ประชุมศธภ.-ศธจ. เชื่อบูรณาการทำงานทุกฝ่าย แบบอย่างไร้ทุจริต

ประชุมศธภ.-ศธจ. เชื่อบูรณาการทำงานทุกฝ่าย แบบอย่างไร้ทุจริต

ประชุมศธภ.-ศธจ. เชื่อสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษา บูรณาการทุกฝ่าย ขอให้เป็นต้นแบบไร้ทุจริต

การประชุมพัฒนาผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2560 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการปฎิรูปการศึกษาระดับภูมิภาคที่มี ศธภ.และ ศธจ. รู้สึกมีความกังวลเกิดขึ้น เพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเกิดความแตกแยกกันเองในศธ.ระหว่างสำนักงานปลัด.ศธ.กับเขตพื้นที่ รวมถึง การมีศธภ.และ ศธจ.อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา แต่เมื่อเดินหน้าเรื่องดังกล่าวมาถึงจุดนี้ เชื่อว่า ศธภ.และ ศธจ.จะร่วมบูรณาการทำงานกับทุกฝ่ายได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น ความคาดหวังที่มีต่อศธภ.และศธจ.ต้องสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษาให้ได้

ทั้งนี้ ขณะนี้ ศธ.ได้ร่างการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อผ่านการรับฟังความคิดเห็นก็จะนำเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป นอกจากนั้น มีตัวชี้วัดคุณภาพและเกณฑ์การประเมินตนเองให้กับศธภ.และ ศธจ.ด้วย เพราะสามารถทราบถึงสมรรถนะจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ศธภ.และ ศธจ.ต้องติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบ พร้อมกับส่งเสริมงานวิชาการ รวมถึงการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562  และการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ศธ.ได้ปรับการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษารูปแบบใหม่คือสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินเอง จึงเท่ากับว่าไม่มีการทำงานแบบระบบราชการอีกต่อไป แต่จะต้องทำงานเชิงรุกและเป็นระบบมากขึ้น 

ประชุมศธภ.-ศธจ. เชื่อบูรณาการทำงานทุกฝ่าย แบบอย่างไร้ทุจริต “ผมคาดว่าจะดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ 61 และขอย้ำว่าเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายในรูปแบบใหม่ อย่าไปหลงเชื่อว่ามีการรับจ้างประเมิน ขอให้ฟังนโยบายจากส่วนกลางและ สมศ.เท่านั้น โดยแนวทางการประเมินคุณภาพภายในรูปแบบใหม่สถานศึกษาจะเป็นผู้กำหนด และไม่มีการลงไปประเมินซ้ำซ้อน จาก ศธ. และจะไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดอะไรทั้งสิ้น”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลักการเบื้องต้น การประเมินจะเป็นการใช้มาตรฐานเดียวกัน  โดยเมื่อสถานศึกษาประเมินตนเองแล้วให้ส่งผลการประเมินมายังคณะกรรมการที่จะลงไปตรวจสอบ โดยศธ.จะเป็นผู้สนับสนุนและกำกับติดตามเท่านั้น ซึ่งการประเมินจะมีคณะกรรมการจาก 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สมศ. ศธภ.และผอ.โรงเรียนที่เป็นอิสระ ซึ่งผลประเมินนอกจากจะเป็นกัลยามิตร ทำให้เกิดการกำกับเกิดขึ้นได้ ส่วนการปรับหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยให้มีหน่วยงานกลางออกข้อสอบ เช่นเดียวกับการสอบข้าราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยคาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อเริ่มใช้ในการคัดเลือกครูผู้ช่วยในปี 2561

ด้าน พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า ขอให้ศธภ.และ ศธจ.ยุคใหม่ทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบการปราบทุจริต ต้องเข้ามาไล่คนไม่ดีให้หมดไปจากการศึกษา ดังนั้น ขอให้ทุกคนทำงานอย่างโปร่งใส มีความยุติธรรม และตรวจสอบได้ ซึ่งเชื่อว่าหากป้องกันการทุจริตได้ตั้งแต่ขั้นตอนนี้หน่วยงานระดับล่างลงไปก็จะไม่มีใครกล้าทำเรื่องทุจริตอย่างแน่นอน อีกทั้งในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาเป็นกรรมการอย่างหลากหลายจึงทำให้มีการคานอำนาจกัน ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อนที่มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จนทำให้มีการทุจริตเกิดขึ้น