จี้รัฐเจรจาธุรกิจออนไลน์ให้ชัด หวั่นภาษีฯ กระทบผู้บริโภค

จี้รัฐเจรจาธุรกิจออนไลน์ให้ชัด หวั่นภาษีฯ กระทบผู้บริโภค

สมาคมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ชี้รัฐต้องเจรจาร่วมกับผู้ให้บริการธุรกิจออนไลน์ระดับโลกให้ชัดเจน ระบุมาตรการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ โดยให้อำนาจแบงก์ หัก ณ ที่จ่าย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

สมาคมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ชี้รัฐต้องเจรจาร่วมกับผู้ให้บริการธุรกิจออนไลน์ระดับโลกให้ชัดเจน ระบุมาตรการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ โดยให้อำนาจแบงก์ หัก ณ ที่จ่าย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สกัดเงินไหลออกนอกประเทศ ปีละกว่า 2.5 หมื่นล.ขณะที่ยังหวั่น ภาษีใหม่อาจทำให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้า บริการ ภาระตกกับผู้บริโภคซื้อสินค้า บริการแพงขึ้นรัฐต้องบาลานซ์เจรจาเงื่อนไขให้ดี

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การเตรียมออก กฏหมายจัดเก็บภาษีออนไลน์ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะในต่างประเทศเอง ก็หาโมเดลในการจัดเก็บภาษีผู้ให้บริการระดับโลกเหล่านี้เช่นกัน โดยส่วนตัวมองว่า รัฐต้องหาวิธีเจรจากับผู้ให้บริการเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะมาตรการจัดเก็บภาษี น่าจะดีกว่าโมเดล เช่น การบังคับให้บริษัทเหล่านี้ มาเปิดบริษัทในไทย ซึ่งคงยาก

ส่วนการจัดเก็บภาษี มองได้ 2 มุม คือ ผู้ให้บริการยอมทำตามกฏหมาย คือ ใช้เพย์เม้นท์ เกตเวย์ของธนาคารในไทย ซึ่งธนาคารไทยสามารถหักเงินไ้ด้ทันที ตามโมเดลที่รัฐต้องการ และ อีกมุม คือ การเปิดช่องให้ผู้ให้บริการธุรกิจออนไลน์เหล่านั้น หนีไปใช้เพย์เม้นท์ เกตเวย์ของต่างประเทศอย่างถาวร โดยเฉพาะผู้ให้บริการระดับโลกที่เข้ามาเปิดสำนักงาน และรับรู้รายได้ในประเทศไทยแล้ว แต่อาจใช้ทั้งเพย์เม้นท์ เกตเวย์ทั้งในไทย และต่างประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยบังคับใช้กฏหมาย ผู้ให้บริการเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบแต่จะเข้าระบบได้ 100% คือ หมายถึง ดักเก็บได้ทุกบาททุกสตางค์ หรือไม่ อยู่ที่การบังคับใช้กฏหมายของสรรพากร และรวมถึงความสามารถของธนาคาร ซึ่งธนาคารไทยจะมีภาระเพิ่มขึ้นในการติดตามจัดเก็บ หักรายได้จากผู้ให้บริการธุรกิจออนไลน์เหล่านี้

นายภาวุธ กล่าวว่า ในส่วนผู้บริโภคเอง กรณีที่รัฐบังคับใช้กฏหมายจัดเก็บภาษีนี้ อาจส่งผลให้ผู้ให้บริการออนไลน์ระดับโลกปรับโครงสร้างราคาสินค้า และบริการเพิ่มขึ้น เพื่อรับภาระภาษีที่จะถูกจัดเก็บ ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้า หรือบริการเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยเช่นกัน

การบังคับใช้กฏหมายการเก็บภาษีของรัฐครั้งนี้ ถือว่า ไม่เหนือความคาดหมาย และถือเป็นมาตรการที่ควรต้องมี เพราะแนวโน้มของการลงโฆษณาในธุรกิจสื่อเริ่มย้ายจากสื่อเก่าอย่างสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ มาอยู่บนสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยในอดีตเม็ดเงินการลงโฆษณาในสื่อเก่ายังคงหมุนเวียนอยู่ในประเทศ แต่การซื้อโฆษณาบนสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน เงินจะไปตกกับบริษัทโซเชียลมีเดียต่างประเทศกันหมด ลงโฆษณาในอินสตาแกรม, ไลน์, ยูทูบ หรือกูเกิล เงินออกนอกประเทศ

ขณะที่ ข้อมูลจาก สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) พบว่าการลงโฆษณาจากสื่อไทยจะมีมูลค่าราวกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ผ่านเอเจนซี่ต่างๆ ไม่นับรวมเงินที่บริษัทลงโฆษณาผ่านบริษัทต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล

“ประเมินว่าไทยน่าจะมีตัวเลขการลงโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และจำนวนมาก ไหลออกไปสู่บริษัทต่างประเทศผ่านบัตรเครดิต รวมถึงยอดดาวน์โหลดแอพ หรือการซื้อเพลงและเกมผ่านสโตร์ต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้เก็บภาษีส่วนนี้ ซึ่งมูลค่าเยอะมาก” นายภาวุธ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีกับผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลก จะเกิดผลดี ทำให้ประเทศดึงเงินเหล่านี้เข้ามาได้มากขึ้น ชดเชยกับการสูญเสียรายได้ จากการที่สื่อโฆษณาในไทยที่มีตัวเลขหดตัวลง

ส่วนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทยนั้น ร้านค้าที่จดทะเบียนนิติบุคคล ต้องเสียภาษีรายได้ทุกปีอยู่แล้ว โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.นิติบุคคลที่มียอดขายต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีนิติบุคคลสิ้นปี 2.นิติบุคคลที่มียอดขาย 1.8 ล้านขึ้นไป นอกจากเสียภาษีนิติบุคคลแล้ว ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

“ส่วนปัจจุบัน ผมมองว่า กลุ่มที่เสียภาษีเหล่านี้ ถูกต้อง มีอยู่ในระบบก็เยอะ แต่ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น การซื้อขายผ่านโซเชียล ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนตัวสมาคมอีคอมเมิร์ซพยายาม ดันให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ เข้าระบบอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยผู้ค้าที่กระจัดกระจายมาก การตามมาเข้าระบบก็เป็นเรื่องที่ยาก”

ขณะที่กฏหมายใหม่ หากรัฐจะบังคับใช้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในประเทศด้วยนั้น อาจจะซ้ำซ้อนกับระบบภาษีที่ผู้ประกอบการเสียอยู่ และบางผู้ประกอบการรายย่อยๆ อีกมหาศาล ที่ยังไม่ได้เข้าระบบ ก็น่าคิดว่า รัฐจะตามผู้ประกอบการเหล่านี้ได้อย่างไร

ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในไทยกระโดดเข้าสู่แพลตฟอร์มโซเชียล เน็ตเวิร์คอย่างเต็มรูปแบบ หรือโซเชียล คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายแซงหน้าเว็บไซต์ประเภทมาร์เก็ตเพลสไปแล้วเรียบร้อย ตัวเลขการซื้อขายผ่านโซเชียลเมื่อปี 2559 มีมากถึง 2.7 แสนล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้ จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 30% หรือทะลุ 3 แสนล้านบาท

ส่วนอี-มาร์เก็ตเพลสอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ คาดการณ์ว่า กลุ่มค้าปลีกออนไลน์แบบบีทูซี ที่ยังคงแข่งขันกันสูง (B-TO-C) จะมีเม็ดเงินซื้อขายเพิ่มขึ้นเช่นกันไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท ด้านภาพรวมอีคอมเมิร์ซทุกส่วนในไทยมูลค่าตลาดราว 2.5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า E-Business โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้ หลังจากได้พยายามศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายบนโลกออนไลน์มานาน ในขณะที่รายได้จากธุรกิจลดลง เนื่องจากหันไปซื้อขายผ่านออนไลน์

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าได้เห็นชอบหลักตามที่คณะทำงานร่างกฎหมายกำลังสรุปรายละเอียด เพื่อเสนอระดับนโยบายและคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้พิจารณาอนุมัติภายในเดือนมิ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ(สนช.)คาดว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะสามารถมีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจบนนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่นๆ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ให้ถือว่ามีสถานประกอบการในประเทศไทย ซึ่งเข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในประเทศไทย

“เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ถ้ามีธุรกรรมในประเทศไทยไม่ว่า จะเป็นซื้อหรือขายสินค้าหรือให้บริการโดยเงินโอนในประเทศไทย แม้เขาไม่อยู่ในประเทศไทย ให้ถือว่า มีสถานประกอบการในประเทศไทย ซึ่งต้องเสียภาษี อาทิ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีเงินได้ต่างๆ”

