‘เวิร์คพอยท์-ช่อง7’ปั้นคอนเทนท์ออนไลน์ผสาน‘จอทีวี’โกยผู้ชม

‘เวิร์คพอยท์-ช่อง7’ปั้นคอนเทนท์ออนไลน์ผสาน‘จอทีวี’โกยผู้ชม

ในอดีตผู้บริโภคเสพสื่อ“ทีวี”เป็นหลัก เพราะเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ แต่การพัฒนาเทคโนโลยี ที่เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากการใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนขยายตัวสูง ทำให้หลากหลาย“อุปกรณ์”กลายเป็นช่องทางเข้าถึงสื่อในยุคนี้  

เวิร์คพอยท์เชื่อมทีวี-ออนไลน์

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าความท้าทายของสื่อทีวีและผู้ผลิตคอนเทนท์ปัจจุบัน มาจาก“แพลตฟอร์ม”ที่มีจำนวนมาก แนวทางการทำงานจึงต้องพัฒนาทั้งคอนเทนท์และแพลตฟอร์มรองรับผู้ชมและผู้ลงโฆษณาให้ครบทุกช่องทาง 

พบว่าคอนเทนท์ประเภทใดที่ได้รับความนิยมทางทีวี เมื่อขยายสู่ออนไลน์จะได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน ในฝั่งการพัฒนาช่องทาง จึงมุ่งไปความง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึงคอนเทนท์ในทุกอุปกรณ์ ปัจจุบันเวิร์คพอยท์มีรูปแบบการนำเสนอคอนเทนท์หลากหลาย ทั้งที่เริ่มจากทีวีแล้วไปต่อที่ออนไลน์ รวมทั้งนำเสนอ 2 จอพร้อมกัน ในรูปแบบไลฟ์ผ่านสื่อออนไลน์  

ในเดือน มิ.ย.นี้ จะนำเสนอรายการใหม่ “Battle TV สถานีแข่งไลฟ์” ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจากเกาหลีใต้ เป็นรายการที่เริ่มจากช่องทางออนไลน์ก่อนจากนั้นไปจบที่ทีวี เพื่อเชื่อมผู้ชมทั้ง 2 ช่องทาง  โดยเป็นรูปแบบนำ“คนดัง”มาทำรายการทีวี  4 ประเภทรายการ คือ เพลง, บิวตี้,อาหารและตลก   ทุกวันอังคาร เริ่มวันที่ 13 มิ.ย.นี้ เวลา 20.00 -22.00 น. ทางเฟซบุ๊คไลฟ์และยูทูบไลฟ์ พร้อมกัน 4 สถานีออนไลน์  กติกาคือ สถานีที่ทีคนดูมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ 

แต่เมื่อจบรายการทางออนไลน์ยังไม่รู้ผล โดยจะไปตัดสินบทจอทีวี  ในทุกวันเสาร์ เริ่มวันที่ 17 มิ.ย.นี้ เวลา 21.15-22.45 น. รูปแบบออนแอร์ทีวี จะเห็น 4 สตูดิโอพร้อมกัน

วัตถุประสงค์การทำรายการเพื่อต้องการเชื่อมคนดูออนไลน์กับทีวีเข้าด้วยกัน  เพราะข้อดีของออนไลน์ หากผู้ชมชอบคอนเทนท์จะบอกต่อ ดังนั้นคนที่ไม่ได้ดูออนไลน์ อาจกลับมาดูทีวีในวันเสาร์ รวมทั้งคนดูออนไลน์ก่อนในวันอังคาร แต่ดูไม่ครบทั้ง 4 สตูดิโอที่ออนไลน์พร้อมกัน จะกลับมาดูครบทุกสตูดิโอในวันเสาร์อีกครั้ง

จากการนำเสนอกับลูกค้าและเอเยนซี ได้รับฟีดแบ็คดี เพราะที่ผ่านมาผู้ชมออนไลน์และทีวีแยกกัน แต่ Battle TV จะเป็นรายการที่ใช้กลยุทธ์ดึงทั้ง2 กลุ่มกับมาดูทั้ง 2 จอ เพื่อทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้ชมทั้ง 2 กลุ่ม 

ปัจจุบันพบว่าผู้ชมเวิร์คพอยท์ ในกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ และมากกว่า 30 ปีดูผ่านจอทีวี การพัฒนาช่องทางออนไลน์ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวช่วยในการปรับเปลี่ยนคอนเทนท์ให้เหมาะสมกับผู้ชมทั้ง 2 จอ 

ช่อง7ผสานออนไลน์ดึงผู้ชม

จักรพันธ์ ลีละมาสวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีบีทีวี นิว มีเดีย จำกัด บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  กล่าวว่าให้ความสำคัญในการพัฒนา “ช่องทาง”การรับชมคอนเทนท์ทั้งจอทีวีและออนไลน์ไปพร้อมกันมาตั้งแต่ต้น

“การขยายตัวของประชากรออนไลน์ในปัจจุบัน จึงมักมีคำถามว่าคนดูหลายไปไหน หรือสื่อออนไลน์จะกระทบกับสื่อทีวีอย่างไร แต่ที่จริงคนดูไม่ได้หายไปจากคอนเทนท์ทีวี เพียงแต่บางกลุ่มเปลี่ยนวิธีการดูผ่านอุปกรณ์อื่นในช่องทางสื่อออนไลน์เท่านั้น" 

จากการเริ่มวัดเรทติ้งคอนเทนท์ ออนไลน์ ร่วมกับนีลเส็น ตั้งแต่ปลายปีก่อน พบว่ากลุ่มคนดูช่อง7 ผ่านจอทีวี มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ขณะที่กลุ่มออนไลน์อายุต่ำกว่า 35 ปี เป็นสิ่งที่ทำให้รู้พฤติกรรมผู้ชมแต่ละวัย การเห็นโปรไฟล์ผู้ชมที่ชัดเจนในแพลตฟอร์มทีวีและออนไลน์ ทำให้มีการพัฒนาคอนเทนท์ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม

การมีข้อมูลผู้ชมที่ชัดเจนทั้งฝั่งจอทีวีและออนไลน์ ทำให้สถานีต้องตื่นตัวมากขึ้น เพราะเห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ จากเดิมการพัฒนาคอนเทนท์ในทีวี จะวางแผนล่วงหน้าเป็นรายเดือน แต่ฟีคแบ็คจากคอนเทนท์ออนไลน์ ทำให้ต้องปรับตัวเร็วแบบวันต่อวัน “ต้องคิดเร็วทำเร็ว เพื่อตอบโจทย์ผู้ชม”

ที่ผ่านมามีการพัฒนาคอนเทนท์ ออนไลน์ต่อเนื่อง โดยช่วง 3-4 ปีก่อน รายการ“ข่าว” ช่อง7 ต้องออนแอร์ทีวี ก่อนนำเสนอในช่องทางออนไลน์ แต่ปัจจุบันฐานผู้ชมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ได้นำฟีดแบ็คจากช่องทางออนไลน์ มาพัฒนาคอนเทนท์ข่าว และนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ก่อน จากนั้นสรุปประเด็นสำคัญไปนำเสนอทางทีวี และสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ พรีวิวคอนเทนท์และดึงผู้ชมมาดูต่อที่ทีวีได้เช่นกัน

ปัจจุบันช่อง7 มีช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และแอพดูสดและดูย้อนหลัง  สำหรับแอพ มีจำนวนกว่า 7 ล้านดาวน์โหลด  ส่วนเว็บไซต์มียอดกว่า 1.8-3 ล้านเพจวิวต่อวัน

“การมีแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมทุกอย่างได้ดี โดยไม่ต้องพึงการเปลี่ยนแปลงของช่องทางอื่น เราต้องการพัฒนา asset ของเรา บนแพลตฟอร์มของเราเป็นหลัก”

ตอบโจทย์เสพสื่อ“มัลติ สกรีน”

ขณะที่ ปิยะนุช มีมุข ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวว่าในยุคดิจิทัลรูปแบบการเสพสื่อและคอนเทนท์ของผู้บริโภคกระจายตัว มีพฤติกรรมใช้ชีวิต“หลายจอ” ส่งผลให้“ทีวีเรทติ้ง”มีแนวโน้มลดลง

แต่ในยุคที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ตลาดโมบาย เฟิร์ส ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเสพสื่อ“มัลติ สกรีน”ทั้งจอทีวีและจออื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน

ดังนั้นรูปแบบการวัดเรทติ้งผู้ชมทั้งจอทีวีและออนไลน์ รวมทั้งการวัดประสิทธิภาพแคมเปญโฆษณาทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ที่เป็น“มาตรวัด”เดียวกัน เพื่อทำให้รู้ถึงข้อมูลตัวเลขผู้ชมที่ดูคอนเทนท์และการเห็นโฆษณา จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีและออนไลน์

เดิมรูปแบบการซื้อสื่อดิจิทัลและออฟไลน์ ส่วนใหญ่แยกกันจากทั้งเรื่องแพลตฟอร์มและคอนเทนท์ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การสื่อสาร แต่พบว่าโกลบอล เทรนด์ ก้าวสู่รูปแบบ “Physical meets Digital” จากเดิมที่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคเสพสื่อทั้ง 2 แพลตฟอร์มโดยไม่มีเส้นแบ่ง ทำให้การแบ่งแยกโฆษณาทั้ง 2 สื่อลดลง และเริ่มผสานเชื่อมโยงกัน

“เราเริ่มเห็นเทรนด์ว่า หากแพลตฟอร์มสื่อมีมาตรวัดเรทติ้งผู้ชมทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน จะทำให้การซื้อสื่อไปในทิศทางผสมผสานทั้ง 2 ช่องทางเข้าด้วยกัน”