เกษตรกรหนองคายปลูกไผ่เลี้ยง สร้างรายได้ฤดูฝน

เกษตรกรหนองคายปลูกไผ่เลี้ยง สร้างรายได้ฤดูฝน

เกษตรกรยิ้มฝนตกไผ่เลี้ยงแทงหน่อ ส่งขายลูกค้าไทย-ลาว กิโลกรัมละ 40 – 50 บาท สร้างรายได้ นอกจากขายหน่อแล้วยังขายต้นพันธุ์ เพาะชำไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องสั่งจองล่วงหน้าข้ามปี

จากที่ฝนตกต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้น ส่งผลดีกับพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะไผ่เลี้ยงถือเป็นพืชผลการเกษตรอีกชนิดหนึ่งที่จะให้ผลผลิตในช่วงฤดูฝน โดยเกษตรกรปลูกไผ่เลี้ยง บ้านนาพิพาน ต.ปะโค อ.เมือง จ.หนองคาย ที่ไผ่เลี้ยงเริ่มแตกหน่อเป็นจำนวนมาก เกษตรกรที่ปลูกนำไปขายทั้งที่เป็นหน่อสด และมีการแปรรูปพร้อมนำไปปรุงเป็นอาหาร ที่ตลาดสดแจ้งสว่าง ต.หนองกอมเกาะ อ.เมือง ริมถนนบายพาสไปด่านพรมแดนหนองคาย มีลูกค้าทั้งไทยและลาวเข้าไปจับจ่ายซื้ออาหารสดที่ตลาดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่อไม้เป็นที่นิยมของลูกค้าทั้งไทยและ สปป.ลาว ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกไผ่เลี้ยงได้เป็นอย่างดี

นายสุวพิษ ศรีวงษ์ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36 หมู่ 1 ต.ปะโค อ.เมือง จ.หนองคาย บอกว่า ปลูกไผ่เลี้ยงไว้กว่า 3 ไร่ ขณะนี้เริ่มให้ผลผลิตจำนวนมาก ได้เก็บไปขายที่ตลาดสดแจ้งสว่างทุกวัน เป็นที่ต้องการของลูกค้าทั้งไทยและ สปป.ลาว โดยเฉพาะลูกค้าชาวลาจะมารับซื้อ ช่วงนี้ให้ผลผลิตได้วันละกว่า 20- 100 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษา หากดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำสมบูรณ์ก็จะให้ผลิตสูง ราคาขายหน่อสดขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 บาท ซึ่งถือว่าราคาดีมาก แต่ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปีนี้มีผู้ปลูกไผ่เลี้ยงเพิ่มขึ้นทำให้มีผลผลิตออกมาในท้องตลาดมากขึ้น นอกจากขายหน่อสดแล้ว ยังมีหน่อไม้ต้ม ราคาอยู่ที่ 40-50 บาท และเมื่อหน่อไม้มีผลผลิตมากขึ้นขายไม่หมด ก็จะมีการแปรรูปให้เป็นหน่อไม้ที่พร้อมนำไปปรุงอาหารได้ทันที โดยเฉพาะการนำไปแกง ก็จะมีน้ำย่านางให้ ขายชุดละ 20 บาท ขายหมดทุกวัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวันไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท

“ต้นพันธุ์ของไผ่ยังเป็นที่ต้องการลูกค้าทั้งไทยและลาว ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 3 ต้น 200 บาท ขณะนี้มีลูกค้าทั้งไทยและชาวลาวมาซื้อต้นพันธุ์ที่สวนเป็นจำนวนมาก จนทำไม่ทัน กำลังเร่งชำเป็นระยะ แล้วทยอยส่งมอบให้ลูกค้าที่สั่งจองไว้เพื่อนำไปปลูก ใครที่ต้องการเป็นจำนวนมาก ก็ต้องสั่งจองล่วงหน้าเป็นปี ตอนนี้นำพันธุ์ไผ่อีก 2 ชนิดมาทดลองปลูกในสวน คือ พันธุ์กิมซุง และพันธุ์หม่าจู แต่สิ่งที่ฝากเกษตรกรคืออย่าแห่ปลูกพืชตามกัน เนื่องจากจะทำให้ราคาตก แต่ให้ปลูกพืชให้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะพืชที่ใช้ทำเครื่องแกง เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า และใบมะกรูด ซึ่งสามารถขายได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน สามารถสร้างได้เสริมให้เกษตร ในช่วงที่ปลูกชนิดอื่นยังไม่ให้ผลผลิต หรือช่วงที่พักต้น ได้เป็นอย่างดี”นายสุวพิษ กล่าว