ทายาท “นิธิทัศน์” ฟื้นเพลงอมตะสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล 

ทายาท “นิธิทัศน์” ฟื้นเพลงอมตะสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล 

กาลเวลาที่ผ่านไป อาจทำให้ชื่อของ “นิธิทัศน์ โปรโมชั่น” เลือนหายไปบ้าง แต่หากเอ่ยชื่อนี้การันตีความดังของเพลง-ศิลปิน เพราะในยุค 30 ปีก่อน ใครบ้าง? ที่จะไม่รู้จัก วันนี้ “ทายาท” ขอปัดฝุ่นคอนเทนท์สู่ยุคดิจิทัล ปลุกความหลัง เสิร์ฟแฟนคุณภาพสู่ผู้บริโภค 

ศิลปินชั้นครู ชรินทร์ นันทนาคร,สุเทพ วงศ์คำแหง, สวลี ผกาพันธ์, แม่ผ่องศรี วรนุช เพลงดังที่นิธิทัศน์นำมารวบรวมเป็นโปรเจคอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ทำดนตรีใหม่เพื่อคงคุณค่าเพลงให้ตราตรึงใจผู้บริโภคตลอดไป

แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์, จิ๊บ วสุ แสงสิงห์แก้ว, ติ๊ก ชีโร่ฯ  จะศิลปินเพลงลูกกรุง เพลงสตริง ใครบ้างจะไม่รู้จักชื่อศิลปินระดับตำนานเหล่านี้ ที่เกิดจากบ้านแห่งความสนุกอย่างค่ายเพลง “นิธิทัศน์” ของ“วิเชียร อัศว์วิเศษศิวะกุล” ผู้ปลุกปั้นธุรกิจค่ายเพลงและเอ็นเตอร์เทนเมนท์จนโด่งดังเป็นเบอร์นำเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน

หลังบทบาทเปลี่ยนจากนักธุรกิจไปเป็นนักการเมืองนั่งเก้าอี้ “สมาชิกวุฒิสภา” หรือสว.ในช่วงปี 2539 เป็นต้นไป วิกฤติต้มยำกุ้งเข้ามาเยือน มีค่ายเพลงใหม่เกิดขึ้น จึงทำให้ค่ายเพลงแห่งนี้ลดความร้อนแรง

ทว่า จากวันนี้ถึงวันนี้ เพลงจำนวนมหาศาล รายการโทรทัศน์ที่โด่งดังในยุค ไม่ได้หายไปไหน เพราะทุกชิ้นงานยังถูกเก็บไว้ใน “ห้องสมุดเพลง” ที่บรรดา “ทายาท” ได้กลับเข้ามาปัดฝุ่นตำนานคอนเทนท์ที่มี กรุงเทพธุรกิจ BizWeek จึงถือโอกาสพูดคุยกับ 1 ใน 3 ทายาทแห่งนิธิทัศน์อย่าง “เอ้ อัศว์วิเศษศิวะกุล” ผู้จัดการฝ่ายดิจิทัลคอนเทนท์ และผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิธิทัศน์ เอโอเอ จำกัด ที่จะมาเผยทิศทางธุรกิจของครอบครัวในยุคดิจิทัล

ย้อนไปดูบริษัท นิธิทัศน์โปรโมชั่น หรือนิธิทัศน์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ที่เคยมีในอดีต วันนี้ไม่มีแล้ว แต่เมื่อบรรดาทายาทเรียนจบจากต่างประเทศ ก็กลับมาฟื้นธุรกิจเพลง รายการโทรทัศน์ นำคอนเทนท์ที่มีกลับมาอยู่บน “แพลตฟอร์ม” ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยมี 3 ทายาทในรุ่น 2 ได้แก่ “เอม-โอ๊ต-เอ้ อัศว์วิเศษศิวะกุล ทำงานร่วมกันภายใต้บริษัทใหม่ “นิธิทัศน์ เอโอเอ” ซึ่งมีที่มาจากชื่อพวกเขาทั้งสาม

“รุ่น 2 มาบริหารธุรกิจ จะว่ายาก..ก็ยาก จะว่าไม่ยาก..ก็ไม่ยากเพราะพ่อปูทาง เตรียมของไว้แล้ว ที่เหลือทายาทแค่จัดเพลงใส่จานเสิร์ฟไปถึงผู้บริโภคพื้นที่ต่างๆ ผ่านช่องทางไหน” เธอปูทางการทำงาน และว่า เหล่าทายาทได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบต่างกันไป โดยพี่สาวคนโตจะดูแลฝ่ายผลิตตลอดจน “ทิศทาง” และเป้าหมายของบริษัทโดยรวม ส่วนพี่ชายจะรับหน้าที่เป็นมือการตลาด หาช่องทางนำเพลงไปจำหน่าย ส่วนเธอ ต้องขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์

