Whitewash สำรวจความทรงจำแห่งการชำระล้าง

Whitewash สำรวจความทรงจำแห่งการชำระล้าง

ความทรงจำเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ของเด็กหนุ่มอายุ 15 ที่ไม่สนใจการเมือง และมีอคติด้านลบต่อผู้ชุมนุม ต่อเมื่อหลังรัฐประหารปี 2557 เขาก็ฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา

ความทรงจำเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ของเด็กหนุ่มอายุ 15 ที่ไม่สนใจการเมือง และมีอคติด้านลบต่อเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของเขาเดือดร้อน ต่อเมื่อเวลาผ่านไป การรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเฉพาะในช่วงชีวิตของเด็กหนุ่มอย่างเขา ทำให้เกิดความสงสัย และกลับไปสำรวจว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ซึ่งหล่อหลอมและชำระล้าง จนสร้างประชาชนที่มีความคิดในรูปแบบหนึ่งขึ้นมา หฤษฏ์ ศรีขาว ปะติดปะต่อความทรงจำระดับปัจเจกสะท้อนถึงโครงสร้างของสังคมที่ชวนตั้งคำถาม

Whitewash สำรวจความทรงจำแห่งการชำระล้าง

จุดเริ่มต้น Whitewash – ไร้มลทิน

งานนี้เปรียบเหมือนบันทึกการเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองของหฤษฏ์ ย้อนไปยังเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553

“ตอนนั้นผมอายุ 15 มีการปะทะกันของผู้ชุมนุมกับทหารตรงหน้าอนุสรณ์สถาน รังสิต ซึ่งอยู่ตรงทางกลับบ้านของผม ทำให้ผมต้องไปนอนบ้านเพื่อน ตอนนั้นเป็นตอนกลางคืน ผมต้องเดินไกลมาก ระหว่างทางทุกอย่างวุ่นวายไปหมด เหตุการณ์นั้นเป็นเหมือนฝันร้ายของผม แต่ในช่วงนั้นผมก็ไม่ได้สนใจการเมือง และมีอคติต่อกลุ่มผู้ชุมนุม หลังจากสลายการชุมนุม ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่จำได้คือกิจกรรมที่ผมกับแม่ เพื่อนๆ แม่ และเพื่อนผม ไปทำความสะอาดหน้าเซ็นทรัลเวิร์ล จำบรรยากาศตอนนั้นได้ มีการแจกน้ำ แจกขนม ทุกคนยิ้มให้กันสนุกสนาน จำห้างที่โดนเผา และรูปปั้น The Head จำได้แค่นั้น

“หลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุด ผมอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว ผมรู้สึกว่าแปลกๆ มีรัฐประหารบ่อยมากในช่วงชีวิตผมที่ผมจำได้ ผมจึงเริ่มกลับไปศึกษาเกี่ยวกับการเมืองในประเทศ ก็พบว่าจริงๆ แล้วเหตุการณ์ที่ผมไปทำความสะอาดหน้าลานเซ็นทรัลเวิร์ล เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น มีการสลายการชุมนุมที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นความรู้สึกผิด ช็อคที่ผ่านไป 5 ปีแล้ว เพิ่งมารับรู้เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่มีคนตายเกือบร้อยคน ผมก็เลยสร้างเป็นชุดนี้ขึ้นมา”

Whitewash สำรวจความทรงจำแห่งการชำระล้าง

เก็บตกชิ้นส่วนที่หายไป

เดิมทีงานชุดนี้หฤษฏ์ตั้งต้นจากมุมมองส่วนตัว โดยจะพูดถึงช่วงชีวิตวัยรุ่น สมัยมัธยม แต่เมื่อมาประจวบกับความคิดหลังรัฐประหาร ปี 2557 เขาจึงคิดว่าการเมืองคือชิ้นส่วนหนึ่งที่ขาดหายไป และยังเป็นชิ้นส่วนหลักที่มีผลต่อชีวิตด้วย

