ททท.เล็งทำดัชนีวัดขีดแข่งขันทุกจังหวัด

ททท.เล็งทำดัชนีวัดขีดแข่งขันทุกจังหวัด

ททท.ผุดแนวคิดทำดัชนีเจ้าบ้านที่ดี สอดคล้องแผนส่งเสริมปีแห่งการท่องเที่ยว 2561 มุ่งเน้นการพัฒนาอุปทานท่องเที่ยวคู่ส่งเสริมการตลาด หวังแก้จุดอ่อนประเทศได้คะแนนต่ำในการจัดอันดับเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) มีมติกำหนดให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยนั้น ททท.มีแนวคิดว่าควรยกระดับการท่องเที่ยวทั้งในมิติด้านอุปทาน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการท่องเที่ยวด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับมิติด้านการตลาด โดยมีเป้าหมายให้สอดคล้องกับแผนระยะยาวภายใต้แผนเศรษฐกิจ 4.0 ของรัฐบาล ที่กำหนดเป้าหมายรายได้ 4 ล้านล้านบาทใน 5 ปี รวมถึงเลื่อนจากอันดับ 34 มาอยู่ที่ 35 ในการจัดทำดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและเดินทาง ของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ)

สำหรับดัชนีเจ้าบ้านที่ดีนั้น จะอยู่ในรูปของการจัดทำดัชนีรวม (Composit Index) โดยมีตัวชี้วัดความพร้อมในด้านการรองรับท่องเที่ยวหลายด้าน ซึ่งมาจากการบูรณาการเก็บข้อมูลจากหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาประมวลผลออกมาเป็น 4 ระดับ ได้แก่ รายจังหวัด, รายภูมิภาค, รายคลัสเตอร์ และบทสรุปของทั้งประเทศ มีเกณฑ์การประเมิน เช่น ความปลอดภัยในด้านต่างๆ อาทิ สถิติการเกิดอาชญกรรม, ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ปริมาณขยะหรือน้ำเสีย, ความพร้อมของการคมนาคมขนส่ง, ความเพียงพอของบริการท่องเที่ยวในพื้นที่ อาทิ จำนวนมัคคุเทศก์, คุณภาพของบริการด้านท่องเที่ยว อาทิ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การมีโรงแรมที่มีมาตรฐาน เป็นต้น และจะเน้นการจัดเก็บข้อมูลในเกณฑ์ที่ไทยยังได้คะแนนต่ำ ในการจัดอันดับของดับเบิลยูอีเอฟ อาทิ เรื่องโครงสร้างการขนส่งทางบก, ความปลอดภัย และทรัพยากรธรรมชาติ

การนำแผนนี้สู่รูปธรรม จะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ ท.ท.ช. ซึ่งขณะนี้ได้หารือนอกรอบกับนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อกำหนดปีแห่งการท่องเที่ยวไทยแล้ว และหากที่ประชุม ท.ท.ช.มีความคิดเห็นเพิ่มเติมและกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างไร มอบหมายให้หน่วยงานใด ททท.ก็จะให้การสนับสนุน หรือกระทั่งพร้อมรับเป็นเจ้าภาพในการจัดทำดัชนีดังกล่าวขึ้นมาเอง

“ที่ผ่านมาการส่งเสริมท่องเที่ยว อาจจะมองเฉพาะฝั่งดีมานด์ กระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามา แต่ในโอกาสที่จะส่งเสริมเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ และอยู่ระหว่างการเตรียมแผนใน 2 เดือนต่อไปนี้ ททท.จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะมาส่งเสริมและแก้ไขจุดอ่อนในฝั่งซัพพลายด้วย โดยตั้งโจทย์มุ่งแก้ไขในจุดอ่อนของประเทศที่ดัชนีขีดความสามารถฯ ของดับเบิลยูอีเอฟชี้ให้เห็นอยู่แล้วเป็นหลัก เมื่อดัชนีเจ้าบ้านที่ดีของทุกจังหวัดจัดทำแล้วเสร็จ ก็จะทำให้ทุกจังหวัดเห็นจุดอ่อนของตัวเอง นำไปสู่การใช้งบประมาณแก้ไขให้ตรงจุด”

นายยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า แผนการยกระดับคุณภาพท่องเที่ยว ยังสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างด้านท่องเที่ยวของไทย ที่ต่อไปจะลดการเติบโตก้าวกระโดดในเชิงปริมาณ และหันมาเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้แตะ 3 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นสุดปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะได้ 2.7 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การกระตุ้นความต้องการของนักท่องเที่ยว ก็จะมุ่งเจาะในเชิงลึกมากขึ้น ด้วยการแบ่งเซกเมนต์เจาะกลุ่มที่มีศักยภาพตามสินค้าการท่องเที่ยว อาทิ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, คู่แต่งงาน, ท่องเที่ยวเชิงกีฬา เป็นต้น

“ไทยมีเป้าหมายยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน แต่จังหวัดต่างๆ ที่ดูแลการท่องเที่ยวท้องถิ่น ยังไม่รู้ว่าจะต้องขับเคลื่อนอย่างไร ดัชนีเจ้าบ้านที่ดี จะเป็นก้าวแรกในการทำให้ทุกจังหวัดเห็นภาพความพร้อมของตัวเอง โดยหลังจากการประเมินแล้ว หากจังหวัดใดมีการใช้งบประมาณมาแก้ไขจนเห็นความก้าวหน้า ททท.ก็จะมีกลยุทธ์ส่งเสริมความสำเร็จ เช่น ประกาศเป็นจังหวัดที่มีพัฒนาการสูงสุด และจังหวัดก็จะได้สร้างการรับรู้ที่ดีในตลาดท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศด้วย”