“ฟอร์ติเน็ต”หวังปีนี้โต30%ลั่นนั่งผู้นำโซลูชั่นซิเคียวริตี้

“ฟอร์ติเน็ต”หวังปีนี้โต30%ลั่นนั่งผู้นำโซลูชั่นซิเคียวริตี้

พร้อมหาช่องขยายตลาดใหม่ ส่ง “ซิเคียวริตี้ แฟบริค” เจาะแบงก์ โทรคมฯ หน่วยงานรัฐ

ฟอร์ติเน็ตประกาศตั้งผู้จัดการประจำประเทศไทยคนใหม่ วางเป้าหมายรักษาเก้าอี้ผู้นำตลาดโซลูชั่นความปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมหาช่องขยายตลาดใหม่ ส่ง “ซิเคียวริตี้ แฟบริค” เจาะแบงก์ โทรคมฯ หน่วยงานรัฐ

นายชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ภายหลังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการทุกอย่างในตลาดประเทศไทย สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ พยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ต แชร์) ที่ฟอร์ติเน็ตเป็นผู้นำด้านโซลูชั่นความปลอดภัยไซเบอร์ให้อยู่อันดับ 1 ต่อไป พร้อมทั้งพยายามขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มเติม ทั้งกลุ่มสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มเอสเอสไอ และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีโอกาสอีกมาก

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่กล่าวมา ฟอร์ติเน็ตมีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดเอ็นเตอร์ไพร์ซ นอกจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะแล้ว ปีนี้ฟอร์ติเน็ตจะเพิ่มบุคคลากร และผู้เชี่ยวชาญประจำอีก 2 เท่า อีกทั้งจะพยายามเพิ่มจำนวนพันธมิตรที่มีอยู่ราว 800-900 รายให้มากขึ้นด้วย ขณะที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้อยู่อันดับที่ 1และต้องเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดรวมที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20-30%

“เราได้ปรับโครงสร้างทีมงาน หาวิศวกรลงไปประจำกับลูกค้ารับผิดชอบงานเป็นกลุ่มๆ เป็นรายบริษัทมากขึ้น และเป้าหมายการมารับตำแหน่งใหม่นี้ คือ รักษาอันดับของเราให้อยู่ในอันดับที่ 1 ต่อไปให้ได้” นายชาญวิทย์ ระบุ

ล่าสุด ฟอร์ติเน็ต นำเสนอผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มด้านความปลอดภัย ซิเคียวริตี้แฟบริค ซึ่งเป็นการทำงานแบบเชื่อมโยงระบบถึงกันได้หมด เป็นพื้นฐานความปลอดภัยเครือข่ายที่ทำงานอิงตามความต้องการของผู้ใช้งาน และจะป้องกันองค์กร โดยแฟบริค จะเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมด้านความปลอดภัย ที่ร้อยเรียงถักทอเข้าด้วยกันเหมือนผ้าผืนเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าส่วนประกอบด้านความปลอดภัยและข้อมูลทั่วคลาวด์ทั้งหมด จะถูกรวมเข้าหากันเหมือนผืนผ้าได้อย่างราบรื่น และด้วยซิเคียวริตี้แฟบริคนี้จะทำให้องค์กรสามารถเห็น ควบคุม รวม บริหารความปลอดภัยของข้อมูลได้ทั่วไฮบริดคลาวด์ได้

โดยซิเคียวริตี้แฟบริคของฟอร์ติเน็ต จะให้คุณสมบัติที่สำคัญ 3 ด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการของคลาวด์สมัยใหม่ คือ 1.ทำงานที่เป็นหนึ่งเดียวกันในการสร้างความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์บนคลาวด์ ผู้ดูแลเครือข่ายต้องเห็นอุปกรณ์ทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์แอคเซสพ้อยท์ เอ็นด์พ้อยท์ ดาต้าเซ็นเตอร์ แอพพลิเคชั่น และข้อมูล ทั้งนี้อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เครือข่าย และทูลส์ที่อยู่บนคลาวด์ทุกชิ้น ควรทำงานร่วมกันประหนึ่งเป็นระบบเดียวกัน

2.การทำงานที่เข้ากันควรทำงานแบบหลอมรวม เพื่อให้งานในการบริหาร สามารถจัดการ วิเคราะห์ และสั่งการตอบโต้ได้บนหน้าจอเดียวกันทั้งหมด อาทิ สั่งวิธีการแยกอุปกรณ์ที่ติดการแพร่เชื้อ การจัดแยกส่วนเครือข่ายอย่างคล่องตัว การอัพเดทกฏป้องกันมัลแวร์ และการจำกัดมัลแวร์ได้รวดเร็ว เครือข่ายต้องสามารถโต้ตอบภัยได้เร็วเท่ากับความเร็วที่คุกคามเข้ามา และ 3.การทำงานแบบออโตเมชั่น

สำหรับโซลูชั่นด้านความปลอดภัยทำงานให้กับเครือข่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าบ่อยๆ และมีการโต้ตอบแบบเรียลไทม์กับภัยคุกคามเข้ามานั้น การใช้มาตรการต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ไม่ว่าภัยนั้นจะเกิดขึ้นที่ใด หรือจากอุปกรณ์ใดบนคลาวด์