‘อาลีบาบา’ คิดใหญ่ หวังยอดขาย 'ล้านล้านดอลล์'

‘อาลีบาบา’ คิดใหญ่ หวังยอดขาย 'ล้านล้านดอลล์'

ปีนี้จะเปิดตัวชุดผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่สั่งการด้วยเสียง สามารถใช้งานได้ในหลากหลายธุรกิจ เช่นอุตสาหกรรมโรงแรม และตลาดการศึกษา

“แจ็ค หม่า” คิดการณ์ใหญ่ ย้ำในงานวันนักลงทุน 2560 ตั้งเป้ายอดขายอาลีบาบาทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2563 พร้อมสร้างงานอีก 100 ล้านตำแหน่ง รองรับผู้บริโภคกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก

นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารอาลีบาบา กรุ๊ป ตอกย้ำวิสัยทัศน์ยาวไกลในงานวันนักลงทุนล่าสุด ที่สำนักงานใหญ่อาลีบาบา ในเมืองหังโจว ประเทศจีน โดยบอกว่า ปีงบประมาณ 2561 อาลีบาบา กรุ๊ป ตั้งเป้าเติบโตรายได้ไว้ที่ 45-49% มาจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น ความแข็งแกร่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของอาลีบาบา การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจีนที่เติบโตต่อเนื่อง และการเติบโตของผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม และตั้งเป้ายอดขายรวมภายในปีงบประมาณ 2563 ไว้ที่ล้านล้านดอลลาร์

การคาดการณ์การเติบโต ยังมาจากรายได้ที่เกิดจากช่องทางใหม่ๆ และการขยายลงทุนนอกเหนือจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ เช่น ด้านสื่อดิจิทัลและบันเทิง อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน บริการต่างๆ ในท้องถิ่น การตลาดดิจิทัล และสาขาอื่นๆ

นายแดเนียล จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า อาลีบาบา เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีรากฐานมาจากข้อมูลดาต้า ธุรกิจมีความหลากหลาย และครอบคลุมมากกว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตทั่วไป โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีจดจำภาพ เสียงพูด ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงระบบประมวลผลคลาวด์ที่เร็วที่สุดในโลกมาปรับใช้ และผนวกรวมไว้ในธุรกิจต่างๆของอาลีบาบา

ปัจจุบัน อาลีบาบามีผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ธุรกิจขนาดย่อมเกือบ 10 ล้านรายทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบาทุกวัน

“อาลีบาบา ไม่เป็นเพียงช่องทางการขาย หรือแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการตลาด แต่เราสร้างโอกาสให้ร้านค้า และแบรนด์ต่างๆ บริหารจัดการลูกค้าตลอดจนวงจรการซื้อสินค้า ตั้งแต่ทำให้ลูกค้าเกิดการรับรู้ ให้ความสนใจในสินค้า ตัดสินใจสั่งซื้อ และเกิดความภักดีต่อเนื่อง" นายแมกกี้ วู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าว

วิดีโอช่องทางใหม่
อาลีบาบา ทำให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นด้วยคอนเทนท์ เช่น วิดีโอถ่ายทอดสดออนไลน์แนะนำสินค้าใหม่ๆ ยอดการแชร์คอนเทนต์ และยอดการแชร์เพจสินค้าเพิ่มสูงขึ้น 80% ในเดือน เม.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน อีกทั้งยอดเข้าชมเพจสินค้าที่ให้คอนเทนท์เป็นหลักเพิ่มขึ้นมากกว่า 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งพบว่า ยิ่งผู้บริโภคชาวจีนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบามากเท่าไร จะยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น

ยอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อราย เพิ่มขึ้นจาก 3,000 หยวนในปีแรก เป็น 12,000 หยวนในปีที่ 5 ของการใช้งาน

นายเจ็ท จิง รองประธานของ ทีมอลล์ กล่าวว่า เว็บไซต์บีทูซีของอาลีบาบา กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “การบริโภคเชิงคุณภาพ” ของชนชั้นกลางในประเทศจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง และสินค้าแบรนด์ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในฐานะผู้ริเริ่มและผู้ขับเคลื่อนการค้าปลีกรูปแบบใหม่ (New Retail) ด้วยการผสมผสานระหว่างการค้าออนไลน์และออฟไลน์ ผนวกกับการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจค้าปลีก อาลีบาบา คาดการณ์ว่า อินเทอร์เน็ตและบิ๊กดาต้า จะจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติโมเดลธุรกิจห้างร้านที่ล้าสมัย ให้ฟื้นคืนขึ้นมาในรูปแบบใหม่

“เป้าหมายเราไม่ใช่แย่งส่วนแบ่งตลาดจากห้างร้านต่างๆ แต่ คือ สนับสนุนให้ร้านค้าเหล่านั้น ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการตลาดและการขายออนไลน์ของอาลีบาบา เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และเพิ่มยอดขายต่อตารางฟุต” นายจาง กล่าว

‘คลาวด์’ สินทรัพย์สำคัญ
อาลีบาบา ยังมีทรัพย์สินที่สำคัญอย่าง “คลาวด์” โดยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา อาลีบาบา คลาวด์ เติบโตต่อเนื่อง ไอดีซี ระบุว่า อาลีบาบา คลาวด์ เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต คลาวด์ ที่ทำรายได้มากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในประเทศจีน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 40% มีเว็บไซต์กว่า 37% ในประเทศจีนที่ใช้บริการคลาวด์ของอาลีบาบา

อาลีบาบา คลาวด์ ทำรายได้เติบโตเป็นตัวเลขสามหลักติดต่อกันเป็นปีที่ 8 และยังเห็นการเติบโตต่อเนื่องจากทั้งลูกค้ารายใหม่ๆ และการเพิ่มปริมาณการใช้งาน

ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อาลีบาบาได้ใช้เงินลงทุนกว่า 75% จากเงินลงทุนทั้งหมด 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปในธุรกิจสื่อดิจิทัลและบันเทิง การขยายธุรกิจในต่างประเทศ โลจิสติกส์ รวมทั้ง ออนไลน์ ทู ออฟไลน์ และธุรกิจบริการในท้องถิ่น

นายโจ ไฉ่ รองประธานบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า การลงทุนหรือการเข้าซื้อกิจการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสอดคล้องกับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ พัฒนาประสบการณ์ลูกค้า การหาผู้ใช้และผู้ใช้รายใหม่ การขยายตัวของอาลีบาบาในทางภูมิศาสตร์ หรือ การผลักดันบริษัทไปสู่ธุรกิจรีเทลแบบใหม่

ปัญญาประดิษฐ์ กับอาลีบาบา
นอกจากนี้ อาลีบาบา ยังได้ใช้งานโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ประเภทแชทบอท (Chatbot) ซึ่งสามารถตอบคำถามลูกค้าได้กว่า 90% และยังขยายขอบเขตการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หลายรูปแบบ ไปยังส่วนงานต่างๆ เช่น โลจิสติกส์ และการค้นหาผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ ยังลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีจดจำเสียงพูด (Speech recognition) และปีนี้จะมีการเปิดตัวชุดผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแพลตฟอร์ม อัจฉริยะที่สั่งการด้วยเสียง ซึ่งสามารถใช้งานได้ในหลากหลายธุรกิจ เช่นอุตสาหกรรมโรงแรม และตลาดการศึกษา

“หลายบริษัทบอกว่า พวกเขามีฝ่ายเอไอแต่ที่อาลีบาบาเอไอแทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของธุรกิจของเรา” นายไฉ่ กล่าว