ปรุงเมนูท้องถิ่น เที่ยวสุดฟิน กับ ‘Cookly’

ปรุงเมนูท้องถิ่น เที่ยวสุดฟิน กับ ‘Cookly’

การโฟกัสทำเรื่องเดียวสามารถสร้างแบรนด์ ทำการตลาดไปในทิศทางเดียวกัน สร้างภาพที่ชัดได้เร็ว

ต้องการสร้างมิติใหม่ของการท่องเที่ยว โดยให้นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น และได้สัมผัสรสชาติของแต่ละประเทศอย่างแท้จริงผ่านการ “ทำอาหาร” “เบนจามิน ออซสะไน” (ซีอีโอ) กับ “เอเทียน มาร์โล แรงคอร์ท” (ซีโอโอ) ก่อตั้ง Cookly ขึ้นมาด้วยแนวคิดนี้

สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ชอบ “ฉายเดี่ยว” ไม่เที่ยวกับทัวร์ที่เป็นหมู่คณะหรือ “ชะโงกทัวร์” ซึ่งว่ากันว่าการเที่ยวคนเดียว (Solo Traveller) และการท่องเที่ยวแบบอิสระ FIT (Foreign Individual Tourism) เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง เพราะนักท่องเที่ยวสามารถวางแผนตารางกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อไปเรียนรู้สัมผัสสถานที่และวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน ประเพณี อาหาร ภาษาของแต่ละท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ..ถ้าจะให้ลึกซึ้งจริงๆ ก็ต้องถึงขั้นได้ “ลงมือทำ”

ซึ่งร้อยทั้งร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวได้มาลิ้มลองอาหารไทยก็มักจะชื่นชอบ และมักอยากจะรู้ถึงสูตรเด็ดเคล็ดลับ ต้องบอกว่า ในฐานะของนักท่องเที่ยวและนักชิมชาวฝรั่งเศสและแคนาดาอย่าง เบนจามิน และ เอเทียนเองก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่พบว่าการค้นหาและจองคลาสเรียนของโรงเรียนสอนทำอาหารที่ดี มีคุณภาพกลับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอย่างเหลือเชื่อ

ที่สุดพวกเขาก็ได้ “โกวิท เจริญรัชตพันธุ์” (ซีทีโอ) เข้าร่วมทีมมาทำหน้าที่พัฒนา Cookly ให้เป็นออนไลน์ มาร์เก็ตเพลสเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มองหาและต้องการจองคอร์สเรียนของโรงเรียนสอนทำอาหาร อีกทั้งยังให้ผู้ประกอบการ รวมถึงองค์กรต่างๆสามารถใช้ในการโปรโมทกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นทุกชนิด ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่น

Cookly ประเดิมเริ่มต้นที่เมืองไทยเป็นตลาดแรก แต่ใช้เวลาไม่ทันข้ามปีก็สามารถขยายไปยังเวียดนาม ,เกาะบาหลี อินโดนีเซีย,ญี่ปุ่น ,กัมพูชา,มาเลเซีย,อิตาลี ล่าสุดก็คือ ฝรั่งเศส แน่นอนว่าอาหารของแต่ละประเทศที่กล่าวมาต่างก็ได้รับการยกนิ้วว่าอร่อยเป็นที่ถูกใจของชาวโลก ซึ่งพวกเขาบอกว่าเร็วๆนี้มีแผนจะเร่งขยายไปยังกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ และแคนาดาด้วย

ในหมายเหตุว่า พวกเขามองว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูง เนื่องจากตลอดทั้งปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็ออกมาเปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ ประเทศไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวราว 7.34 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 9% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า จีดีพี หรือดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศด้วยซ้ำไป

ถามว่าระยะเวลาปีกว่าๆที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนอะไร อย่างไรมาบ้าง พวกเขาบอกว่าแน่นอนในแง่เทคโนโลยีย่อมต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น ในขณะที่แกนเดิมซึ่งต้องการเป็นแพลตฟอร์มให้นักท่องเที่ยวสามารถจองคอร์สเรียนทำอาหารท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดนั้นยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน Cookly จะไม่ไปทำในเรื่องอื่นๆที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาหาร และต้องเป็นอาหารท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศอย่างแท้จริง

เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางไปที่ประเทศไทย ถ้าในกรุงเทพก็จะได้เรียนคลาสทำผัดไทย ต้มยำกุ้ง และแกงเขียวหวาน แต่ถ้าไปต่างจังหวัดในภาคอีสานก็จะได้ลงเรียนคลาสสอนทำยำไข่มดแดง หรือกุ้งเต้น แต่ถ้าเดินทางไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นก็จะได้เข้าเรียนคลาสทำราเมน หรือซูชิ เป็นต้น