“ผมพยายามย้อนกลับไปประกอบสร้างความทรงจำขึ้นมาใหม่ อย่างผมพาเพื่อนมัธยมกลับไปทะเลที่เคยไปด้วยกัน เพื่อพยายามที่จะประกอบสร้าง ปลอมแปลงความทรงจำสมัยมัธยม ในช่วงปี 53 ขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นก็ขยับไปสู่การถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ที่เคยไปกับโรงเรียน โรงเรียนเตรียมทหาร นรกจำลองในวัด ท้องสนามหลวง ทุกสถานที่ในงานชิ้นนี้ นักเรียนมัธยมจะถูกคุณครูพาไป”

Whitewash สำรวจความทรงจำแห่งการชำระล้าง

กระบวนการ “สอน” ในโรงเรียนนั้นราวเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีขึ้นเพราะชำระล้างมลทินบางอย่าง หฤษฏ์จึงให้ชื่อว่า Whitewash ซึ่งไม่เพียงเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ Big Cleaning Day ที่เขาได้เข้าร่วม ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการล้างคราบความจริงบางอย่างแล้ว งานนี้ยังพูดถึงแนวคิดเรื่องบุญ บาป และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เหมือนชะล้างมลทินบางอย่างออกไป เพื่อสร้างเป็นอะไรบางอย่างที่เกลี้ยงเกลา ขาวสะอาดขึ้นมาใหม่

ระหว่างการทำงานชุดนี้หฤษฏ์สร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดภายในตัวเขาเอง และเมื่อถูกสื่อสารออกมาก็ทำให้เราเห็นภาพโครงสร้างของสังคมโดยรวมได้

“มันเริ่มจากตัวผมก็จริง แต่ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม เคยเป็นเด็กมัธยมคนหนึ่งที่ถูกโรงเรียนพาไปสถานที่ต่างๆ ถูกปลูกฝังความคิดบางอย่าง และมีความคิดเห็นที่มองเพื่อนมนุษย์ในประเทศด้วยอคติ ซึ่งผมมองว่าเด็กมัธยมทุกคนก็ผ่านกระบวนการนี้เหมือนกัน เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เด็กโตขึ้นแล้วจะมองโลกอย่างไร”

Whitewash สำรวจความทรงจำแห่งการชำระล้าง

กระบวนการสื่อความคิด

เพราะงานนี้สื่อถึงกระบวนการบิดเบือนข้อมูล หรือศัลยกรรมทางความคิด นอกจากการถ่ายภาพโดยไม่แต่งเติมอะไรแล้ว อีกเทคนิคที่หฤษฏ์นำมาใช้คือการตัดแต่งภาพด้วยมือ “ผมชอบวิธีการตัดต่อภาพยุคหลังสตาลิน ที่เป็นการตัดภาพด้วยมือ ซึ่งจะยังหลงเหลือรอยของการตัดต่ออยู่” เขาไม่ใช้โปรแกรม Photoshop ในการแต่งภาพเลย แต่เลือกที่จะตัด ปะ เจาะรู ลอกฟิล์ม เผาใหม่ ถ่ายซ้ำ เพราะต้องการให้เห็นร่องรอยของการปลอมแปลง ซึ่งสื่อตรงไปที่แนวคิดของงาน

  Whitewash สำรวจความทรงจำแห่งการชำระล้าง

การเมือง ความทรงจำที่ไม่อาจเมินเฉย

คนรุ่นเดียวกับหฤษฎ์ยังไม่เคยเลือกตั้งเลย ต่อให้เติบโตขึ้นจากความเป็นเด็กซึ่งไม่สนใจการเมือง เข้าสู่วัยที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมือง เมื่ออายุถึงเกณฑ์เลือกตั้งได้แล้ว แต่ภายใต้การปกครองที่ไม่มีการเลือกตั้ง พวกเขาและเพื่อนๆ ถูกกีดกันออกไปให้รู้สึกแปลกแยก ฉะนั้น ต่อให้งานชุด Whitewash ไม่ได้พูดถึงการเมืองเท่านั้น และตั้งต้นด้วยมุมมองที่เป็นปัจเจกแต่เขาก็คือส่วนหนึ่งของสังคม มันย่อมสะท้อนไปสู่โครงสร้างหลักอยู่ดี

นิทรรศการ Whitewash จัดแสดงที่ Gallery Ver ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2560