จ่อชงบอร์ด อีอีซี ดันไปรษณีย์ไทยขึ้นฮับโลจิสติกส์

จ่อชงบอร์ด อีอีซี ดันไปรษณีย์ไทยขึ้นฮับโลจิสติกส์

กระทรวงดีอี เร่งปณท ปั้นโลจิสติกส์ฮับ รับแผนอีอีซี เล็งขยายเป็นศูนย์กระจายสินค้า หวังเป็นเขตปลอดภาษีนำเข้า-ส่งออกประเทศที่ 3 หารือศุลกากรปลดล็อคกฎหมาย คาด 23 มิ.ย.เข้าบอร์ดพิจารณา

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า หลังจากหารือร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ในแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทระยะสั้นโดยปรับแผนยุทธศาสตร์จากเดิม 5 ปี คือ 2560 ถึง 2564 เป็นแผนระยะสั้น 3 ปี 2560 ถึง 2562 ซึ่งแผนเร่งด่วนนี้ จะปรับให้เข้ากับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งได้เพิ่มในส่วนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เน้นระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นจุดขนส่งสำคัญในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ มองว่า ศักยภาพของ ปณท สามารถขยายพื้นที่ของศูนย์บริการเดิมซึ่งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันพื้นที่นี้มีการส่งไปรษณีย์ด่วนหรือ อีเอ็มเอส อยู่ประมาณ 8 ล้านชิ้นต่อวัน ต่อไปในอนาคต เมื่อพื้นที่อีอีซีมีการขนส่งในหลายระบบมากขึ้น ปณท จะต้องขยายจากศูนย์บริการปกติเป็นศูนย์กระจายสินค้า หรือคลังสินค้า ด้วยคาดว่า จะให้พื้นที่นี้เป็นเขตปลอดภาษีนำเข้า-ส่งออกสำหรับพัสดุหรือสินค้าไปยังประเทศที่ 3 เช่น ส่งจากสหรัฐอเมริกาไปยังกัมพูชา ซึ่งไทยจะเป็นทางผ่านเพื่อเป็นจุดพักสินค้ารอการกระจายส่งต่อไป

ปรับโฉม ปณท รับอีอีซี
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงดีอี เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาประเทศให้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ โดยจะส่งเสริมให้ชุมชนที่มีการติดตั้งเน็ตประชารัฐ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างรายได้ให้ชุมชน ในการนำสินค้าและบริการของชุมชนมาซื้อขายบนร้านค้าออนไลน์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการจัดหาเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบงาน อุปกรณ์ การสร้างความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำมาส่งเสริมให้ชุมชนสามารถทำการค้าขายแบบออนไลน์ตามโครงการอี-คอมเมิร์ซ ชุมชนของรัฐบาล

นอกจากนี้ ต้องมีแผนปรับปรุงที่ทำการไปรษณีย์ให้ทันสมัย ทั้งภายในและภายนอกอาคาร อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และเลือกสถานที่ตั้งให้สอดคล้องกับการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล สำหรับความคืบหน้าโครงการอีคอมเมิร์ซชุมชน ไปรษณีย์ไทยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ พร้อมทั้งให้ที่ทำการไปรษณีย์ในแต่ละจังหวัดทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ ภายในจังหวัด รวมถึงสถาบันทางวิชาการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่ได้มาตรฐาน และนำจุดแข็งด้านการขนส่งและระบบไอทีเข้ามาช่วยในการทำงานและไปรษณีย์ไทยจะเป็นช่องทางการขนส่งและกระจายสินค้าให้เกษตรกรไทยด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงระบบพร้อมโพสต์ และเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com รวมไปถึงเครื่องพีโอเอส เพื่อเป็นช่องทางการให้บริการผ่านระบบของ ปณท เดียวกันทั้งหมดภายในสิ้นปี 2560 ตลอดจนใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ และสนับสนุนให้ที่ทำการไปรษณีย์ และไปรษณีย์อนุญาตเอกชน เป็นแหล่งศูนย์กลางของชุมชนในการหาข้อมูลความรู้ พักผ่อน หย่อนใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ไปรษณีย์ไทยจะเติบโตคู่ไปกับชุมชน

"จะอาศัยศักยภาพของไปรษณีย์ไทยที่มีเครือข่ายสาขาที่ทำการไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง มีเครือข่ายคนไปรษณีย์ทั่วประเทศกว่า 30,000 คน มีเครือข่ายเส้นทางการขนส่งไปรษณีย์ มากกว่า 400 เส้นทาง ร่วมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ตามโครงการเน็ตประชารัฐ ใช้ประโยชน์จากช่องทางการจำหน่ายสินค้าไม่ว่าจะจำหน่ายหน้าร้าน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ จำหน่ายผ่านแคตตาล็อก หรือจำหน่ายผ่านระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ ใช้ระบบพร้อมโพสต์ที่ไปรษณีย์ไทย จะพัฒนาระบบบริหาร ณ จุดขาย เพื่อให้เป็นเครื่องมือช่วยประชาชน ชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชนและร้านโชห่วย ใช้ในการบริหารจัดการการขายสินค้าในอนาคตเมื่อชุมชนหรือหมู่บ้าน มีศักยภาพในการผลิตสินค้า การค้าขายที่แข็งแกร่งขึ้น ยังสามารถพัฒนาการทำธุรกิจไปยังช่องทางอื่นๆ ของเอกชนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย"

ดีอีหารือกรมศุลฯ
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ จำกัด (ปณท) กล่าวว่า จากเดิมการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ จุดกระจายสินค้าของไทยจะเป็นบริษัทเอกชนต่างชาติเป็นผู้ให้บริการซึ่งมีการจัดเก็บค่าบริการ 2 ต่อ โดยไม่ได้จัดส่งผ่านปณท ซึ่งในส่วนนี้จะต้องให้ทางกระทรวงดีอี หารือกับกรมศุลกากรว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีกฎหมายระบุไว้ โดยวันที่ 23 มิ.ย.2560 จะร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริษัท เพื่อสรุปแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นดังกล่าว

ทั้งนี้ กรอบความคิดที่จะปรับแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นและระยะยาวนั้น ได้จ้างให้บริษัท ไพรซ์ วอเตอร์ เฮาส์ คูเปอร์ จำกัด (พีดับบลิวซี) ได้รวบรวมข้อมูลและมีผลการศึกษาให้กับปณท ประกอบการตัดสินใจ ในส่วนผลการดำเนินงานปีนี้ของปณทวางเป้าหมายไว้ที่ 25,000 ล้านบาท มีกำไร 3,300 ล้านบาท โดยในงวด 4 เดือนแรกมีรายได้แล้ว 8,800 ล้านบาท มีกำไร 1,200 ล้านบาท