โทษสูงสุดประหาร! เบื้องลึกปปช.ลุยฟัน'วัฒนา เมืองสุข'

โทษสูงสุดประหาร! เบื้องลึกปปช.ลุยฟัน'วัฒนา เมืองสุข'

มีมติชี้มูลเผยโทษสูงสุดประหาร! เบื้องลึกป.ป.ช.ลุยฟัน "วัฒนา เมืองสุข" อดีตรมว.พม. คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร โครงการพาสทีญ่า

แหล่งข่าวระดับสูง จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนา เมืองสุข อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สมัยดำรงตำแหน่งรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับพวก ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ว่ามีพฤติกรรมทุจริตในโครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการที่บริษัท พาสทีญ่า ไทย จำกัด โดยมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ 149

แหล่งข่าวคนดังกล่าว เปิดเผยอีกว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว แต่ อสส. เห็นว่า มีข้อไม่สมบูรณ์ตามข้อกฎหมาย จึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอสส. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ ก่อนส่งฟ้องต่อศาลต่อไป อย่างไรก็ตาม หากคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอสส. หาข้อยุติเรื่องดังกล่าวไม่ได้ ทางป.ป.ช.สามารถนำสำนวนมาส่งฟ้องต่อศาลด้วยตนเองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าว นายวัฒนากับพวกถูกกล่าวหาว่า เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยเริ่มจากการที่บริษัทพาสทีญ่าได้โควตาเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ 7 โครงการ 7,500 ยูนิต มูลค่า 2,500 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสวนพลูพัฒนา โครงการผดุงพันธ์ โครงการนนทบุรี (วัดกู้ 1) โครงการนนทบุรี (วัดกู้ 3) โครงการสมุทรปราการ (วัดคู่สร้าง 1) โครงการปทุมธานี ลำลูกกา คลอง 2 และโครงการกระทุ่มแบน 3 ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติในการเข้าเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ แต่ได้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้สามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้หรือไม่

โดยเรื่องดังกล่าว เริ่มมีการตรวจสอบหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งโครงการทุจริตบ้านเอื้ออาทรเป็นหนึ่งในโครงการอื้อฉาวที่ คตส. เข้าไปตรวจสอบ โดยพบว่ามีหลายโครงการที่ผิดปกติ รวมถึงโครงการที่มีการกล่าวหานายวัฒนาและพวกด้วย

ต่อมา เมื่อคตส.หมดหน้าที่ ได้ส่งสำนวนทั้งหมดที่ยังค้างอยู่มาให้ ป.ป.ช. พิจารณาต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ 149 ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายวัฒนากับพวก บัญญัติว่า มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

ส่วนมาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต