'บิ๊กตู่' นัดถกปัญหาพลังงาน 19 มิ.ย.นี้

'บิ๊กตู่' นัดถกปัญหาพลังงาน 19 มิ.ย.นี้

"อารีพงศ์" เผย "นายกรัฐมนตรี" นัดถกปัญหาพลังงาน 19 มิ.ย.นี้ เตรียมนำประเด็นที่ติดขัดเข้าหารือเพื่อแก้ไขต่อไป

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันที่ 19 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีให้นำเรื่องที่ติดขัดของกระทรวงพลังงานเข้าไปหารือ ซึ่งกระทรวงฯ อยู่ระหว่างรวบรวมประเด็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป โดยประเด็นต่าง ๆ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับความมั่นคงพลังงาน รวมถึงปัญหาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ขณะนี้ 7 บริษัทต้องหยุดสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หลังกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์นอกเหนือพื้นการทำการเกษตร

"ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและและสหกรณ์ อย่างใกล้ชิดรวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด โดยอาจจะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรของประเทศได้" นายอารีพงศ์ กล่าว

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า พื้นที่แหล่งปิโตรเลียมที่มีการสำรวจและผลิตทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ส.ป.ก.หลายพื้นที่ได้สัมปทานก่อนที่จะมีการกำหนดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. แต่เมื่อมีคำสั่งศาลฯ ก็ต้องหยุดดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดกับกฏหมายอื่น โดยแนวทางจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขกฎหมายหรือจะใช้มาตรา 44 หรือไม่ คงต้องรอผลจากการพิจารณาของนายวิษณุ ที่จะเสนอแนะนายกรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศนั้น ก็พบว่าหลายประเทศสามารถพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่เกษตรร่วมกันได้

นายอารีพงศ์ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการออกกฏหมายในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ......ว่า ขณะนี้ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายต่าง ๆ รอประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยกรณีของภาคประชาชนได้ไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุดศาลฯ เองก็ไม่ได้รับคำร้องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในช่วง 3 ปีของ คสช.ปัญหาด้านพลังงานมีหลากหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เกิดจากการคัดค้านของเครือข่ายภาคประชาชน เช่น คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน การเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม จนทำให้โครงการล่าช่าและการเดินหน้าไม่เป็นไปตามแผน จนหวั่นจะเกิดวิกฤติก๊าซฯ ในปี 2564-2566