รวบแก๊งสกิมเมอร์จีน ติดอุปกรณ์ตู้เอทีเอ็มกทม.-เชียงใหม่

รวบแก๊งสกิมเมอร์จีน ติดอุปกรณ์ตู้เอทีเอ็มกทม.-เชียงใหม่

ตำรวจ สปพ.หรือ191 รวบแก๊งสกิมเมอร์จีน ได้3ผู้ต้องหา ติดตั้งอุปกรณ์โจรกรรมข้อมูลตู้เอทีเอ็ม กทม.-เชียงใหม่

เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 13 มิถุนายน ที่กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.หรือ191) พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบก.สปพ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบก.สปพ. พ.ต.อ.จักรเพชร เพชรพลอยนิล ผกก.สายตรวจ และ พ.ต.อ.กัมพล รัตนประทีป ผกก.สน.ห้วยขวาง ร่วมกันแถลงผลการจับกุม นายจง ฟู่ หัว (Mr.Zhong Fuhua) อายุ 31 ปี สัญชาติจีน นายหลิว หลี่ หมิง (Mr.Liu Liming) อายุ 40 ปี สัญชาติจีน และนายจู ว่าน หลง (Mr.Zhu Wanrong) อายุ 47 ปี สัญชาติจีน พร้อมของกลางเครื่องคัดลอกข้อมูลจากบัตรอิเล็กโทรนิกส์ จำนวน 3 ชิ้น , กล้องวีดีโอบันทึกภาพขนาดเล็ก จำนวน 5 ชิ้น , บัตรอิเล็คโทรนิกส์ จำนวน 10 ใบ , คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค จำนวน 2 เครื่อง , สายเชื่อมต่อข้อมูลสกิมเมอร์ จำนวน 7 สาย และอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการกระทำความผิด ในข้อหา “ร่วมกันมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับให้ได้ข้อมูลในการปลอมหรือแปลง หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้น เพื่อใช้หรือให้ได้ข้อมูลในการปลอมหรือแปลง (ประมวลกฎหมายอาญา ม.269/2)

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.40 น. วันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจงานสายตรวจ 1 ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ห้วยขวาง ทำการจับกุมตัว นายจง ฟู่ หัว ได้ที่บริเวณหน้าตู้เอทีเอ็มของธนาคารไทยพาณิชย์ ทางเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีห้างเซ็นทรัลพระราม 9 แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. ขณะที่นายจง ฟู่ หัว กำลังเก็บอุปกรณ์เครื่องคัดลอกข้อมูล และกล้องวีดีโอขนาดเล็กออกไปจากตู้เอทีเอ็มดังกล่าว พร้อมของกลาง อุปกรณ์เครื่องคัดลอกข้อมูลจำนวน 1 ชิ้น กล้องวีดีโอขนาดเล็ก จำนวน 1 เครื่อง ที่ดัดแปลงไว้สำหรับติดกับตู้เอทีเอ็ม และบัตรอิเล็กโทรนิกส์อีก จำนวน 6 ใบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนขยายผล จนสามารถจับกุมตัวผู้ร่วมขบวนการที่เหลือได้คือนายหลิว หลี่ หมิง และ นายจู ว่าน หลงพร้อมกับของกลาง เป็นเครื่องคัดลอกข้อมูลบัตรอิเล็คโทรนิกส์ จำนวน 2 ชิ้น, กล้องวีดีโอขนาดเล็ก จำนวน 4 ตัว, สายเชื่อมต่ออุปกรณ์สกิมเมอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิด อยู่ในกระเป๋าเดินทางของผู้ต้องหาขณะกำลังขึ้นรถแท๊กซี่เพื่อหลบหนี ที่บริเวณหน้าบริเวณหน้าอาคารไนซ์ แมนชั่น ซ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 20 แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. นอกจากนี้มีผู้ต้องหาสามารถหลบหนีไปได้ 1 คน คือ นายซ่ง เลี่ยง หมิง (Mr.Zhong Lang Ming) สัญชาติจีน 

จากการสอบสวน นายจง ฟู่ หัว ให้การรับสารภาพว่า ตนเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยเดินทางเข้ามาพักอาศัยกับ นายจู ว่าน หลง ที่ไนซ์ แมนชั่น ห้อง 821 ซึ่งมีหน้าที่เดินเก็บเครื่องคัดลอกบัตรอิเล็คโทรนิกส์ และกล้องวีดีโอขนาดเล็ก ที่ติดตั้งไว้บริเวณตู้เอทีเอ็มที่เป็นเป้าหมาย แล้วนำไปเก็บไว้ที่ห้องพัก โดยจะมีนายซ่ง เลี่ยง หมิง ซึ่งหลบหนีไปได้เป็นคนชักชวน ส่วนนายหลิว หลี่ หมิงให้การว่า ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับนายซ่ง เลี่ยง หมิง มีหน้าที่นำอุปกรณ์ไปติดที่ตู้เอทีเอ็มที่เป็นเป้าหมาย ทั้งนี้นายซ่ง เลี่ยง หมิง มีพฤติกรรมเห็นหัวหน้าขบวนการ ส่วนนายจู ว่าน หลง ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพียงแต่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเท่านั้น โดยพักอยู่ห้องเดียวกับ นายจง ฟู่ หัว

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจสอบหนังสือเดินทางของผู้ต้องหา พบว่าได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ควบคุมตัวผู้ถูกจับทั้ง 3 คน พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้จากการสอบสวนเพิ่มเติมทำให้ทราบว่า คนร้ายชาวจีนกลุ่มนี้ จะใช้อุปกรณ์และมีแผนประทุษกรรมในลักษณะเดียวกันทั้งหมดในการก่อเหตุ โดยมีหลักฐานเชื่อมโยงว่าคนร้ายกลุ่มนี้ ยังได้ก่อเหตุในลักษณะนี้อีกหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้น่าจะมีผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ ที่ยังหลบหนีอยู่ ทั้งนี้ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อร่วมมือกันติดตามจับกุมกลุ่มคนร้ายแก๊งค์สกิมเมอร์ชาวจีน โดยเฉพาะ นายซ่ง เลี่ยง หมิง (Mr.Zhong Lang Ming) ที่กำลังหลบหนีอยู่ และจะได้ดำเนินการเพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับ และติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้านนายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูล พบว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการก่ออาชญากรรมในลักษณะดังกล่าวเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยกรณีนี้ถือว่ามีความเสียหายหนักที่สุด ทั้งเงินและชื่อเสียงของประเทศ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ โดยหลังการจับกุม ยังไม่พบมูลค่าความเสียหาย เนื่องจากตำรวจสามารถจับกุมและยึดเครื่องสกิมเมอร์ (Skimmer) ได้ก่อนที่คนร้ายจะกลับจีน จากข้อมูล กลุ่มคนร้ายสามารถได้ข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์กว่า 200 ใบต่อวัน และสามารถทำได้ทุกธนาคาร ตัวเงินเกินหลัก 10 ล้านบาท และเมื่อได้ข้อมูลแล้ว สามารถนำไปกดเงินได้ทุกประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตามขอประชาชนอย่าเป็นกังวล เจ้าหน้าที่ธนาคารจะทำการตรวจสอบข้อมูลการใช้เงิน หากพบว่าผิดปกติ จะระงับและตรวจสอบทันที หากเกิดความเสียหาย ธนาคารจะดูแลในส่วนนี้ให้ และแม้ว่าจะมีวิธีการป้องกันเบื้องต้น แบบใช้มือป้องเวลากดรหัส แต่คนร้ายก็ยังสามารถขโมยข้อมูลด้วยวิธีอื่นได้