'รพ.ลาดพร้าว' คุยเรื่อง 'ดีลใหม่'

'รพ.ลาดพร้าว' คุยเรื่อง 'ดีลใหม่'

ล้มดีลเทคโอเวอร์ 'โรงพยาบาลเดชา' แต่ไม่กระทบแผนเติบโต 'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ผู้ก่อตั้ง 'โรงพยาบาลลาดพร้าว' ตอกย้ำจุดยืน พร้อมเปิดแผนศึกษา 3 ดีลใหม่ ไม่เกินสิ้นปีนี้ต้องได้เรื่อง

กลางปี 2559 'โรงพยาบาลลาดพร้าว' ของ 'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจการแพทย์ที่แสดงความสนใจเข้าซื้อกิจการ 'โรงพยาบาลเดชา' ของ 'นพ.เดชา สุขารมณ์' ในฐานะผู้ก่อตั้งธุรกิจ หลังเจ้าของพยายามประกาศหาผู้เช่า หรือผู้ประกอบการรายใหม่มาสานต่อกิจการ สนนราคาขายไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท

แต่เมื่อที่ปรึกษาของโรงพยาบาลลาดพร้าว เข้าไปประเมินสินทรัพย์กลับพบว่า 'ราคาซื้อและราคาขายไม่ตรงกัน' หลังตีราคาสินทรัพย์ออกมาเพียง 400 ล้านบาท ต่ำกว่าราคา เสนอขายของผู้ประกอบการรายเดิมถึง 300 ล้านบาท เนื่องจากโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่มีที่จอดรถ และตัวอาคารมีลักษณะเก่าเกินไป ส่งผลตระกูลฉันทนาวานิช ตัดสินใจ 'ล้มดีล'

ทว่าการตั้งราคาขายสูงเกินจริงของโรงพยาบาลเดชา เป็นไปได้ว่า ถูกตีราคาขายจากราคาที่ดินที่อยู่ใจกลางเมือง โดยด้านหลังโรงพยาบาลติดสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้ง ส่วนด้านหน้าอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมสยามซิตี้
แม้ดีลโรงพยาบาลเดชาจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ 'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาลลาดพร้าว หรือ LPH ยืนยันผ่าน 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า บริษัทไม่ได้นิ่งเฉย ล่าสุดกำลังศึกษาการลงทุน 3 ดีลใหม่ ซึ่งจะมีทั้งลักษณะเทคโอเวอร์และเข้าถือหุ้นบางส่วน

ดีลแรก คือ โรงพยาบาลแถวพัฒนาการ ขนาด 100 เตียง ความน่าสนใจของโรงพยาบาลแห่งนี้ หนีไม่พ้นการมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าของเดิมต้องการให้เราเข้าไปร่วมดำเนินธุรกิจ หลังทุนเก่ามีแผนจะปรับโครงสร้างใหม่ หากไม่มีอะไรผิดพลาดคงได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ แต่ลักษณะการลงทุนจะเป็นเช่นไร คงต้องรอฟังผลจากทีมที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ FA

'มีแผนจะนำโรงพยาบาลแถวพัฒนาการเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นภายใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่ระหว่างทางบริษัทจะรับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลไปก่อน'

ดีลที่สอง คือ โรงพยาบาลเอกชน จังหวัดชลบุรี แม้จะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่ถึง 100 เตียง แต่โรงพยาบาลแห่งนี้มีแผนจะขยายการลงทุนใหม่ ซึ่งเจ้าของเดิมได้เชิญบริษัทเข้าไปเป็นพันธมิตรหลัก ขณะเดียวกันยังมีผลประกอบการดีต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดว่าจะร่วมลงทุนในรูปแบบใด ถือเป็นอีกดีลที่น่าสนใจ

สำหรับดีลสุดท้าย คือ โรงพยาบาลเอกชน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กรายดังกล่าว มานำเสนอให้โรงพยาบาลลาดพร้าวเข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งบริษัทไม่ได้ตอบปฏิเสธข้อเสนอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด

'ภายในปีนี้คงได้ข้อสรุปแผนลงทุน สุดท้ายจะซื้อกี่ดีล หรือไม่ซื้อ คงต้องขึ้นอยู่ที่ราคาขาย แต่เรามีเงินพร้อมลงทุนแล้ว'

