‘Promoting I’โอกาสเกิดธุรกิจชีววิทย์ฯ

 ‘Promoting I’โอกาสเกิดธุรกิจชีววิทย์ฯ

นาโนโปรวิตามินเอ แผ่นโปรตีนไหมเคลือบสารชีวภาพรักษาแผล มาสก์ไบโอเซลลูโลส ผลงานวิจัยที่นำเสนอใน เวทีจับคู่ทางธุรกิจหวังแจ้งเกิดสตาร์ทอัพชีววิทยาศาสตร์

นาโนโปรวิตามินเอ แผ่นโปรตีนไหมเคลือบสารชีวภาพรักษาแผล มาสก์ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าว เครื่องดื่มเปปไทด์สกัดจากเห็ดลม ชีวภัณฑ์ที่ใช้ผลิตผักไฮโดรโพนิกส์ ตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำเสนอในโครงการ “การส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้านการลงทุน” ครั้งที่ 2 เวทีจับคู่ทางธุรกิจหวังแจ้งเกิดสตาร์ทอัพชีววิทยาศาสตร์ เจ้าภาพโดยทีเซลส์


วัตถุประสงค์ของงาน มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยผลักดันผลงานของตนเองให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ เพราะโมเดลภาพรวมธุรกิจของโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทย ต่อจากนี้ไปส่วนเล็กๆ ที่คิดว่าไม่สำคัญจะกลับกลายเป็นส่วนสำคัญที่มีบทบาทหรืออำนาจมากที่สุด ยกตัวอย่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่กำลังจะกลายเป็นหัวหอกกำหนดทิศทางอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพรายเล็ก

เทคโนโลยีสูงถูกใจสตาร์ทอัพ


ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานวิจัยนาโนโปรวิตามินเอ กล่าวว่าวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการใช้กรดวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารต่อต้านริ้วรอยที่ดีที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องของการแพ้ เช่น มีอาการคัน รอยดำและความไม่เสถียรทางเคมีทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุสั้น จึงได้ออกแบบทางเคมีควบคู่กับการจัดตัวของสายพอลิเมอร์สร้างอนุภาคนาโนโปรวิตามินเอขึ้น
อนุภาคที่ได้มีความเสถียรสูง และสามารถปลดปล่อยอนุพันธ์วิตามินเอออกมาได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อสัมผัสกับผิวหนัง ทำให้สามารถแก้ปัญหาการแพ้ได้

เนื่องจากไม่มีช่วงความเข้มข้นสูงเกินไปหลังทา และแก้ปัญหาการสลายตัวได้ เพราะจะปลดปล่อยที่ค่าความเป็นกรดเบสของผิวผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นได้ผ่านการทดสอบการแพ้ครบถ้วนทั้งในสัตว์ทดลอง และการทดสอบสมบัติการต่อต้านริ้วรอยทั้งในระดับเซลล์สัตว์ทดลองโดยสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาสาสมัครโดยแพทย์ผิวหนัง ซึ่งพบว่าใน 12 สัปดาห์ การใช้งานที่ปริมาณเท่ากัน อนุภาคนาโนโปรวิตามินเอให้ผลลดริ้วรอยได้ดีกว่ากรดวิตามินเออย่างชัดเจน แต่ไม่ทำให้เกิดการแพ้


องค์ความรู้นี้สามารถนำไปประยุกต์เป็นเครื่องสำอาง และพัฒนาต่อเป็นยารักษาสิวได้ ขณะเดียวกัน นักวิจัยสามารถที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับไมโครนีเดิลส่งผ่านนาโน โปรวิตามินเอลงสู่ผิวหนังในระดับลึก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทันทีหลังการใช้ คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 1 ปี ก่อนขยายผลในระดับอุตสาหกรรม


“งานวิจัยนาโนโปรวิตามินเอ สามารถนำไปต่อยอดทำเป็นเครื่องสำอางได้เลย แต่ถ้าในระดับไมโครนีเดิลควรจะเป็นสตาร์ทอัพหรือเหมาะกับการนำไปใช้ผ่านทางคลินิก ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ขึ้นทุกวันและเหมาะที่จะนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยนี้เข้าไปใช้มากกว่าการทำเป็นแมสโปรดักส์ที่จำหน่ายในร้านขายยา หรือซูเปอร์มาร์เก็ต”


ศุภศร กล่าวต่อว่า แนวทางการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพในฐานะนักวิจัยจะโฟกัสงานวิจัยเพื่อนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้งานได้เต็มที่ในแง่การผลิต แต่ในเรื่องการบริหารจัดการและการตลาดต้องมีพาร์ทเนอร์ที่มีประสบการณ์เข้ามาสนับสนุน หรือเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญซึ่งส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมทั้งบุุคลากรและอุปกรณ์


ดึงวิจัยในมหาวิทยาลัย


นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลักดันผู้ประกอบการในกลุ่มชีววิทยาศาสตร์ไลฟ์สไตล์ ทั้งด้านสุขภาพ นวัตกรรมทางการแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เนื่องจากมีนักวิจัยที่มีพื้นฐานองค์ความรู้แข็งแกร่งพร้อมกับผลงานวิจัยดีๆ จำนวนมากทั้งจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐ ที่สามารถนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน


ธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์ต้องอยู่บนพื้นฐานองค์ความรู้และใช้เวลานานในการพัฒนานวัตกรรม สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงจะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและยากต่อการลอกเลียนแบบ สิ่งที่ทีเซลส์ทำ คือคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีความเป็นเลิศและพร้อมจะต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้มีโอกาสพิชชิ่งในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน (Promoting I (Innovation) with I โดยให้นักวิจัยขี้นเวทีนำเสนอแผนงาน 5 นาที และถามตอบอีก 5 นาที กิจกรรมครั้งนี้ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะต่อยอดเทคโนโลยีและการลงทุนในอนาคต