หวั่น ‘เอิร์ธ’ ลามหนี้เสียแบงก์

หวั่น ‘เอิร์ธ’ ลามหนี้เสียแบงก์

หวั่น "เอิร์ธ" ลาม "หนี้เสียแบงก์" จับตา15มิ.ย.ครบกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ มอนิ่งสตาร์ เผยกองไฮยิลด์ ชะลอตัวต่อเนื่อง นักลงทุนลดความสนใจ

วงการการเงิน จับตา “เอิร์ธ” หลังพบมีดีลชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้วันที่ 15 มิ.ย.นี้ หวั่นเบี้ยวจ่ายลามถึงหนี้เสียแบงก์ พร้อมประเมินสถานการณ์เบี้ยวหนี้ตั๋วบีอีไม่ลาม ชี้ส่วนใหญ่เป็นของเก่าที่ออกก่อนหน้า ขณะ มอนิ่งสตาร์ เผยกองไฮยิลด์ ชะลอตัวต่อเนื่อง เหตุ บลจ. เริ่มระวัง หันปรับพอร์ตคัดตราสารคุณภาพ

แหล่งข่าวผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้(ดีฟอลท์) ตั๋วแลกเงิน(บีอี) ของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกองทุนแบบเทอมฟันด์ เท่านั้น คงไม่ได้กระทบตลาดกองทุนในภาพรวม และคิดว่าสถานการณ์คงไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว ไม่คิดว่าจะมีการดีฟอลท์ของตราสารเหล่านี้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเหล่านี้อาจทำให้ตั๋วบีอี และการต่ออายุตั๋วเงินของบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีการระดมทุนด้วยตั๋วเงิน หลายแห่งอาจชะงักได้ หากบริษัทไม่สามารถคืนหนี้ระยะสั้นได้ทันอาจทำให้ต้องพิจารณาหาแหล่งเงินด้วยวิธีอื่นอาจรวมถึงการเพิ่มทุน

สำหรับกรณีของ เอิร์ธ คงต้องติดตามการชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้รอบวันที่15 มิ.ย.นี้ ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ อาจต้องเข้าสู่กระบวนการเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินด้วย

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า หนี้ก้อนนี้มีเงื่อนไขกับบรรดาเจ้าหนี้ว่า หากผิดนัดชำระหนี้ครบ 500 ล้านบาท อาจเป็นเหตุให้มีการเรียกชำระหุ้นกู้คืนทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมของผู้ถือหุ้นกู้ที่จะได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาในอนาคตต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้ระยะยาวที่มีธนาคารกรุงไทยเป็นแกนหลัก ต้องเร่งรัดให้ต้องชำระหนี้ระยะยาว ซึ่งเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้ของธนาคารให้กับผู้ถือหน่วย

“ตราสารที่ดีฟอลท์ส่วนใหญ่เป็นของเก่าๆ เหมือนเลือกผิดตั้งแต่แรกทำอะไรไม่ได้ และน่าจะกระจุกตัวในกลุ่มเจ้าเดิมๆ ยิ่งเป็นการตอกย้ำบทเรียนอีกว่า เมื่อก่อนไม่ได้เกิดเคสทุกคนมุ่งหาแต่ผลตอบแทนสูงเป็นหลัก แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายคิดหนักและระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น”

บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า กรณี เอิร์ธ ตลาดกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อ เอ็นพีแอลของธนาคารต่างๆ เราเชื่อว่า ธนาคารกรุงไทย คือ ผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของเอิร์ธ และประเมินว่ามูลค่าสินเชื่ออาจอยู่ระหว่าง 3-4 พันล้านบาท ในกรณีเลวร้ายสินเชื่อดังกล่าวกลายเป็นหนี้เสีย อาจจะเพิ่มเอ็นพีแอลของธนาคารกรุงไทยประมาณ 0.20% จาก 5.9% ในระดับปัจจุบัน

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการออกกองทุนรวมประเภท High Yield Bond ที่เป็นการลงทุนในตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ(non-rated) หรือการจัดอันดับอยู่ต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non-investment grade) ในช่วงที่ผ่านมาและหลังจากนี้ ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้เข้มงวดในการกระบวนการลงทุนเพิ่มขึ้น คัดเลือกตราสารที่มีคุณภาพและมีเครดิตเรตติ้งสูง ขณะเดียวกันผู้ลงทุนยังมีความกังวลอยู่ ทำให้สถานการณ์การลงทุนประเภท High Yield Bond ขณะนี้ไม่ใช่สินทรัพย์ที่นิยมลงทุน

สำหรับกองทุนรวมประเภท High Yield Bond ในลักษณะกองทุนแบบเทอมฟันด์ มองว่า ยังมีข้อจำกัด ในแง่การบริการจัดการที่ไม่สามารถเปลี่ยนตราสารระหว่างทางได้ เพราะได้ถูกกำหนดผลตอบแทนและระยะเวลาไถ่ถอนเอาไว้แล้วต้องถือจนครบกำหนด แม้ว่าระหว่างทางตราสารจะถูกวิเคราะห์ว่าไม่ดี ต้องการเปลี่ยนแปลงตราสารอื่นมาทดแทน แต่ก็ไม่สามารถทำได้