‘ปุ๋ยละลายช้า’โจทย์จากท้องนา

‘ปุ๋ยละลายช้า’โจทย์จากท้องนา

“ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับนาข้าวแบบใช้ครั้งเดียว” ผลงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการทำนา เพิ่มระยะเวลาการปลดปล่อยปุ๋ยราว 20 วัน จึงไม่ต้องใส่ปุ๋ยซ้ำ เตรียมส่งต่อโรงปุ๋ย 317 แห่งในเครือข่าย วท.

ข้อมูลปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญ ปี 2549-2554 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปี 2554 ปริมาณการนำเข้า 6.1 ล้านตัน มูลค่า 71.8 หมื่นล้านบาท และสูตรปุ๋ยที่นำเข้ามานั้นไม่ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด อีกทั้งคุณสมบัติก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับชนิดของพืช

ตัวช่วยชาวนาไทย

รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า ความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว” ซึ่งเป็นปุ๋ยควบคุมการละลาย ประกอบด้วย ปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารเหมาะกับความต้องการของข้าว ปุ๋ยจะค่อยๆ ปล่อยธาตุอาหารพืช ช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ

“งานนี้เริ่มเมื่อ 4 ปีก่อน จากประสบการณ์ที่เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับโรงปุ๋ยเครือข่าย 317 แห่งทั่วประเทศในเรื่องปุ๋ยอินทรีย์เคมี ซึ่งผ่านการคิดค้นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยละลายช้าหรือปุ๋ยควบคุมการละลาย ประกอบด้วย ปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารตามระยะความต้องการของพืช ปุ๋ยจะค่อยๆ ปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา ช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ แบบค่อยเป็นค่อยไป ลดความเสี่ยงจากภาวะที่พืชอาจได้รับปุ๋ยมากเกินไปในช่วงแรก และช่วงหลังอาจได้รับปุ๋ยน้อยเกินไป จากการที่สารอาหารถูกชะล้างไปลึกกว่าระดับรากพืช จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ สุดท้าย พืชก็จะขาดสารอาหารได้” นักวิจัยกล่าว

ปุ๋ยอินทรีย์เคมีจะปลดปล่อยปุ๋ยเคมีคือ ยูเรีย ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม แล้วหมดในเวลา 15 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ปล่อยปุ๋ยอินทรีย์เป็นเวลาราว 30 วัน ซึ่งชาวนาต้องใส่ปุ๋ยเคมีอินทรีย์นี้ 2 ครั้งต่อ 1 การเก็บเกี่ยว และหากเป็นปุ๋ยเคมีจะใส่ 3 ครั้งต่อการเก็บเกี่ยว ดังนั้น เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถทำนาโดยมีต้นทุนที่ถูกลง ดร.รจนา จึงเริ่มวิจัยและพัฒนาสูตรปุ๋ยที่ใส่เพียงครั้งเดียว ก็เพียงพอที่จะปลดปล่อยปุ๋ยในระยะเวลาที่ข้าวต้องการ และพบว่า สารที่มีศักยภาพในการยืดเวลาการปลดปล่อยได้แก่ ซีโอไลต์ ที่มีความสามารถในการจับหรือแลกเปลี่ยนประจุบวก และกรดซิลิกอนที่จะทำให้ฤทธิ์ของปุ๋ยมีมากขึ้น ทำให้ยืดเวลาการปลดปล่อยได้ถึง 20-30 วัน

นอกจากนั้นปุ๋ยละลายช้ายังมีข้อดีในแง่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ถูกชะล้างจากแหล่งเพาะปลูกลงไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ด้วย ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่มีคุณสมบัติละลายช้า ที่สามารถให้ทั้งสารอินทรีย์ที่สามารถปรับปรุงสภาพดินที่เสื่อมโทรม ให้มีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดีขึ้นทั้งการอุ้มน้ำและการระบายอากาศ พร้อมให้ธาตุอาหารในระดับที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต รักษาระดับผลผลิตให้ไม่แตกต่างกับการใช้ปุ๋ยเคมี

ลดต้นทุนปุ๋ย-ค่าแรง

เดิม ระยะการปลดปล่อยปุ๋ยอินทรีย์เคมีต้องใช้ 2 ครั้งจึงจะครบวงจรการปลูกข้าวที่ 100-120 วัน ทำให้ต้องใส่ 2 ครั้ง แต่สำหรับปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าใส่เพียงครั้งเดียวหลังจากหว่านข้าว 15-20 วัน การปลดปล่อยครั้งแรกจะเพิ่มเป็น 45 วัน แล้วจึงจะปลดปล่อยครั้งที่ 2 ซึ่งจะครอบคลุมหมด โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม

ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียวนี้ จึงช่วยเกษตรกรในแง่ของการลดต้นทุนปุ๋ยและแรงงานคน ทั้งยังสามารถปรับสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย

“เราทดสอบในแปลงทดลองระดับสนาม ตามด้วยทดสอบในแปลงใหญ่ขนาดครึ่งไร่ และทำในพื้นที่จริงโดยกระจายในพื้นที่นาข้าวจังหวัดปทุมธานีที่มีดินต่างประเภทกัน ผลที่ได้คือ ผลผลิตไม่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร จากผลการทดลองในระดับสนามและไร่นาเกษตรกรในเขตพื้นที่ปทุมธานีที่ได้รับผลผลิตประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่” นักวิจัย วว. กล่าว

ปัจจุบัน นักวิจัยเน้นต่อยอดเชิงเทคนิค โดยเตรียมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับโรงปุ๋ยทั้ง 317 แห่งทั่วประเทศ เพราะเป็นการพัฒนาสูตรที่ไม่ยุ่งยาก ใช้สารเพิ่มเพียง 2 ตัว ก็สามารถช่วยเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้