ให้อำนาจสถาบันการเงินหัก ณ ที่จ่าย

นายประสงค์ กล่าวถึงวิธีปฏิบัติในการเก็บภาษีบนธุรกรรมออนไลน์ว่าในกฎหมายจะให้อำนาจสถาบันการเงินเป็นผู้จัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย แทนกรมสรรพากร โดยเมื่อใดที่มีการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการใดๆบนโลกออนไลน์ต่างๆ ทางสถาบันการเงินในไทยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 5%เพื่อนำไปชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร โดยสถาบันการเงินจะต้องทำหน้าที่ส่งรายการการหักภาษีดังกล่าวมายังกรมสรรพากรด้วย

นายประสงค์กล่าวอีกว่ามีการประเมินมูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้านบาท แต่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่อยู่ในระบบ เช่น การจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออนไลน์ หรือ การชำระเงินของส่วนราชการและเอกชนต่างๆ และ 2.ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านเฟสบุ๊ก กูเกิล ไลน์ หรือ อูเบอร์ ซึ่งในส่วนที่ไม่อยู่ในระบบนี้ รัฐบาลไม่ได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมใดๆเลย

ตัวอย่าง กรณีการให้บริการแท็กซี่ของอูเบอร์นั้น ปัจจุบัน ไม่มีการเสียภาษี แม้จะดูเหมือนว่า อูเบอร์ทำธุรกิจเกี่ยวกับขนส่ง ซึ่งไม่มีภาระภาษี แต่จริงๆแล้วอูเบอร์ ไม่ได้ทำธุรกิจขนส่ง แต่กินหัวคิวค่าบริหารจัดการระบบ ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันเงินค่าบริการแท็กซี่ทุกๆ 100 บาท จะถูกโอนไปยังอูเบอร์ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากนั้น อูเบอร์จะโอนเงินกลับมาให้คนขับแท็กซี่จำนวน 80 บาท ส่วน 20 บาทนั้น อูเบอร์จะหักออกเป็นค่าบริหารจัดการ แต่เงินทั้ง 100 บาท ไม่มีการเสียภาษีเลย

ประเมินกันว่า เม็ดเงิน 20 บาทที่อูเบอร์หักไว้นี้ จะมีเม็ดเงินจริงประมาณ 2 พันล้านบาท แต่เงิน 2 พันล้านบาทนี้ กลับไม่มีการเสียภาษีแต่อย่างใด และ รวมถึง เงิน 80 บาทที่คนขับแท็กซี่อูเบอร์ได้รับ ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน

“เงินนี้ ควรอยู่ในไทยไม่ใช่ไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการเสียภาษีบ้าง อย่างน้อยก็ต้องเสียแวต 7%และ หัก ณที่ จ่าย 5%เพราะถ้าเป็นธุรกิจในไทยก็ถือเป็นการเก็บภาษีตามมาตรฐานกฎหมายปกติ คนที่ทำการค้า แต่ถ้าเขาไม่ตั้งในไทย ต้องแก้กฎหมาย แม้เขาไม่อยู่ในไทย ถ้ามีกิจกรรมเกิดขึ้นในไทย แหล่งเงินได้อยู่ในไทย แม้ไม่อยู่ในไทย ก็ต้องเก็บ และ เงิน 80%ที่กลับมา คนที่ขับแท็กซี่อูเบอร์ เขาก็ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย แต่เมื่อปัจจุบันยังไม่มีการเก็บ ฐานภาษีตัวนี้ก็หายไป”

ชี้รายได้ธุรกิจโฆษณาหายไปหมื่นล้าน

นายประสงค์ กล่าวว่าตัวอย่างกรณีการซื้อโฆษณาผ่านเฟสบุก ไลน์ หรือ กูเกิล โดยเม็ดเงินเหล่านี้ ได้ถูกโอนไปยังต่างประเทศ ทั้งที่โฆษณาทำให้คนไทยได้ดู ซึ่งก็ต้องนับว่า เป็นการทำธุรกิจในไทยด้วยเช่นกัน 

“ขณะนี้ ไม่ทราบตัวเลขเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ แต่ประเมินจากรายได้ของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโฆษณาที่มายื่นแบบชำระภาษีในปี 2559 ว่า รายได้หายไปราว 1 หมื่นล้านบาท นั่นอาจจะหมายความว่า เป็นเม็ดเงินที่ผันไปโฆษณาผ่านสื่ออนไลน์ดังกล่าวก็ได้”