“เอ้ มาจับงานที่นิธิทัศน์ ด้วยการเข้าไปดูแลบริษัทลูกที่พ่อลงทุนกับเพื่อน เป็นบริษัทขายเพลงเด็กและเพลงธรรมชาติที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ” เธอเล่าจุดเริ่มต้นทำงานและบอกว่า เป็นเวลาร่วม 10 ปีที่เอ้ เข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว แต่หากนับวัยเด็ก เธอได้คลุกคลีอยู่กับการทำงานเพลง ถ่ายมิวสิควิดีโอ การเดินสายแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินในง่าย และด้วยบ้านกับบริษัทอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้ได้สัมผัส เรียนรู้ และ “ซึมซับ” การทำธุรกิจไปในตัว และพ่อเซ็นต์ใบเบิกทางให้ผ่านสู่เส้นทางธุรกิจให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ส่วนสิ่งที่ “พ่อสร้างไว้” คือเพลงที่เป็น “สมบัติ” มหาศาลนำไปต่อยอดได้ เธอบอก “ยุคที่คุณพ่อสร้างนิธิทัศน์ ภาพที่จำได้คือเป็นองค์กรแห่งความสนุก เป็นครอบครัว และด้วยบ้านติดกับที่ทำงาน จึงได้คลุกคลี เห็นเบื้องหลังการทำงานตั้งแต่เด็ก ไปออฟฟิศทีไรก็สนุก แม้กระทั่งทัวร์คอนเสิร์ต ก็จะไปช่วยการ์ดกรองคนเข้ามาบริเวณต่างๆ” เธอย้อนเรื่องราววัยเยาว์

ธุรกิจยุคพ่อเฟื่องฟูมาก ไม่ว่าจะทำเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง ตลอดจนสตริง การทำมิวสิควิดีโอที่ทุ่มทุนสร้าง แต่มาถึงรุ่นลูกโจทย์ธุรกิจเปลี่ยน และนิธิทัศน์ไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนก่อน ในฐาะที่กุมบังเหียนดิจิทัลคอนเทนต์ เธอหมายมั่นว่า“จะทำให้เพลงที่มีเยอะมาก เข้าไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของผู้บริโภค” 

เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย จึงเริ่มทยอย “ถ่ายโอน” คอนเทนท์ที่อยู่ในเทป วิดีโอ ซีดีฯ มาอยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล” จากนั้นก็นำไปเผยแพร่สู่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับฟัง ชม ใน “แพลตฟอร์ม” ต่างๆไม่ว่าจะเป็น Youtube Line Facebook และฟังบนมัลติมีเดีย(Streaming)ทั้ง iTune Joox True Music Spotify เป็นต้น   

“การถ่ายโอนคอนเทนต์ คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะคอนเทนท์เยอะ” โดยการจัดวางคอนเทนต์ใหม่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เพลงลูกกรุงอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล, ลูกทุ่งซูเปอร์ฮิต สุดยอดลูกทุ่งเสียงทอง และเพลงไทยสากล(สตริง)เหล่านี้จะเป็นอาวุธลับที่สร้างรายได้ในยุคดิจิทัล

การรุกช่องทางดิจิทัล เป็นช่วงของการ “ตั้งไข่” ที่เริ่มไม่นานนัก อย่างยูทูปมีช่องเป็นของตัวเองได้เพียง 2 ปี มีผู้กดติดตามหลักหมื่นราย ไลน์เพิ่งสตาร์ทป้อนคอนเทนท์เอ็กซ์คลูสีพ การตั้งเป้าหมายจึงไม่ใหญ่โตนัก ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายที่ฟังเพลงของนิธิทัศน์ ส่วนใหญ่อายุค่อนข้างมาก ฟังเพลง กดไลค์ กดแชร์ แต่ไม่กด “ติดตาม” เพราะข้อจำกัดต่างๆ

“เป้าหมายของเราต้องการส่งเพลงออกไปหาผู้บริโภคให้เยอะสุด และตั้งเป้าหมาย เช่น 3 เดือนต้องเพิ่มยอดคนไลค์ คนรับชม รับฟัง คนติดตาม(Subscribe)ให้ได้เท่าไหร่ นี่เป็น Short term goal ส่วนระยะยาวตั้งเป้าต้องการเพิ่มคนติดตามในช่องยูทูบเป็น 1 ล้านรายภายใน 2 ปี”

ธุรกิจเพลงไม่ตาย ยังขยายตัวได้ แต่ผู้บริโภคเปลี่ยนวิธี แนวการฟัง บนโลกที่ทุกอย่างอยู่บนมือถือ นี่เป็นโจทย์ย้อนกลับมาที่ goal สั้นๆ คือเราจะพยายามส่งต่อเพลง คอนเทนท์ของเราไปยังผู้บริโภคได้อย่างไร และบอกเขาว่า..เรา(นิธิทัศน์)ยังอยู่นะ ยังมีผลงานออกมาเรื่อยๆ”        

การกลับมาทำธุรกิจยุคที่นิธิทัศซบเซา และบริบทธุรกิจเปลี่ยนไป “วิเชียร” ยังคงเป็นกุนซือให้คำปรึกษาทายาท และลูกๆยังขอให้พ่อช่วย “เรียงเพลง” ฮิตให้โดนใจคนฟังเหมือนในอดีต

“พ่อไม่บอกว่าต้องไปทำอะไร แต่คอนเทนท์เรามีคุณค่า มีคุณภาพ ทำยังไงให้คนที่รักผลงานของเรายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในมือและจับต้องได้” นอกจากส่งมอบงานเพลง สิ่งที่พ่อกำชับลูกๆคือการให้คิดดี ทำดี “พ่อจะพูดตลอดว่าการทำดี คนอื่นไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ฟ้ารู้ดินรู้”

การบริหารธุรกิจท่ามกลางโจทย์ที่ไม่เหมือนเดิม การทำงานเอ้ ต้องแข่งขันกับตัวเองตลอดเวลา ต่อสู้และพัฒนาตัวเองยังไงให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพราะภารกิจสำคัญ อยากเห็นนิธิทัศน์กลับมาในวิถีที่เคยเป็นคือการ “ให้เพลงที่มีคุณภาพของค่ายกลับไปอยู่ในใจของผู้บริโภค เมื่อฟังเพลงในอดีต นึกถึงเรานั่นประสบความสำเร็จแล้ว”