แบงก์ระดมช่วย ‘เอสเอ็มอี’ เบรกโปรแกรมแก้หนี้เหมาเข่ง

แบงก์ระดมช่วย ‘เอสเอ็มอี’ เบรกโปรแกรมแก้หนี้เหมาเข่ง

แบงก์ระดมช่วย "เอสเอ็มอี" เบรกโปรแกรม "แก้หนี้เหมาเข่ง"

รายงานภาวะสินเชื่อของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับสิ้นปี 2559 สินเชื่อมีการเติบโตเพียง 0.21%

ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ของเอสเอ็มอีที่ยังไม่ดีขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ นำมาสู่การหาแนวทางช่วยเหลือ โดยเฉพาะการลดภาระต้นทุนทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าเอสเอ็มอีมีภาระต้นทุนที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงเป็นที่มาของการส่งสัญญาณของ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยลงเพื่อความเป็นธรรม!!

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ประกาศปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกรายย่อย รวมถึงลูกค้าเอสเอ็มอี หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยMRRลง 0.5% เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งผู้กู้รายเก่า และผู้กู้รายใหม่ โดยเฉพาะผู้กู้รายเก่านั้น การลดดอกเบี้ยช่วยทำให้ภาระการผ่อนชำระลดลง ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ไม่เต็มที่นี้ การลดภาระต้นทุนการเงิน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ล้วนเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการประคองตัวให้อยู่รอดไปถึงช่วงที่เศรษฐกิจโตเต็มที่ อย่างน้อยไม่ไห้มีการค้างชำระ จนกลายเป็นหนี้เสียได้

นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว หลายธนาคารก็ออกมาตรการของตัวเองออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มเอสเอ็มอี โดยธนาคารกรุงไทย ได้ออกโครงการกรุงไทยช่วยSME 4.0 สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีทุกกลุ่มภายใต้วงเงินรวม 6 พันล้านบาท

โครงการดังกล่าว แยกเป็นแพ็คเกจสำหรับเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มียอดขายเกิน 100 ล้านบาท ธนาคารให้กู้สูงสุด 40 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปีวงเงินรวม 4 พันล้านบาท และในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กว่า กู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี วงเงินรวม 2 พันล้านบาท

“เรามีมาตรการในการช่วยเหลือและดูแลลูกค้าต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้เรื่องการเงิน ธุรกิจ การช่วยหาพาร์ทเนอร์จับคู่ธุรกิจ รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือรายที่มีปัญหา ทั้งการขยายเวลาคืนหนี้ การลดดอกเบี้ย เป็นต้น รวมถึงออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” นายปฏิเวช สันตะวานนท์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลางธนาคารกรุงไทยระบุ

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์นอกจากจะประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลงหรือปรับลดลงทั้งกระดานทั้งMLR MORและMRRเพื่อลดภาระให้ลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคลซึ่งทางไทยพาณิชย์ระบุว่าการปรับดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยMLRและMORของธนาคารไทยพาณิชย์ต่ำที่สุดในระบบ

ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้ออกมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาทประกอบด้วย การขยายสินเชื่อเดิมออกไปอีก 2 ปี ลูกค้าปัจจุบันของวงเงินเพิ่มได้สูงสุด 20% ของวงเงินเดิมโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม ลูกค้าใหม่ขอวงเงินได้มากขึ้นกว่าปกติอีก 10% ของมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม เป็นต้นสำหรับมาตรการที่ไม่ใช่ทางด้านสินเชื่อนั้น มีมาตรการส่งเสริมทางการตลาด การพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีอีกด้วย

อย่างไรก็ตามไทยพาณิชย์ไม่คิดที่จะปรับลดดอกเบี้ยของกลุ่มเอสเอ็มอีลงอีก เหมือนกับทางกรุงไทย ที่ออกโปรแกรมสินเชื่อเอสเอ็มอี 4%เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็นับว่าอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว โดย "พิกุล ศรีมหันต์” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี และผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ธนาคารไม่ได้ใช้ดอกเบี้ยในการดึงลูกค้าให้เข้ามาขอสินเชื่อ เพราะหากให้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ลูกค้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็กู้ไม่ได้อยู่แล้ว

ไทยพาณิชย์จึงเน้นเข้าไปช่วยลูกค้าปรับการจัดการธุรกิจ ทั้งการมุ่งสู่ดิจิทัล และการช่วยเรื่องการตลาดอีกทั้งการปรับลดดอกเบี้ยลงที่ผ่านมา ก็ทำให้มีลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อมากขึ้น

เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทยที่ไม่สนใจลงไปแข่งขันลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะประเมินว่าการลดดอกเบี้ยลงทั้งกระดานอาจจะไม่ได้เกิดผลดีมากนัก แต่ก็พร้อมที่จะพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยให้กับลูกค้าเป็นรายกรณีไป เพื่อป้องกันลูกค้าชั้นดีรีไฟแนนซ์หนีไปธนาคารอื่น

นอกจากจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยทั้งกระดานลงอีกแล้ว “พัชร สมะลาภา” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ยังบอกอีกว่าธนาคารกสิกรไทยยังได้หยุดโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบบเหมารวมทั่วไปที่เคยทำอยู่ด้วย หลังที่ผ่านมาได้มีมาตรการช่วยเหลือออกไปค่อนข้างมาก ซึ่งกลุ่มที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ก็ช่วยได้ยาก

เพราะรายที่ยังมีปัญหาอยู่ขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทั้งการนำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือขยายกิจการในช่วงที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่เราได้เตือนแล้ว ก็ต้องแบกรับภาระกันไป จะรอแต่ให้ธนาคารช่วยคงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราไม่ใช่ไม่ช่วยเลย แต่จะช่วยเป็นรายกรณีไป ไม่ได้ช่วยทั้งกระดานเหมือนเดิม

แม้สถานการณ์ของสินเชื่อเอสเอ็มอี จะไม่ค่อยดี โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีการเติบโต แต่หลายธนาคารก็ยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ไว้ที่ระดับ 4-6%ซึ่งคาดว่าหวังสถานการณ์ต่างๆ จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