เมื่อถามถึงแหล่งที่มาของเงินลงทุน เขาตอบว่า บริษัทมีเงินจากการขายหุ้นไอพีโอ 200 ล้านบาท และยังมีกระแสเงินสดหมุนเวียนอีก 200 ล้านบาท ฉะนั้นหากจะลงทุนย่อมทำได้ทันที ที่ผ่านมาได้นำเงินดังกล่าวไปลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) 400 ล้านบาท ขณะเดียวกันที่ผ่านมายังได้รับวงเงินกู้จากธนาคาร 2 แห่ง มูลค่า 1,000 ล้านบาท อีกด้วย

'ดร.อังกรู' ย้ำว่า หากผลศึกษาพบว่า สามดีลไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน บริษัทยังมีสตอรี่อื่นที่จะทำให้ผลประกอบการขยายตัวจากกิจการเดิม ตามแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) บริษัทจะมีรายได้จากสองส่วน คือ 'คนไข้ชำระเงินเอง' และ 'คนไข้ประกันสังคม'

ในฝั่งของ 'คนไข้ชำระเงินเอง' ตลอดปี 2560 วางแผนจะเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) เพิ่มเติมอีก 4 แห่ง คือ ศูนย์แม่,เด็ก,ตรวจสุขภาพ และทันตกรรม โดยจะเน้นเจาะ “กลุ่มลูกค้าต่างชาติ” เป็นหลัก จากปัจจุบันที่มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางแล้ว 5 แห่ง คือ ตา ,สมอง,กระดูก,ทางเดินอาหาร และความงาม

ปัจจุบันแนวโน้มคนไข้ต่างชาติขยายตัวมากขึ้น ซึ่งบริษัทมองเห็นโอกาสดังกล่าว ที่ผ่านมาได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค ในส่วนของการตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาลให้กับอาจารย์ชาวต่างชาติ ขณะเดียวกันตลอดปีนี้ยังมีแผนจะขยายคอนแทคไปแห่งอื่นด้วย

ในปี 2560 ตั้งเป้าจะมีจำนวนคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 50% จาก 10,000 คน เป็น 15,000 คน สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า ตลอดปีนี้อาจมีจำนวนคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาตัวในเมืองไทยมากขึ้น โดยสัดส่วน 50% ของคนไข้จะเข้ามารับการรักษาใน 3 ศูนย์หลัก คือ ศูนย์ตรวจสุขภาพ ,ศูนย์ทันตกรรม และศูนย์ความงาม ซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีมาร์จิ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

อย่างไรก็ดีในช่วงกลางปีนี้ โรงพยาบาลลาดพร้าวยังมีแผนจะเปิดตึกใหม่ ซึ่งภายในตึกใหม่จะประกอบด้วย ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ,ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา และศูนย์ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือ CT และศูนย์ตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI ซึ่งตึกใหม่จะทำให้บริษัทมีรายได้ในส่วนของคนไข้ชำระเงินขยายตัวขึ้น

เขา เล่าต่อว่า สำหรับแผนงานในส่วนของ 'คนไข้ประกันสังคม' ปัจจุบันโรงพยาบาลลาดพร้าวมีโควต้าประกันสังคมเพิ่มเป็น 1.6 แสนคน จากปี 2559 ที่มีคนไข้ประกันสังคม 1.4 แสนคน และในปีหน้าจะขอโควตาเพิ่มอีก 50,000 คน

ตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่ เพิ่มจำนวนเตียง และเพิ่มห้องตรวจอีก 20 ห้อง เพื่อรองรับคนไข้ประกันสังคมที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 แสนคน อย่างไรก็ดีการขอเพิ่มโควต้าต้องอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ในปีนี้ประกันสังคมต้องปรับอัตราการจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 4-5% คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้ หากไม่จ่ายบริษัทก็ไม่รับหรือชะลอโควต้าไว้ก่อน

'โควต้าประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น บวกกับทางการอาจปรับอัตราการจ่ายเงินใหม่ เรื่องเหล่านี้จะทำให้เรามีรายได้จากคนไข้ประกันสังคมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10%' 

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้คนไข้ชำระเงินเอง และคนไข้ประกันสังคม 55:45 แต่หากบริษัทไม่ได้เพิ่มโควตาคนไข้ประกันสังคม สัดส่วนรายได้คนไข้ชำระเงินและประกันสังคมจะอยู่ระดับ 60:40