ประการสำคัญต้องเรียนกับโรงเรียนสอนทำอาหารมืออาชีพเท่านั้น

ซึ่งต้องบอกว่า ก่อนหน้านั้นทีมงาน Cookly ใช้เวลาพอสมควรในการสำรวจและคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเมนูอาหาร สถานที่ในการสอน รวมถึงภาษาที่ใช้สื่อสารซึ่งต้องเป็น “ภาษาอังกฤษ” เนื่องจากลูกค้าทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ

พวกเขาบอกว่าเพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดของลูกค้าจำเป็นต้องมี “จุดโฟกัส” มีอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การเป็นสตาร์ทอัพทำให้มีทรัพยากรที่จำกัด ทั้งกำลังคน เวลา เงินทุน ฯลฯ การโฟกัสทำในเรื่องเดียวอาจมีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งผลดีก็คือทำให้สามารถสร้างแบรนด์ และทำการตลาดไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ลูกค้าเห็นภาพที่ชัดเจนได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ว่ากันว่าในการทำธุรกิจจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง ต้องเอาไข่ซึ่งเปรียบเป็นเงินไปวางในหลายๆตระกร้า ถ้าไข่ตระกร้านี้แตกก็ยังมีไข่ตะกร้าอื่นเหลืออยู่ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่าฟีดแบ็คของนักท่องเที่ยวภายหลังที่ใช้บริการ Cookly มีความพึงพอใจ เรียกว่าคะแนนที่ได้แทบจะเต็มร้อยเลยทีเดียว คือไม่มีการร้องเรียนหรือเรียกเงินค่าเรียนคืน ประการสำคัญนักท่องเที่ยวยังมีการแชร์ประสบการณ์ต่ออีกด้วย ซึ่ง“ปากต่อปาก” ถือเป็นการตลาดที่ค่อนข้างทรงพลัง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการแพลตฟอร์มมาจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก มีอายุระหว่าง 25 -35 ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงราว 60% เป็นผู้ชาย 40% ในที่นี้ก็มีทั้งที่มาเดี่ยว เป็นคู่รักกัน เป็นกลุ่มเพื่อน กระทั่งมากันเป็นครอบครัว ขณะที่รายได้ของ Cookly ไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยวแต่เป็นค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับจากโรงเรียนสอนทำอาหาร

ล่าสุด Cookly เป็น 1 ใน 12 ทีมสตาร์ทอัพที่ได้ร่วมโครงการ “ดีแทค แอคเซเลอเรท ปี 5” อย่างไรก็ดีในปีที่ผ่านมาก็เคยเข้าโครงการบ่มเพาะของเมจิค ประเทศมาเลเซียมาแล้ว พวกเขาบอกว่าครั้งนั้นเหมือนเป็นการสร้างรากฐานช่วยทำให้การเริ่มต้นได้ถูกต้อง ถูกวิธี แต่การเข้า ดีแทค แอคเซเลอเรท จะช่วยสนับสนุนได้เป็นอย่างดีในสเต็ปที่มุ่งในเรื่องของการเติบโต เนื่องจากได้รับการยอมรับทั้งเรื่องของหลักสูตร,เมนเทอร์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ใครๆ ก็รู้ว่าดีแทคนั้นอยู่ภายใต้ “เทเลนอร์” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่และมีเครือข่ายทั่วโลก

เมื่อให้มองถึงความท้าทาย พวกเขาบอกว่าโลกที่หมุนไวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สื่อที่เปลี่ยนจากหนังสือคู่มือมาเป็นดิจิทัล ตลอดจนคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มจองเรียนอาหารหรือไปดำน้ำ ที่สุดก็เป็นการช่วงชิงเวลาและความสนใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้นเป้าหมายต้องการขยายให้ครอบคลุมตลาดโลก มีความจำเป็นที่ Cookly ต้องคอนโทรลและคัสโตไมซ์เพื่อหาทางตอบโจทย์ความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของดีมานด์ หรือนักท่องเที่ยว และฝั่งของซัพพลายหรือโรงเรียนสอนทำอาหาร

พวกเขาบอกว่า โลกปัจจุบันนี้ทำให้ใครๆต่างก็สามารถก้าวมาเดินบนเส้นทางของสตาร์ทอัพได้ เพียงแค่มีไอเดียดี ๆที่ช่วยแก้ปัญหาของคนของโลกได้ ซึ่งอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพประเทศไทยเองก็เริ่มดีวันดีคืน แต่ถ้าให้เทียบกับหลายๆประเทศก็อาจยังดูโหดร้ายกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของการระดมทุนที่ยังทำได้ยาก แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่ามีข้อดี เพราะเป็นเหมือนกฏของธรรมชาติ ที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่รอดได้ก็ต้องอาศัยความถึก ความอดทน และต้องปรับตัวเก่ง ไม่เช่นนั้นสตาร์ทอัพก็จะอยู่ไม่รอด ต้องล้มหายตายไปตั้งแต่ช่วงแรกๆ