ถอดบทเรียนคดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ มุมมองนักวิชาการ-คนรุ่นใหม่

ถอดบทเรียนคดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ มุมมองนักวิชาการ-คนรุ่นใหม่

ประเด็นร้อน! ถอดบทเรียนคดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ มุมมองนักวิชาการ-คนรุ่นใหม่

นักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา เรื่อง “ฆ่า หรือ ค่า : สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย” เพื่อถอดบทเรียนและเสนอความเห็นด้านวิชาการต่อประเด็นการนำเสนอคดี “น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือ เปรี้ยว” และเพื่อนอีก2คน เป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพอำพรางคดีที่จ.ขอนแก่น จนกลายเป็นปรากฎการณ์ข่าวที่สังคมให้ความสนใจและถูกตั้งคำถามในเชิงคุณค่าข่าว และ มาตรฐานของการนำเสนอข่าวสารของ สื่อมวลชน ยุคการสื่อสารออนไลน์กลายเป็นตัวนำของทิศทางข่าว

สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า แม้ปรากฎการณ์ฆาตกรรมเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นสังคม แต่การนำเสนอข้อมูลผ่านทางสังคมออนไลน์ที่ขาดการคำนึงถึงผลกระทบด้านลบกับเยาวชนหรือบุคคลที่อยู่ระหว่างค้นหาตัว ในอนาคตจะกลายเป็นเรื่องที่อันตรายได้ เพราะความทรงจำถูกบันทึกไว้ให้กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินต่อความรุนแรง และอาจส่งผลต่อการนิยมความรุนแรงและพฤติกรรมก้าวร้าวของคนในสังคมได้ในอนาคต เนื่องจากสังคม หรือเด็กในปัจจุบันขาดการแยกแยะ และขาดการสั่งสอนจากสถาบันครอบครัวในประเด็นที่ถูกต้องเหมาะสม

“บทบาทของสื่อหลัก ต้องทำหน้าที่เป็นหลัก ไม่ใช่การตามประเด็นหรือกระแสของสื่อสังคมออนไลน์ ผมมองว่าตอนนี้สื่อหลักยังสามารถพลิกกระแส สื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยการแยกแยะประเด็น กระตุกสังคมให้มีมุมมองที่ถูกต้อง"

มรรยาท อัตรจันทโชติ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการนำเสนอข่าวสารของคดีเปรี้ยว นั้นมีแง่มุมที่ให้ติดตามหลากหลาย อาทิ เรื่องความสวยงาม เรื่องชีวิต หรือเรื่องผี ทำให้คนสนใจในรายละเอียดหรือข้อมูลของเปรี้ยวจำนวนมาก แต่เมื่อวิเคราะห์ต่อคุณค่าข่าวนั้นอาจต้องตั้งคำถามด้วยว่า เมื่อนำเสนอรายละเอียด หรือเนื้อหาแล้ว สังคมได้ประโยชน์อะไร ส่วนตัวมองว่าข่าวไม่ควรแข่งขันเชิงปริมาณ เช่น อะไรเกิดก่อนกัน แต่ควรแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่า

"บทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องเพิ่มในแง่การกำกับและดูแลกันเองให้เกิดขึ้นจริง เพื่อไม่ให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กลับมาฆ่าสังคม รวมถึงฆ่าวิชาชีพของตัวเอง” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าว

เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ระบุว่า “คดีเปรี้ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถมองไปเฉพาะที่คนรับสื่อ หรือ คนใช้สื่อได้แล้ว เพราะต้องมองไปที่กลุ่มตัวแทนที่มีบทบาทต่อการตั้งคำถาม หรือ ความร่วมมือกับสื่อมวลชนต่อประเด็นการสร้างความรับผิดชอบกับสังคมด้วย อาทิ สถาบันวิชาการ สถาบันวิชาชีพ ผ่านการทำและชี้บทบาทรวมถึงความต่างระหว่างสื่อออนไลน์ กับ สื่อกระแสหลัก ให้สังคมเข้าใจ เพื่อให้สังคมสามารถใช้สื่อออนไลน์อย่างรับผิดชอบ”

เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวต่อด้วยว่า ปรากฎการณ์ของเปรี้ยวที่เกิดขึ้น ตนมองว่าการนำเสนอได้เซ็ตภาพของผู้หญิงสวย ผู้หญิงร้าย แล้วจะโด่งดัง หากสังคมตั้งคำถามว่าสื่อมวลชนมีจริยธรรมหรือไม่ สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถเอาผิดได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การบอกกับสังคมต่อความต่างระหว่างสื่อออนไลน์ กับสื่อมวลชนวิชาชีพ โดยส่วนตัวมองว่าสื่อมวลชนวิชาชีพนั้น มีหน้าที่ที่ต้องเตือนภัยสังคม นำเสนอข้อมูลที่กระตุกสังคม มากกว่านำเสนอเรื่องราวหรือเหตุการณ์

ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อประเด็นการนำเสนอคดีเปรี้ยว ของสื่อมวลชนทั้งการแสวงหาข้อมูล พยานหลักฐาน บางครั้งถือเป็นประโยชน์ต่อการสืบคดีของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันอาจสร้างผลกระทบต่อความรวดเร็ว การนำเสนอของสื่อมวลชนที่มีเรื่องราว สร้างความสมจริง หรือสร้างเนื้อหามีความดราม่าระหว่างที่คดียังอยู่ระหว่างตรวจสอบ อาจกระทบต่อความเป็นกลางในการทำคดี เพราะสังคมเกิดอคติที่เกิดจากการนำเสนอของสื่อมวลชนที่สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้นของคดี

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนมุมมองต่อการเปิดเผยข้อมูลของบุคคลที่ถูกตั้งคำถามว่าป่วยทางจิตหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า หากรู้แล้วจะเป็นผลดีอย่างไร หรือ รู้เพื่ออะไร หรือ รู้เพื่อให้เกิดประเด็นดราม่าเท่านั้น ทั้งที่ไม่มีความชัดเจนว่าข้อมูลที่ทราบนั้นเป็นความจริงหรือไม่

“อย่างที่มีข่าวว่า สีหน้าไม่สำนึก ขนาดผมเป็นหมอ ผมไม่สามารถเดาอารมณ์จากสีหน้าของคนได้ว่า เขารู้สึกอย่างไร แต่ส่วนหนึ่งที่เขียนแบบนั้น อาจทำให้ช่วยขายข่าวได้เท่านั้น กับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดการวิจารณ์ และตีความไปอย่างกว้างขวาง เช่น จริยธรรม ปัญหาของสังคม แต่สุดท้ายคือ การนำเสนอข่าวคดีฆาตกรรมเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นพฤติกรรมที่ผิดปกติ อย่าคิดว่าเป็นคนป่วย และหากจะให้ข้อมูลใดๆ นั้นอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร” นพ.ภุชงค์ กล่าว

นอกจากมุมมองของนักวิชาการแล้ว เด็กรุ่นใหม่มองปรากฏการณืเรื่องนี้อย่างไร โดย ไทเกอร์ - นายณัฐธิชาญ เทศนำนุ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 2 มองว่า ปรากฎการณ์ ของ “เปรี้ยว ผู้ต้องหาฆ่าหั่นศพ” ที่สื่อมวลชนนำเสนอนั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของปรากฎการณ์ของคดีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ตามรายละเอียดของคดีที่ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนอเพิ่มเติมจากว่าเกิดอะไร ที่ไหน อย่างไร คือ ข้อมูลทางด้านกฎหมายของการกระทำหากพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง

ขณะนี้มุมมองการนำเสนอ “เปรี้ยว สวยพิฆาต” และยกให้เป็น เน็ตไอดอล นั้น “ณัฐธิชาญ” ยอมรับว่าในแง่มุมนี้อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ หากเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ที่บริโภคข่าวสาร แล้วขาดการคิด วิเคราะห์ หรือได้รับคำชี้แนะจากผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ในทิศทางและข้อมูลที่ถูกต้อง

ซินดี้ - น.ส.เพ็ญญาเรีย บุญประเสริฐ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ชั้นปีที่ 2 เห็นสอดคล้องกันถึงพฤติกรรมที่อาจสร้างการเลียนแบบ หรือลอกเลียน สำหรับ “เยาวชน” หรือ “บุคคล” ที่บริโภคข่าวสารไม่ครบถ้วย โดยเฉพาะกรณีการเลือกนำเสนอมุมชีวิตที่สวยงาม การดูแลบุพการี ทั้งที่กรณีดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องปกติที่สามัญชนทุกคนต้องรับผิดชอบ

“สิ่งที่สื่อมวลชนเลือกนำเสนอ เช่น หมอนของเปรี้ยว จนทำให้หมอนลายเดียวกันนั้นขายจนหมดตลาด หรือมุมมองที่เขาดูแลครอบครัว แทนการนำเสนอประเด็นที่เป็นเหตุให้เปรี้ยวถูกจับ เพราะเป็นผู้ต้องหาฆ่าผู้อื่น อาจทำให้คนที่รู้ไม่เท่าทัน พลอยคิดว่า ฆ่าคนไม่เป็นไร ฆ่าคนก็ได้รับการยกย่อง และอาจทำให้ถูกมองว่า ดังนั้นสิ่งที่สื่อมวลชนควรนำเสนออย่างที่สุดคือ เมื่อคนทำผิดกฎหมายต้องได้รับการพิสูจน์และได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่การนำเสนอในแง่มุมที่ทำให้สังคมยกย่องฆาตกรที่ร้ายกาจ” น.ส.เพ็ญญาเรีย ระบุ

อู๋ - นายณัฐวัชร มโนมัยวจี นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมีเทคนิค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ติดตามข่าวสาร “คดีเปรี้ยว” ผ่านทางสื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ มองว่าการนำเสนอข่าวสารของ “เปรี้ยว” มีทุกแง่มุมที่ต้องการจะรู้ และมุมข่าวที่ไม่ต้องการรับรู้ เพราะเป็นเรื่องไร้สาระ อย่างไรก็ดีในมุมมองที่ถูกนำเสนอและมีสังคมบางกลุ่มยกให้เป็นบุคคลตัวอย่างนั้น เข้าใจว่าไม่ใช่ทั้งหมดของทุกระดับสังคม

“โดยส่วนตัวไม่มองว่า “เปรี้ยว” เป็นบุคคลที่น่ายกย่อง หรือเป็นไอดอล เนื่องจาก เธอคือผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรม..

“ผมมองว่าสิ่งที่สื่อมวลชนควรพิจารณาต่อข่าวสารของคดีเปรี้ยว คือการนำเสนอในคดี เรื่องกฎหมาย และการลงโทษ มากกว่าการตีแผ่กระแสความเป็นไอดอลทางอินเตอร์เน็ต อย่างน้อยเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าบุคคลที่นำมาเสนอนั้นเป็นบุคคลที่เป็นผู้ต้องหา ฆาตกรรม และต้องได้รับโทษ ไม่ใช่นำเสนอทุกแง่มุมที่ทำให้เห็นว่าผู้ต้องหารายนี้คือคนดังที่น่าติดตาม” ณัฐวัชร สะท้อนมุมมอง

แหน - น.ส.ฐิตินันท์ เอนกจินดารัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บริโภคข่าวสารของ “คดีเปรี้ยว” ผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ ตั้งคำถามกลับไปยังสังคมที่ยอมรับตัวตนและยกย่องให้พฤติกรรมของ “มือหั่น” กลายเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับ ว่า ไม่เข้าใจว่าสังคมกำลังคิดอะไร ทั้งที่ “เปรี้ยว” คือ ผู้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าบุคคลอื่นโดยเจตนา ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่ควรได้รับการยกย่องจากสังคม อย่างไรก็ตามยังมองด้วยว่าการนำของใช้ของเปรี้ยว เช่น หมอน หรือ ผลิตพวงกุญแจรูปเลื่อย เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำเสนอเพราะจะทำให้กลุ่มคนที่ขาดการคิด วิเคราะห์ หรือแยกแยะความถูก หรือความผิดเข้าใจผิดว่า “เปรี้ยว”คือบุคคลที่เอาเป็นแบบอย่างได้

“สิ่งที่คนในสังคม ที่บริโภคข่าวสารนี้จะควรเรียนรู้ คือ ไม่สามารถอ่านเฉพาะพาดหัวข่าว หรือ หัวข้อข่าวได้ต่อไป เพราะเข้าใจว่าการเขียนแบบนั้นเพื่อต้องการกระตุ้นความสนใจ ซึ่งข้อความอาจไม่ตรงกับข้อมูลที่นำเสนอในข่าวก็ได้ ดังนั้นข่าวเดียวกันควรค้นหาข่าวจากหลายๆ ช่องทางด้วย” ฐิตินันท์ ระบุ

นี่เป็นมุมมองสะท้อนของนักวิชาการ และ มุมมองของเยาวชน ต่อปรากฎการณ์ กระแสของ “เปรี้ยว” ที่ถูกส่งต่อเป็นคำวิจารณ์นถึงบทบาทของสื่อมวลชนในปัจจุบัน