แกะงบดุล ‘แบงก์ชาติ’ ขาดทุนเงินบาท..แต่ฐานะตปท.แกร่ง

แกะงบดุล ‘แบงก์ชาติ’ ขาดทุนเงินบาท..แต่ฐานะตปท.แกร่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานผลดำเนินการงวดปี 2559 ออกมามีผล “ขาดทุนเบ็ดเสร็จ” รวม 1.39 แสนล้านบาท ทำให้ยอดขาดทุนสะสมเพิ่มเป็น 7.25 แสนล้านบาท และมีส่วนทุนติดลบเพิ่มเป็น 7.45 แสนล้านบาท

ภายหลังตัวเลขนี้ออกมา ปรากฎว่า “มีคำถาม” จากผู้รับข่าวสารมากมายว่า ผลดำเนินงานของ ธปท. ที่ขาดทุนมหาศาลนี้ สะท้อนว่า ธปท. กำลังจะ “เจ๊ง” ใช่หรือไม่? และเศรษฐกิจของประเทศชาติกำลังเผชิญปัญหาใช่รึเปล่า?

ก่อนตอบคำถามเหล่านี้.. ต้องทำความเข้าใจถึง “บทบาทหน้าที่” และ “ภารกิจหลัก” ของ “ธนาคารกลาง” ซึ่งก็คือ ธปท. ก่อนว่า “คืออะไร?”

..ภารกิจหลักของ ธปท. คือ การดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ผ่านอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละช่วงเวลา

แน่นอนว่าภารกิจเหล่านี้ หนีไม่พ้นที่ ธปท. ต้องเข้าดูแลหรือ “แทรกแซง” ค่าเงินบาทเพื่อให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเพื่อดูแลไม่ให้เงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป จนเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก

ตลอดปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้ เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “วูคา” (volatility, uncertainty, complexity and ambiguity : VUCA) คือ มีทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความไม่ชัดเจนที่สูงมาก ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย

โดยปีที่ผ่านมา ความไม่ชัดเจนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 1 ครั้ง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขึ้นได้ 3-4 ครั้ง

ประกอบกับความไม่แน่นอนในสหภาพยุโรป(อียู) โดยเฉพาะกรณี “เบร็กซิท” ของสหราชอาณาจักร(ยูเค) ซึ่งไม่มีใครคาดคิด ..ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันเงินทุนเคลื่อนย้ายให้ไหลกลับมายังภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ธปท. ต้องเข้ามาดูแลค่าเงินอย่างต่อเนื่อง

การเข้าดูแลของ ธปท. ทำโดยการเอาเงินบาทไปแลกซื้อเงินดอลลาร์มา เพื่อพยุงไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 1.57 แสนล้านดอลลาร์ในปลายปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 1.71 แสนล้านดอลลาร์ในปลายปี 2559

โดยเงินสำรองที่เพิ่มขึ้น บวกกับเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ธปท. มีผลขาดทุนทันที แต่ก็เป็นเพียงผล “ขาดทุนทางบัญชี” เท่านั้น ซึ่งในปี 2559 ธปท. มีผลขาดทุนจากส่วนนี้ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท แต่ในทางกลับกัน เงินสำรองที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองไทยมีฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยถูกมองเป็น “เซฟเฮฟเว่น” หรือแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัย

นอกจากนี้ ถ้าย้อนไปดูปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ เงินบาทอ่อนค่าลง โดยปีดังกล่าว เงินบาทอ่อนค่าจากระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ หรือคิดเป็นการอ่อนค่าลงประมาณ 9.7% ทำให้ในปีนั้น ธปท. มีกำไรจากการตีราคาค่าเงินบาทราว 1.84 แสนล้านบาท ส่งผลให้ในปีดังกล่าว ธปท. มีกำไรเบ็ดเสร็จราว 9.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามอาจมีบางส่วนที่เป็นผล “ขาดทุนจริง” บ้าง นั่นคือ ผลขาดทุนจาก “ส่วนต่าง” ระหว่าง “ดอกเบี้ยรับ” กับ “ดอกเบี้ยจ่าย” ซึ่งผลขาดทุนส่วนนี้ก็เกิดจากการเข้าดูแลค่าเงินของธปท. เพราะ ธปท. ต้องเอาเงินบาทไปแลกซื้อเงินดอลลาร์เพื่อพยุงไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป

แต่การปล่อยเงินบาทออกสู่ระบบที่มากเกินไป ทำให้ ธปท. เกิดความกังวลว่า จะสร้างปัญหาข้างเคียงตามมา ธปท. จึงต้อง “ดูดซับ” เงินบาทเหล่านั้นกลับคืนมา ด้วยการออกพันธบัตรธปท. แน่นอนว่า ย่อมมีต้นทุนคือ “ดอกเบี้ยจ่าย” ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่า “ดอกเบี้ยรับ” ที่ได้จากการนำเงินดอลลาร์ที่อยู่ในรูปเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน ทำให้ ธปท. มีผลขาดทุนจากส่วนนี้ ซึ่งถือเป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนจากส่วนนี้ในปี 2559 ถือว่าลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับอดีต โดยปี 2559 ธปท. มีผลขาดทุนจากส่วนนี้ราว 2.9 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลขาดทุนจากส่วนนี้ 4.48 หมื่นล้านบาท และปี 2557 มีผลขาดทุนจากส่วนนี้ 6.25 หมื่นล้านบาท

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การขาดทุนของ ธปท. ไม่มีประเด็นใดที่น่ากังวล เพราะถือเป็นการทำหน้าที่ของ ธปท. ที่ต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ดูแลการไหลเข้า-ไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย และการขาดทุนส่วนใหญ่ก็เป็นการขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น

ด้าน “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธปท. ยืนยันว่า การขาดทุนของธปท.ไม่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะสิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือ ความเชื่อมั่นของตลาดการเงินที่มีต่อการทำนโยบายของธปท. ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือในการทำนโยบาย ตลอดจนความโปร่งใสและหลักของการทำนโยบาย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผลดำเนินงานของธปท.

“คนชอบโยงผลขาดทุนของธปท.กับฐานะของประเทศ ซึ่งไม่ใช่ เพราะถ้าดูเงินสำรองระหว่างประเทศเราสูงมาก ยิ่งเงินสำรองสูง ก็ยิ่งอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน และการขาดทุนของ ธปท. เป็นการทำหน้าที่ของธนาคารกลางเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า ตลอดจนคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางทั่วไป”วิรไท ระบุ

วิรไท บอกว่า ถ้าดูผลขาดทุนในปี 2559 ส่วนใหญ่เกิดจากการตีราคาตามมูลค่าทางบัญชี(แวลูเอชั่น) ในขณะที่ผลขาดทุนจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายแม้จะมีบ้างแต่ก็ทยอยลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะการที่เฟดเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับปกติ ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยต่างประเทศกับดอกเบี้ยไทยแคบลง

“เฟดมีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้น แก๊ปตรงนี้ก็จะยิ่งแคบลง ดังนั้นผลขาดทุนจากส่วนนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงด้วย ส่วนผลขาดทุนทางบัญชีอันนี้ต้องขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน จะเห็นว่าในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่เงินบาทอ่อนค่าลง เราก็มีกำไรจากการตีมูลค่าตั้งแสนกว่าล้านบาท”

วิรไท ย้ำว่า เรื่องการตีมูลค่าทางบัญชี ก็เหมือนกับเราซื้อทองคำ ซึ่งราคาปกติมักจะขึ้นๆ ลงๆ แต่เรายังคงถือทองคำอยู่ เมื่อบุ๊คตัวเลขทางบัญชีจึงพบว่า บางครั้งมีกำไร บางครั้งก็ขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเฉพาะ ธปท. ซึ่งธนาคารกลางอื่นอีกหลายประเทศก็เผชิญปัญหาเดียวกันนี้

โดยสรุปแล้ว การขาดทุนของ ธปท. เกิดจากการเข้าพยุงค่าเงินไม่ให้ผันผวนหรือแข็งค่าเร็วเกินไป เพื่อดูแลให้ทั้ง “ผู้ส่งออก” และ “นำเข้า” ปรับตัวรับกับความผันผวนเหล่านี้ได้ทัน และการขาดทุนที่เกิดขึ้น มาพร้อมกับเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองไทยเป็นเซฟเฮฟเว่น!