“ไทคอน” หมากใหม่ ใต้เงาเจ้าสัวเจริญ

“ไทคอน” หมากใหม่ ใต้เงาเจ้าสัวเจริญ

เปิดแผน “ไทคอน” ในอ้อมอกทุนใหม่ ใต้อาณาจักร “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” กับเกมเติมเต็มธุรกิจคลังสินค้า-โรงงาน ปูทางสู่อาเซียนให้ “เฟรเซอร์เซ็นเตอร์พอยท์” “จิ๊กซอว์” ใหม่ดัน “ทีซีซี กรุ๊ป” สู่  Real Estate Solution

ทิศทางธุรกิจของ "บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน)" ผู้ดำเนินธุรกิจก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าให้เช่า ชัดเจนมากขึ้น หลังบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPHT บริษัทย่อยของ เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (FCL) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ของมหาเศรษฐีเมืองไทย เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนไทคอน มูลค่า 13,230 ล้านบาท จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40.07 % ตั้งแต่ปลายปี2559ที่ผ่านมา

วันนี้ ภาพการต่อจิ๊กซอว์ ของไทคอนชัดเจนมากขึ้น หลังได้รับไฟเขียวจากเจ้าสัวน้อย ปณต สิริวัฒนภักดี ทายาทเจ้าสัวเจริญ ในฐานะกรรมการ ไทคอน ให้เคลื่อนทัพองค์กร โดยมี 2 ขุนพลทั้งฝั่ง เฟรเซอร์ฯ ที่ถูกส่งตัวเข้ามา นั่นคือ โสภณ ราชรักษา นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการใหญ่ และ “ขุนพลใหญ่” อย่าง วีรพันธ์ พูลเกษ” นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาเคลื่อนทัพธุรกิจ

กับปฏิบัติการณ์ ยึดโยงขุมข่ายการค้าครอบคลุม ภูมิภาคอาเซียน และ ไกลจากอาเซียน” อีกระลอก !

ผ่านคำบอกเล่าของ “วีรพันธ์” เผยกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek หลังเพิ่งกลับจากการบินไปดูงานคลังสินค้าและโรงงานของกลุ่มเฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ ที่ออสเตรเลีย ถึงทิศทางของไทยคอนฯว่า..

จะต้องผลักดันไทคอน ให้เป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม หรือ อินดัสเทรียล พร็อพเพอร์ตี้ ภายใน 5 ปีจากนี้ จากความเชื่อมั่นว่าวันนี้ ธุรกิจแกร่งรอบด้าน ทั้ง “ทุนหนา-คอนเน็กชั่นปึ้ก!” และ “องค์ความรู้ระดับสากล” ที่จากเฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ฯ

ฟากเฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ฯ (บริษัทในเครือเฟรเซอร์แอนด์นีฟ หรือ เอฟแอนด์เอ็น ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และอสังหาฯรายใหญ่ในอาเซียนที่เจ้าสัวเจริญไปซื้อกิจการเมื่อ ปี 2556) ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 17,600 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท มีธุรกิจหลักในการพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์ทั้ง เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า รวมถึงอสังหาฯเพื่อการอุตสาหกรรม ก็มีเป้าหมายตรงกัน คือ ต้องการให้ไทคอนเป็นแพลตฟอร์ม” ขยายธุรกิจอสังหาฯประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและ คลังสินค้าสู่อาเซียน !

จากเดิมที่เฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ฯ มีการลงทุนคลังสินค้าในออสเตรเลีย และปัจจุบันรุกคืบเข้าไปลงทุนซื้อกิจการเพิ่มในยุโรปมากขึ้น 

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่เฟรเซอร์ฯเข้ามาลงทุนด้านนี้ ขณะที่อสังหาฯหลักๆที่ทำอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก จะเป็นที่อยู่อาศัย เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ โรงแรม ค้าปลีก”  วีรพันธ์ให้ข้อมูล พร้อมขยายความว่า 

เหตุผลสำคัญของการบุกอสังหาฯในอาเซียนของเฟรเซอร์ฯ เป็นเพราะทีซีซี กรุ๊ป ซึ่งถือหุ้นในเฟรเซอร์ฯ มีธุรกิจที่ขยายอยู่เกือบทุกประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ในธุรกิจเกษตร ภายใต้บริษัท พรรณธิอร ,ลาว ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภค บริโภค ,เมียนมา อดีตเคยมีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 

และเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานผลิตหลักในอาเซียน รองจากไทย มีธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ ผลิตสินค้า และบรรจุภัณฑ์ กลางน้ำในธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าผ่านบริษัทภูไท ไทอัน ไทคอร์ป และธุรกิจปลายน้ำ ในธุรกิจค้าปลีกประเภทชำระเงินสด (แคช แอนด์ แครี่) เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อบีส์มาร์ท ซึ่งธุรกิจทั้งหมดนี้สามารถผนึกกำลังเพื่อเกื้อกูลธุรกิจให้แข็งแกร่งทวีคูณ

เมื่อทีซีซี กรุ๊ป มีธุรกิจครบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การจะขยายธุรกิจให้เติบใหญ่สู่การเป็นผู้นำธุรกิจในอาเซียนได้นั้น แน่นอนว่า “จิ๊กซอว์ใหญ่” ที่ต้องต่อให้ครบ คือการมีธุรกิจก่อสร้างโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่า ซึ่ง “ไทคอน” จะเป็นหนึ่งในตัวละครเอกที่จะสานฝันให้เจ้าสัวแสนล้าน

อาทิ การสร้างคลังสินค้า รองรับธุรกิจค้าปลีกของทีซีซี กรุ๊ป โดยเฉพาะบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี ที่มีเขยเล็ก อัศวิน เตชะเจริญวิกุล แม่ทัพใหญ่แห่งบีเจซีนั่งกุมบังเหียน มีแผนขยายห้างค้าปลีกแบรนด์บิ๊กซี ใน ลาว กัมพูชา และห้างเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ตในเวียดนาม เป็นต้น

เวียดนาม จึงเป็นประเทศหลัก ที่ไทคอนจะรุกเข้าไปลงทุนมากขึ้น ไม่เฉพาะการดำเนินการเพื่อสนับสนุนธุรกิจในเครือ แต่หมายรวมถึงธุรกิจนอกเครือ 

บริษัทไม่ได้เน้นแค่ลูกค้าแค่ในกลุ่มเท่านั้น แต่อย่างน้อยตอนขยายไปช่วงแรกก็อาจจะง่ายหน่อย เพราะมีธุรกิจของทีซีซีกรุ๊ปเป็นลูกค้าให้”  วีรพันธ์ เผยแต้มต่อ

ส่วนประเทศอื่น เช่น ลาว สามารถพึ่งพาคลังสินค้าในไทยได้บริเวณพื้นที่รอยต่อตะเข็บชายแดนที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อส่งสินค้าตรงไปยังเวียงจันทน์ในลาว ส่วนกัมพูชา ก็มีธุรกิจเกษตร ท่าเรือของเจ้าสัวเจริญ ที่รอให้บริษัทไปสร้างคลังสินค้า 

อย่างไรก็ตาม เวียดนามไม่ใช่ “หมุดหมายแรก” ที่ไทคอนบุกนอกบ้าน เพราะก่อนหน้านี้ ได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท พีที สุริยา ซีเมสตา อินเตอร์นูซ่า ทีบีเค และบริษัท มิตซุย แอนด์คัมปนี ตั้งบริษัทร่วมทุน “PT SLP Surya TICON Internusa: SLP” ในอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนาโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่าและขายเรียบร้อยแล้ว

ในปีนี้ ไทคอนยัง ตั้งงบลงทุนกว่า 2,000ล้านบาท เพื่อพัฒนาคลังสินค้าต่อเนื่อง แต่จากนี้ไป “มีโอกาส” ที่บริษัทจะใช้งบลงทุนมากกว่าเดิม เขาเชื่อมั่น !

“อาเซียน” เป็น “เป้าหมาย” สเต็ปแรก ส่วนสเต็ปต่อไป "เจ้าสัวน้อย" มองกว้างและไกลกว่านั้น วีรพันธ์ เล่า

ถ้าจะไปขยายธุรกิจสร้างโรงงาน คลังสินค้า ก็ต้องมองประเทศที่พลเมืองเยอะ จึงจะเป็นโอกาสดี ซึ่งคุณยอด(ปณต) ก็ดูไปถึงประเทศจีนตอนใต้ด้วยซ้ำ และน่าจะเป็นโอกาสหนึ่งของเมืองไทย” 

อย่างไรก็ตาม การลุยธุรกิจนอกบ้านนั้นไม่ง่าย แม้บริษัทแม่ต้องการให้ไทคอนฯขยายอาณาจักรออกไปให้เร็ว แต่ความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก เพราะเวลานี้แค่จะหาวิศวกรไปคุมงานต่างประเทศเป็นเรื่องยากมาก 

คุณยอดก็บอกผมว่า ถ้าจะไป CLMVเช่นไปเวียดนามก็ต้องจ้างวิศวกรจากเวียดนามมาอยู่กับเรา เพื่อสร้างคนขึ้นมา รวมถึงระบบที่จะไปคุมงานทั้งหมดก็ต้องมีคุณภาพเดียวกัน เป็นต้น"

ฉายแผนภาพต่างประเทศแล้ว สำหรับตลาดในประเทศ วีรพันธ์ ย้ำว่า ไทคอนถือเป็น “ผู้นำ” ในการพัฒนาโรงงาน คลังสินค้าให้เช่า ที่แทบไร้คู่ “ต่อกร” โดยเฉพาะโครงการที่พัฒนาขึ้นตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) มีเพียงบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ที่พอฟัดพอเหวี่ยง

ขณะที่ความสำคัญของการรุกธุรกิจคลังสินค้า ในประเทศ ต่อยอดธุรกิจทีซีซี กรุ๊ป ก็ไม่ความสำคัญไม่แพ้กัน อาทิ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ธุรกิจเครื่องดื่มของไทย มีวิสัยทัศน์ในการก้าวขึ้นเป็น1ใน5  ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มในเอเชียตามวิสัยทัศน์ 2563 และตามแผนไทยเบฟจะขยายศูนย์กระจายสินค้าให้ครบ19แห่ง โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว250-400ล้านบาทต่อการสร้างศูนย์1แห่ง เป็นต้น 

วีรพันธ์ ยังเข้าถึง ความรู้ด้านคลังสินค้า โลจิสติกส์ ที่ได้เพิ่งได้กลับจากการไปศึกษาดูงานที่ประเทศออสเตรเลียของเฟรเซอร์ฯ ว่า ระบบที่ออสเตรเลีย จะจัดการรวบรวมข้อมูล สถิติของลูกค้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับที่ดิน ผู้เช่า เวลาพัฒนาหรือสร้างโครงการให้ผู้เช่า แม้กระทั่ง “การแข่งขัน” แตกต่างจากในไทย ที่ข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย 

เฟรเซอร์ฯจะรวบรวมข้อมูลไว้หมดว่า ลูกค้าออกไปอยู่กับคู่แข่งที่ไหน เช่าขนาดอาคารเท่าไหร่ สัญญาจะหมดเมื่อไหร่ เผื่ออนาคตลูกค้าหมดสัญญา(กับคู่แข่ง)จะได้ไปตามกลับมา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจ นำมาวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนต่างๆ ขณะที่เฟรเซอร์ฯก็อยากให้เรารุกขยายธุรกิจในอาเซียนมากขึ้น"

ขณะที่โอกาสของไทคอนฯ ยังมีมหาศาล โดยเฉพาะการมีส่วนในการพัฒนาที่ดินของเจ้าสัวเจริญที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไทคอนเอง ก็มีที่ดินในพอร์ตกว่า8,000ไร่ 

ไทคอนฯ จึงเป็นเหมือน Real Estate Solution ต่อภาพอาณาจักรแสนล้าน เจ้าสัวเจริญ ให้แกร่งจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนคู่แข่งยากจะไล่ทัน 

-----------------------------------------

เรียนรู้หุ้นส่วนใหม่ ดันธุรกิจเติบโตแกร่ง

ขับเคลื่อน “บริษัท ไทคอน อิสดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด(มหาชน)” เต็มตัวมานาน 11 ปี แต่ก็นั่งเป็นกรรมการในไทคอนฯ ยาวนานเท่ากับอายุบริษัทคือ 27 ปี “วีรพันธ์ พูลเกษ” ซีอีโอ ไทคอน ย้อนประวัติการทำงาน

โจทย์บริหารธุรกิจปัจจุบัน วีรพันธ์บอกว่า เปลี่ยนจากอดีตมาก เมื่อก่อนคนอาจไม่ค่อยรู้จักการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม คลังสินค้าให้เช่า มีพื้นที่ไหน การสร้างก็จะยังไม่มีมาตรฐานสากล การแข่งขันยุคก่อนเรียกได้ว่า “คู่แข่งน้อย” และเป็นชาวบ้าน ด้านความต้องการของลูกค้าหรือผู้เช่าก็อยากได้ค่าเช่าราคาต่ำแต่เทียบเคียงคุณภาพสูง เป็นต้น

“ปีที่บริหารธุรกิจยากสุด..ไม่รู้เลย แต่ละปีมีความท้าทายต่างกัน” เขาบอกและยกตัวอย่างกรณียักษ์ใหญ่ทางการเงินของโลก กลุ่มบริษัท เลห์แมนบราเธอร์ส ล้ม เมื่อปี 2551 ส่งผลกระทบต่อลูกค้าภาคการส่งออก เนื่องจากขาดสภาพคล่อง ทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องการผลิตได้ ช่วงนั้นเรียกว่ามีลูกค้ามาขอสำรองเช่าโรงงานไว้ พักการเช่าเพื่อผลิตสินค้าชั่วคราวบ้าง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับมาเช่าตามเดิม บริษัทก็ต้องยืดหยุ่นให้ลูกค้า เพื่อพลิกฟื้น (Turn around) ธุรกิจภายในระยะเวลาสั้นๆ

อีกกรณีคือ ตอนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อปลายปี 2554 ตอนนั้นสาหัสสากรรจ์ เพราะถึงวันนี้การเช่าโรงงานก็ยังไม่ฟื้นตัว เพราะมาผสมโรงกับปัจจัยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา เปิดประเทศ เศรษฐกิจการลงทุนบูม บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมก็ “ย้ายฐานการผลิต”อุตสาหกรรมที่ใช้ “แรงงานเข้มข้น”ไปประเทศข้างเคียงแทน ส่วนไทยก็เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร (capital intensive) มากขึ้น

ช่วงหลังน้ำท่วม อัตราการเช่าโรงงาน เหลือเพียง 20% ตอนนี้ก็ค่อยๆฟื้นกลับมาเป็น 50%”

เขายังระบุว่า โจทย์บริหารไม่ได้เปลี่ยนแค่ตามบริบทแวดล้อมธุรกิจ แต่ด้วยไทคอนมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยผู้ถือใหญ่แต่ละรายก็มีสไตล์การบริหารที่ต่างกัน มีเทคนิคในด้านการพัฒนาโครงการแตกต่างกันไป อย่างเฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด(FCL)พัฒนาคลังสินค้าได้ดีกว่าไทย นักบริหารเช่นเขาก็ต้องปรับการทำงานรับกับนโยบายใหม่ 

