‘อลิอันซ์’ มั่นใจเศรษฐกิจไทย

‘อลิอันซ์’ มั่นใจเศรษฐกิจไทย

"อลิอันซ์" มั่นใจเศรษฐกิจไทย มองประกันชีวิตโต 9.3% ต่อปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์ มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โตมากกว่า 3% ขณะ ธุรกิจประกันชีวิตยังโตต่อเนื่อง แม้ 4 ปีที่ผ่านมาชะลอตัวลง เผยรายได้จากเบี้ยประกันคิดเป็น 4.9% ของจีดีพี ประเมินแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในอีก 10 ปีข้างหน้า โตเฉลี่ย 9.3% ต่อปี

“ไมเคิล ไฮส์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มอลิอันซ์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลัก บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3% ในปีนี้และปีหน้า เป็นผลจากข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่แข็งแกร่ง เช่น ราคาที่แข่งขันได้ ยุทธศาสตร์ที่ตั้ง ตลอดจนความต้องการจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยว

ด้วยหนี้สาธารณะที่คิดเป็นสัดส่วน 43% ของจีดีพี (ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะ 60%) ช่องวางทางการคลังที่มีอยู่ จะถูกใช้เพื่อส่งเสริมการเติบโตในรูปแบบการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ การเดินหน้ายกระดับความเชื่อมั่นของภาคเอกชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับตอนนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจ เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนที่จำกัด รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อ่อนแอและการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอยู่ในอัตราที่ต่ำ

ขณะที่มุมมองในแง่ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย ไฮส์ มองว่า ตั้งแต่ปี 2555 ตลาดประกันในประเทศไทยได้สูญเสียแรงกระตุ้นบางส่วนไป อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.9% ในปี 2559 เป็นการลดลง 4 ปีติดต่อกัน จากตัวเลขเบื้องต้นพบว่าอัตราการเติบโตของยอดเบี้ยประกันในธุรกิจประกันวินาศภัยมีการเติบโตติดลบ (-2.1%) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2542 ขณะที่การเติบโตของประกันชีวิตเติบโตขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 6.6%

แม้จะมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำ แต่รายได้จากเบี้ยประกันภัยคิดเป็น 4.9% ของจีดีพี ถือว่ามีอัตราเติบโตเทียบเท่ากับประเทศเยอรมนี ในส่วนของการใช้จ่ายต่อหัวของประชากร อยู่ที่ 10,290 บาทหรือประมาณ 264 ยูโร ทำให้ประเทศไทยสูญเสียตำแหน่งผู้นำและมีรายจ่ายต่อหัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศจีน ซึ่งเร่งตามมาจากการที่เบี้ยประกันเพิ่มสูงขึ้นถึง 23.1% ในปีที่ผ่านมา

เบี้ยประกันจากธุรกิจประกันชีวิตมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของรายได้จากเบี้ยประกันภัยรวม ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของธนาคารโลกที่พบว่า 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นผู้ใหญ่บอกว่าพวกเขาเก็บเงินออมไว้ใช้ในยามสูงวัย

ทั้งนี้ จากอัตราการพึ่งพาผู้สูงอายุในประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นจาก 15.2% เป็น 52.5% ในปี 2593 เราคาดว่าการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่ออัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันในช่วงทศวรรษหน้า โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 9.3% ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งเรามองเห็นศักยภาพในการเติบโตเฉลี่ยที่ 7.5% ต่อปีไปจนถึงปี 2570

ไฮส์ บอกด้วยว่า แม้ส่วนแบ่งของสินทรัพย์ประกันชีวิตและกองทุนบำเหน็จบำนาญจะเพิ่มขึ้น แต่เงินฝากธนาคารยังคงเป็นสินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนที่มีสัดส่วนมากสุด อยู่ที่ประมาณ 42% ในปี 2559 สินทรัพย์ทางการเงินขั้นต้นของครัวเรือนในประเทศไทยมีมูลค่า 413 พันล้านยูโร (ประมาณ 16.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6,070 ยูโรต่อคน (ประมาณ 236,590 บาท) เมื่อเปรียบเทียบสินทรัพย์ทางการเงินขั้นต้นต่อหัวประชากรในภูมิภาค ไทยติดอันดับ 3 จากท้ายตาราง โดยอยู่อันดับต่ำกว่าจีนและมาเลเซีย แต่ยังคงสูงกว่าอินโดนีเซียและอินเดีย ในส่วนของหนี้สิน ประเทศไทยมีอัตราหนี้สินภาคครัวเรือนสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค โดยในปี 2558 อยู่ที่ 81.6%

ด้านภาวะเศรษฐกิจโลกประจำปี 2560 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ประมาณ 2.8% ในปี 2560 เทียบกับ 2.5% ในปี 2559 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมจะมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีอยู่ที่ 1.9% กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จีดีพีเติบโต 4.1% เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2559 ในประเทศที่พัฒนาแล้วแนวโน้มการเติบโตจะดีขึ้นโดยรวม ในสหรัฐอเมริกา แม้ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ จะเข้ามารับตำแหน่งแล้วหลายเดือน แต่นโยบายในวงกว้างยังคงไม่แน่นอน เมื่อพิจารณาถึงความซับซ้อนของกระบวนการด้านกฎหมายและงบประมาณ ดูเหมือนว่าข้อเสนอทางการเงินหรือนโยบายภาษีที่สำคัญ ๆ จะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2560

เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงส่งผลดีต่อการส่งออกของสหรัฐฯ โดยรวมแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยที่ประมาณ 2% ในปีนี้ ขณะที่ยูโรโซนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป เราคาดว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 1.7%

กลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่คาดว่าจะมีการเติบโตในอัตราเร่งที่ระดับปานกลาง ซึ่งเป็นผลจากการรักษาเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องของประเทศผู้นำของกลุ่มอย่างรัสเซียและบราซิล รวมถึงการฟื้นตัวของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียเกิดใหม่น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีในปี 2560 และ 2561

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์คาดว่าการเติบโตของจีดีพี ในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 6.0% และจะลดลงเหลือเพียง 5.7% ในปี 2561 การเติบโตของจีดีพีได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของประเทศจีนที่แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ยังคงแข็งแกร่ง (6.7% ในปี 2560) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน -5 (4.6%) และอินเดีย (ประมาณ 7%) อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการบริโภคและการใช้นโยบายการคลังที่ดี การส่งออกได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สกุลเงินมีเสถียรภาพและธนาคารกลางในภูมิภาคมีความคล่องตัวมากขึ้นในการมุ่งเน้นการพัฒนาเสถียรภาพทางการเงิน