ลดเวลาลงเหลือ 30 วัน กินแต่น้ำผักผลไม้ ผลที่ได้คือ น้ำหนักลดลง การขับถ่ายดีขึ้น ผิวพรรณดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เริ่มฉุกคิดว่าไทยมีผักผลไม้มากมายและหลากหลาย แต่ไม่ค่อยมีน้ำผักผลไม้ขาย จึงจุดประกายที่จะทำเป็นธุรกิจร้านอาหารจากผักผลไม้ในสไตล์ที่ทันสมัย


“ช่วงที่กลับมาอยู่เมืองไทยหลังคลอดบุตร มีโอกาสได้ดูสารคดีของ โจ ครอส (Joe Cross) ที่สามารถลดน้ำหนักตัวได้มากและสุขภาพดีขึ้นจากการดื่มน้ำผักผลไม้ ก็มาคิดว่า ไหนๆ ก็อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร ก็ลองคั้นน้ำผักผลไม้ดื่มดูซิ ปฎิญาณตัวเองเดือนมกราคมปี 2558 จะลองเป็นเวลาสามสิบวัน ดื่มน้ำผักเช้ากลางวันเย็น สามมื้อ ไม่รับประทานอาหารเลย จะตายไหม พอผ่านสี่วันไม่ตาย แต่รู้สึกดีขึ้น ร่างกายเหมือนจะโหย แต่สมองปลอดโปร่ง ปวดเมี่อยร่างกายหายไป มันเหมือนมหัศจรรย์ พอผ่านหนึ่งเดือนปั๊บ น้ำหนักลดแปดกิโลกรัม และ(น้ำหนัก)ก็ไม่ขึ้นมาเลย ซึ่งเราก็รับประทานอาหารตามปกติแล้ว”


(โจ ครอส เป็นชายชาวออสเตรเลียน อายุ 40 ปี หนัก 140 กิโลกรัม ป่วยด้วยโรคภูมิต้านทานทำลายตนเอง มีผื่นและลมพิษขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้ ข้ออักเสบ รู้สึกใกล้ตาย ในที่สุดตัดสินใจรักษาสุขภาพด้วยการคั้นน้ำผักผลไม้ดื่มเป็นเวลา 60 วัน น้ำหนักตัวหายไป 37.33 กิโลกรัมและสุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน)


ด้วยความเชื่อมั่นว่า การกินผักในปริมาณที่ร่างกายต้องการอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ทุกคนในครอบครัวของเธอสุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน และด้วยประสบการณ์ทางด้านร้านอาหารที่มีมากว่า 15 ปี จึงมองเห็นโอกาส บวกกับความตั้งใจที่จะแบ่งปันสิ่งที่พบเจอจากการกินน้ำผักที่ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไป จึงได้เริ่มเปิดร้าน Broccoli Revolution เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมๆ ของผู้คนในชุมชนให้หันมาดื่มน้ำผักและผลไม้ แทนการดื่มกาแฟและอาหารฟาสต์ฟู้ด


Broccoli Revolution เป็นการปฏิวัติใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยให้ผักที่เคยเป็นตัวประกอบหรือของเคียงจานกลายมาเป็นพระเอกนางเอกนำโดยบร็อคโคลี่ เนื่องจากเป็นผักที่มีวิตามินสูง และรูปทรงเหมือนต้นไม้เล็กๆ ที่จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไป

สุขภาพดีทั้งงานและชีวิต
 

“ครอบครัวของเรามีประวัติเป็นมะเร็ง เราเองก็มีความเสี่ยงกว่า 80% จึงกลับมามองตัวเองว่า ลูกก็ยังเล็ก แม่และครอบครัวก็ต้องดูแล เราก็ต้องใส่ใจสุขภาพตัวเอง โดย 8 เดือนที่แล้วไปเช็คสุขภาพก็เจอก้อนเนื้อที่ปากมดลูก ซึ่งคาดว่าจะเป็นมะเร็งขั้นที่ 1 คุณหมอก็บอกให้ใจเย็นๆ แค่ตัดเนื้อร้ายออก”


“กลัว” เป็นคำแรกที่ผุดขึ้นมาในใจ ก่อนที่จะตัดสินใจดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ทั้งเล่นโยคะ ตัดขาดเนื้อสัตว์ หันมากินอาหารมังสวิรัติและดื่มน้ำผักผลไม้เป็นประจำ ที่สำคัญคือ ทำใจที่จะเข้ารับการผ่าตัด ก่อนจะยกครอบครัวไปเข้าป่าบอร์เนียว เสริมสร้างกำลังใจก่อนเปิดดูผลการตรวจครั้งต่อมา “ผลเป็นลบ” คุณหมอหาก้อนเนื้อร้ายไม่เจอ เธอดีใจจนปล่อยโฮ และดำเนินชีวิตโดยการกินมังสวิรัติและดื่มน้ำผักผลไม้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ณยายอมรับว่า ชีวิตเปลี่ยนไปหลังเป็นมังสวิรัติมาเกือบ 1 ปี แม้ในครอบครัวทั้งลูกและสามียังกินอาหารตามปกติ แต่เธอก็เสริมโดยการทำน้ำผักใส่เหยือกไว้ให้ทุกคนดื่มทุกเช้า เป็นการบังคับไปในตัว ส่วนอาหารก็ทำจานเนื้อให้น้อยลง เพิ่มจานผักให้มากขึ้น เมนูที่ร้านก็เป็นเมนูเดียวกับที่ทำให้ครอบครัวกินเพียงแต่ปรับรสชาติและเครื่องปรุงให้เหมาะสม เช่น ลูกชายที่ยังเด็ก กินผักเป็นเรื่องลำบาก จะให้กินสลัดเป็นจานๆ ยิ่งยาก แต่ก็หลอกล่อด้วยอาหารไทยที่เป็นกลุ่มผัดผัก ไข่เจียวใส่ผักลวก ผักต้ม ก็ช่วยให้กินง่าย ส่วนน้ำผักที่พยายามให้ดื่มทุกวัน ช่วงแรกมีบังคับกันบ้าง จนบางทีร้องไห้ ถ้าเป็นสูตรน้ำผักที่ดื่มยากๆ แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้วค่ะ


สำหรับตัวเธอเอง นอกจากดูแลเรื่องอาหารการกิน ยังออกกำลังกายให้มากขึ้น จากที่ไม่เคยออกกำลังกายก็หันมาเล่นโยคะ 3 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลา 1 ปีแล้ว และอยากทำให้ตัวเอง “ฟิต” มากขึ้น โดยไม่ใช่การออกกำลังกายในฟิตเนส แต่เป็นการปีนเขา เดินป่า ท่องเที่ยว
“คนเราควรจะเที่ยวทุกเดือน เพราะสมองควรได้เจอสิ่งใหม่ๆ บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม คน วัฒนธรรม ครอบครัวเราจึงเดินทางบ่อย แม้จะไม่ได้จับงานสายท่องเที่ยวแล้ว แต่สามียังทำงานด้านท่องเที่ยวทำให้มีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยว ไปดูสถานที่ใหม่ๆ ให้ลูกได้มีประสบการณ์และฝึกภาษาไปด้วย”


ชีวิตในวัย 40 กะรัต


ณยาในวัย 45 ปี มีความสุขกับชีวิตในปัจจุบัน เธอมองว่า ผู้หญิงวัย 40 ปี เป็นวัยที่รู้จักสิ่งต่างๆ มากขึ้น รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และรู้ว่าจะดูแลตัวเองอย่างไร เช่นเดียวกับตัวเธอที่ร้าน Broccoli Revolution กำลังตั้งไข่ด้วยอายุ 1 ปีกว่า แต่สิ่งที่ต้องการสำหรับณยา ไม่ใช่ตัวเงินหรือชื่อเสียง แต่เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือชุมชนเท่าที่จะทำได้ การทำธุรกิจอาหารใน 3 ประเทศ คือเมียนมา เวียดนาม ไทย แตกต่างกันมาก ณยา กล่าวว่า มอนซูนในเมียนมาถือเป็นตลาดใหม่ แต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในขณะที่เวียดนามมีการแข่งขันสูง ส่วนไทยนั้น ง่ายกว่าเนื่องจากเราเป็นคนไทย การใช้ชีวิต การสื่อสารก็จะเข้าใจมากกว่า มีพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัว ทำให้อบอุ่นมากกว่าด้วย ตอนนี้ก็ขายหุ้นร้านอาหารที่เมียนมาไปแล้ว แต่ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่ ส่วนสาขาที่เวียดนามก็ขายร้านไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากไม่มีหุ้นส่วนอยู่เลย


“15 ปีกับธุรกิจอาหาร เราได้มาหมดแล้วทั้งเงินและชื่อเสียง แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ช่วยชุมชน มันต้องใช้เงิน จึงตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปีจะทำกำไรให้ได้มากที่สุดจากธุรกิจร้านอาหาร เพื่อให้มีเงินไปช่วยชุมชนและสังคม” ณยาบอกเล่าถึงเป้าหมาย


ปัจจุบัน เธอก็พยายามช่วยสังคมโดยน้ำผักทุกแก้วจะบริจาค 9 บาทให้กับมูลนิธิ SATI ในขณะที่ร้านนั้นก็ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพนักงานทั้ง 25 คนและมีแผนที่จะช่วยเหลือสังคมในอีกหลายรูปแบบ เช่น ดาดฟ้าที่ว่างอยู่อาจจะปลูกผักสวนครัวหลากหลาย แบ่งกันกิน ความฝันที่ขับเคลื่อนร้าน Broccoli Revolution ของณยา คือการเป็นทางเลือกใหม่ให้คนเข้ามาเลือกกินอาหารจานที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ เหมือนเป็นเรื่องปกติ แทนที่จะเลือกเข้าร้านฟาสต์ฟู้ด
แน่นอนว่า ไม้เด็ดที่จะช่วยให้เป็นไปได้คือ อาหารมังสวิรัติที่รสชาติดี อร่อยถูกปาก ในขณะที่บริการถูกใจนั่นเอง