กาตาร์ยันไม่ใช้กำลังทหารแก้วิกฤต

กาตาร์ยันไม่ใช้กำลังทหารแก้วิกฤต

รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ประกาศชัด ไม่ยอมให้ชาติใดแทรกแซงนโยบายต่างประเทศ หลังถูกซาอุดีอาระเบียและเหล่าชาติอาหรับ ตัดความสัมพันธ์การทูต แต่ยืนยันไม่ใช้มาตรการทางทหารคลายวิกฤตครั้งนี้

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล-ทานี รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ กล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์แทรกแซงนโยบายต่างประเทศของกาตาร์ และกาตาร์ไม่มองมาตรการทางทหารเป็นทางเลือกในการคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้

ชีค โมฮัมเหม็ด ยังกล่าวอย่างมั่นใจว่ากาตาร์ จะอยู่รอดจากสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้น โดยกาตาร์ยังคงส่งมอบก๊าซธรรมชาติเหลวแก่ยูเออีตามเดิม 

ทั้งนี้ กาตาร์ เป็นชาติผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดของโลก

ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อียิปต์และบาห์เรน นำประเทศต่างๆตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลโดฮา สนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอย่าง กลุ่มภราดรภาพมุสลิม, กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) อัลกออิดะห์ ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ ที่อิหร่านซึ่งเป็นคู่อริกับซาอุดีอาระเบียให้การหนุนหลังอยู่ พร้อมทั้งระงับเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกจากโดฮา และปิดการเชื่อมโยงทางทะเลและทางอากาศกับกาตาร์ ในขณะที่ ซาอุดีอาระเบีย ยังปิดการเชื่อมโยงกับกาตาร์เพิ่มอีกทาง นั่นคือตามแนวชายแดนภาคพื้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกอาหารของกาตาร์

อย่างไรก็ตาม แม้กาตาร์ ยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับกลุ่มหัวรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเออี เปิดเผยเมื่อวันพุธ(7 มิ.ย.) ว่ามาตรการคว่ำบาตรต่างๆที่ประกาศใช้กับกาตาร์ มีเป้าหมายกดดันให้รัฐบาลโดฮาเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างฉับพลัน พร้อมทั้งเตือนว่าไม่มีใครสามารถคาดเดาความผันผวนของวิกฤตครั้งนี้ได้

ขณะที่ นายรีอัด คาวาจี ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยทางทหารตะวันออกไกลและอ่าวอาหรับ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองดูไบ ให้ความเห็นว่า กาตาร์ กำลังตกอยู่ในภาวะถูกต้อนเข้ามุมในวิกฤตการณ์อ่าวอาหรับครั้งนี้ และหนทางเดียวที่จะขจัดสภาวะถูกโดดเดี่ยวได้คือ การยอมประนีประนอม

นายคาวาจี แสดงความเห็นผ่านอีเมลว่า ความขัดแย้งทางการทูตระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับและกาตาร์ ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้กลับเข้าสู่ยุคที่ซาอุดิอาระเบียกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง ซึ่งจะไม่ยอมให้กาตาร์ ดำเนินนโยบายการเมืองในลักษณะที่คลุมเครือได้

นายคาวาจี อธิบายว่า การเมืองในลักษณะคลุมเครือหมายความว่า กาตาร์ จะยังคงเป็นประเทศสมาชิกที่แข็งแกร่ง และมีบทบาทสำคัญในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ซึ่งมีซาอุดิอาระเบียเป็นผู้นำ แต่ในขณะเดียวกัน กาตาร์กลับดำเนินนโยบายและแสดงจุดยืนที่ขัดต่อหลักการของกลุ่มจีซีซี โดยจุดยืนดังกล่าวของกาตาร์ได้แก่ การยกย่องอิหร่านว่ามีบทบาทในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค และให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม