สรอ.เร่ง 'อีกอฟเวิร์นเม้นท์' ดันกระทรวงเชื่อม 'จีคลาวด์'

สรอ.เร่ง 'อีกอฟเวิร์นเม้นท์' ดันกระทรวงเชื่อม 'จีคลาวด์'

ระบุตามแผน 5 ปีพร้อมพัฒนาสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัวใช้ลดงบลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ปีละ 30%

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ สรอ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงกับระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือจี-คลาวด์ (Government Cloud Service ) แล้ว 772 ระบบ 386 หน่วยงาน โดยกระทรวงสาธารณสุขใช้เชื่อมโยงบริการมากที่สุด 72 หน่วยงาน รองลงมา คือ กระทรวงศึกษาธิการ , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , กระทรวงมหาดไทย ด้านการใช้บริการระบบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้งานมากที่สุด 494 ระบบ คาดว่า จี-คลาวด์จะติดตั้งและเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศครอบคลุมทุกหน่วยงานของรัฐภายในสิ้นปีนี้

จากแผนพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 5 ปี เพื่อมุ่งยกระดับบริการของรัฐด้านแรงงาน การศึกษา สาธารณสุข และบริการประชาชน ทำให้หน่วยงานราชการมีโครงการใหญ่ด้านเทคโนโลยี 80 โครงการใน 26 เรื่องดังกล่าว ทำให้คาดว่าตัวเลขการใช้ จี- คลาวด์จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 772 ระบบ เป็น 2,000 ระบบ นอกจากนี้ ยังคาดจะช่วยลดงบประมาณการลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์10,000 ล้านบาทต่อปีได้ถึง30%

“ถ้าหน่วยงานทำระบบเก็บข้อมูลเอง ต้องใช้งบประมาณจัดซื้อเครื่องแม่ข่าย งบประมาณจ้างบุคลากรมากมายมหาศาล ปี 59 ภาครัฐประหยัดจากการใช้ จี-คลาวด์ ถึง 900 ล้านบาท ยืนยันว่าเรามาถูกทางในการใช้คลาวด์บริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ” นายศักดิ์ กล่าว

นายศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการทำดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งชาติอยู่ระหว่างให้หน่วยงานรัฐกว่า 300 หน่วยงาน สำรวจความต้องการหน่วยงานตัวเองก่อนว่าภายใน 5 ปี ต้องการนำระบบไหน ฝากไว้ที่ดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งชาติที่จะสร้างขึ้น ส่วนไหนให้เอกชนดูแล และส่วนไหนจะเก็บไว้ภายใต้การดูแลของตัวเอง จึงจะทราบว่าควรจะสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ และงบประมาณจำนวนเท่าไหร่

ขณะเดียวกัน สรอ.ได้เตรียมลิสต์รายชื่อใบรับรองมาตรฐานด้านดาต้า เซ็นเตอร์ ให้เอกชนที่ต้องการให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ กับภาครัฐ หากเอกชนที่มีใบรับรองครบถ้วนตามที่ สรอ. กำหนดจะสามารถให้บริการภาครัฐได้

ทั้งนี้ มาตรฐานดาต้า เซ็นเตอร์ ที่สรอ.จัดทำลิสต์นั้นเป็นมาตรฐานสากลที่เอกชนส่วนใหญ่มีอยู่แล้ว เพียงแต่สรอ.จะมีแนวทางให้ชัดเจนมากขึ้น และระบบต้องเชื่อมต่อกับภาครัฐโดยง่าย โดยจะนำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน จากนั้นจะนำเข้าบอร์ดดีอี ซึ่งจะประชุมเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้

ส่วนความคืบหน้าการทำระบบจดทะเบียนธุรกิจผ่านเว็บเดียวตามที่ ครม.มีมติไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรองบประมาณ ซึ่งครม.มีมติให้ของบจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อทำงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ซึ่งกระบวนการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เพราะตามกฎหมายระบุว่า กสทช.ต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งส่งให้ สำนักงานดังกล่าวด้วย 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สรอ.มีบริการ บิส พอร์ทัล (Biz Portal) เชื่อมต่อกับหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน บมจ.ทีโอที การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค การประปานครหลวง อยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกเกือบ 10 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ใน สรอ.ที่จะบูรณาการเอาไว้ในเว็บเดียวคาดว่าอีก 3 เดือนจะมีแนวทางต้นแบบออกมาอย่างแน่นอน