ล่าสุดเมื่อไปดูงานที่ออสเตรเลีย ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ก็เตรียมนำมาประยุกต์ใช้ขยายธุรกิจในไทย เมื่อผู้ถือหุ้นเห็นว่าบริษัทสามารถพัฒนา “คลังสินค้าที่มีคุณภาพ” เป็นตัวชูโรงตอบสนองความต้องการของลูกค้าและทีซีซี กรุ๊ปด้วย

เพราะอยู่ในช่วงที่ผู้ถือหุ้นศึกษากัน การทำงานในปีนี้อาจไม่เร่งสปีดนัก 

ผมคิดว่าปีนี้อาจขยายธุรกิจไม่เร็วเท่าที่ควร เพราะมีผู้ถือหุ้นใหม่ เราเรียนรู้เขา เขาเรียนรู้เรา ใช้เวลาสักพัก เพราะเฟรเซอร์ฯ ก็จะมีอะไรไฮเทคมากขึ้น” 

วีรพันธ์ ยังประเมินแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอุตสาหกรรมในไทยว่า ยังเติบโตได้ แต่น้ำหนักจะไปที่ “คลังสินค้า” และ “ศูนย์กระจายสินค้า”หรือดีซี มากขึ้น โดยการพัฒนาคลังสินค้าของไทคอน ทำมา 11 ปี แต่มีพื้นที่ 1.5 ล้านตารางเมตร(ตร.ม.) ขณะที่โรงงานทำมา 27 ปี มีพื้นที่ 1.2 ตร.ม. และอนาคตการขยายตัวของอุตสาหกรรมก็อาจไม่มากนัก หากเพิ่มก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่อวจักรมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้พื้นที่โรงงานน้อยลง

ส่วนสาเหตุที่ความต้องการใช้คลังสินค้า และดีซีเพิ่ม วิเคราะห์ได้จากการไปดูงานของเฟรเซอร์ที่ออสเตรเลียที่เคยมีโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายดังทั้ง โตโยต้า จีเอ็ม ฟอร์ด ซึ่งตอนนี้ปิดตัวไปแล้ว แต่ก็กลับเข้าไปเช่าคลังสินค้าใหม่เพื่อเก็บชิ้นส่วน อะไหล่รถยนต์ให้บริการแก่ลูกค้า

ส่วนในไทย ต้องจับตานโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่ารัฐบาลจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าไทยพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)เป็นหลัก โดยเฉพาะญี่ปุ่นมากกว่า 50% 

ทว่า อุตสาหกรรมที่นักลงทุนแดนซามูไรมาปักหมุด เกือบเป็นอุตสาหกรรมอาทิตย์ตก(Sunset) เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องสแกน ฯ เหล่านี้จะทัดทานการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การแสวงหาโอกาสเติบโตทางธุรกิจของไทคอนประเทศ ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะการมีที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ประมาณ 3,800 ไร่ จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ได้ และเริ่มเห็นสัญญาณอุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทรถบรรทุก เริ่มเข้ามาตั้งโรงงานผลิตมากขึ้น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสไดรฟ์ก็เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในไทยอีกครั้ง เช่น ซีเกท ย้ายฐานจากจีน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกลับมาโรงงานเดิมที่จังหวัดนครราชสีมา ก็เป็นสัญญาณที่ดี

สำหรับแผนการพัฒนาโรงงานปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ 5 หมื่นตร.ม. และคลังสินค้า 1.7 แสนตร.ม. ส่งผลให้ภาพรวมพื้นที่เติบโตขึ้นเป็น 2.7 ล้านตร.ม.จากปัจจุบันมี 2.2 ล้านตร.ม. ด้านรายได้ค่าเช่าตั้งเป้าเติบโต 10%

ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ขยายโรงงานยาก ส่วนคลังสินค้าก็ยังขยายน้อย แม้ลูกค้าส่วนใหญ่อยากขยาย แต่ไม่มั่นใจเศรษฐกิจ รวมถึงขอทำสัญญาเช่าระยะสั้น 1-2 ปี เพื่อรอดูสถานการณ์