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าต่อว่า ตอนนี้บริษัทมีการปรับแผนการลงทุนใหม่ ล่าสุดกำลังศึกษาการลงทุนในศูนย์ทางการแพทย์เฉพาะทางระดับสูง เช่น ศูนย์รักษาโรคมะเร็ง ,ศูนย์โรคหัวใจ ,ศูนย์เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
หลังทางการมีความชัดเจนเรื่องการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) โดยสถานีรถไฟฟ้าจะมาอยู่หน้าโรงพยาบาล (ตรงตึกประกันสังคม) ฉะนั้นในอนาคตคนไข้จะเดินทางมารับการรักษาสะดวกมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีแผนจะสร้างอาคารใหม่บริเวณพื้นที่จอดรถ ซึ่งอาคารดังกล่าวจะมีพื้นที่ใช้สอย 10,000 ตารางเมตร มูลค่าเงินลงทุน 200 ล้านบาท (ไม่รวมเครื่องมือทางการแพทย์) คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2562 และจะแล้วเสร็จในปี 2563

ในส่วนของที่จอดรถจะย้ายไปอยู่ด้านหลัง หลังตั้งใจจะลงทุนสร้างอาคารจอดรถใหม่ ล่าสุดมีบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้และจีนเข้ามานำเสนอราคาก่อสร้างแล้วประมาณ 100-150 ล้านบาท

ส่วนอาคารประกันสังคมที่จะมีสถานีรถไฟฟ้าอยู่ข้างหน้า ตอนนี้ทางการได้นำเสนอทำทางเชื่อมเข้าในตัวอาคาร เพื่อแลกเปลี่ยนกับพื้นที่เวรคืนบางส่วน ซึ่งบริษัทกำลังศึกษาว่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด เบื้องต้นอาจนำพื้นที่ดังกล่าวไปพัฒนาเป็นศูนย์ทันตกรรม ,ศูนย์ความงาม ,ขายเวชสำอางค์ หรือ แพทย์ทางเลือก (ฝั่งเข็ม) เป็นต้น

ส่วนคนไข้ประกันสังคมจะย้ายไปอยู่อาคารใหม่ ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาหาที่ดินบริเวนดังกล่าว ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาหากมีการสร้างอาคารประกันสังคมแห่งใหม่โรงพยาบาลลาดพร้าวอาจขอโควตาคนไข้ประกันสังคมได้มากถึง 3 แสนคน

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการก่อสร้าง 'โรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา' ขนาด 180 เตียง มูลค่าลงทุนเฉลี่ย 600 ล้านบาท เจ้าของใหญ่ ตอบว่า อยู่ระหว่างจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเตรียมการขออนุญาตก่อสร้าง

คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2562 ซึ่งพื้นที่อำเภอลำลูกกาเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะมีทั้งโครงการที่พักอาศัย พื้นที่อุตสาหกรรม และพาณิชกรรม ที่กำลังขยายตัวค่อนข้างสูง

'พื้นที่บริเวณโรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา แวดล้อมไปด้วยหมู่บ้าน ห้างต่างๆ และโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นทำเลทองแห่งหนึ่ง' 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะผลักดันบริษัทในเครือ ภายใต้ชื่อ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จํากัด (AMARC) ผู้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และ วิจยัด้านอาหาร ผลติผลการเกษตรและยา เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของ 4 ห้องแล็บ คือ 1.เกษตรอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับเกษตรอาหารสด-แห้ง หรือ อาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูป 2.ยา 3.แล็บแพทย์ ซึ่งเป็นแล็บที่ตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อหาสารก่อมะเร็งในชิ้นเนื้อ และ 4.แล็บสอบเทียบ (ตรวจสอบเครื่องมือทางการแพทย์ว่าได้มาตรฐานหรือไม่)

ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าในบริษัทย่อย ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ คาดว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ความต้องการการตรวจสอบจากห้อง LAB จะเพิ่มขึ้น ตามแผนปีหน้าจะขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัด เน้นตามแนวชายแดนไทย และในปี 2561 จะขยายสาขาออกไปในต่างประเทศ ตอนนี้กำลังสนใจประเทศพม่า

'ดร.อังกูร' ทิ้งท้ายว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง กิจการจะเข้าสู่ช่วง high season ขณะที่โรงพยาบาลมีการปรับระยะเวลาการเปิดให้บริการตึกใหม่เป็นในเดือน ก.ค. 2560 ล่าสุดอยู่ระหว่างตกแต่งภายใน ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การติดตั้งเครื่อง MRI ฉะนั้นผลประกอบการ 6 เดือนหลัง น่าจะออกมาดีกว่า 6 เดือนแรก