ท่องเที่ยวเล็งจับคู่ “1บริษัททัวร์1ชุมชน”

ท่องเที่ยวเล็งจับคู่ “1บริษัททัวร์1ชุมชน”

กระทรวงท่องเที่ยวเล็งจับคู่บริษัททัวร์เป็นพี่เลี้ยงชุมชนท่องเที่ยว วางเป้าบ่มเพาะจุดเด่นท้องถิ่นตอบสนองการตลาดได้ ดีเดย์เริ่มทดลองโครงการเดือน ก.ค.นี้ ปิ๊งโมเดลตามรอยเมียนมา แต่ปรับวิธีให้อินเซนทีฟบริษัททัวร์ช่วยสานเป้าหมาย

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่ามีแนวคิดนำโมเดลการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวที่เมียนมาประสบความสำเร็จมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยใช้แนวคิดให้บริษัทนำเที่ยวที่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาด และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จับคู่เป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนท่องเที่ยวต่างๆ ที่ขณะนี้กระจายตัวอยู่ราว 8 หมื่นแห่งทั่วประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อเฟ้นนำจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่แต่ละท้องถิ่นมีอยู่ ขึ้นมาวางเป็นสินค้าหรือเส้นทางท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้

ทั้งนี้ แนวคิดเบื้องต้นคือการทำโครงการ 1 บริษัทท่องเที่ยว 1 ชุมชน และมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีหน่วยงานด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนภายใต้การดูแลอยู่แล้ว ให้นำแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติ เริ่มนำร่องทดลองโครงการได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการนำโมเดลของเมียนมามาใช้นั้น ไม่สามารถถอดรูปแบบเดียวกันมาใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากไทยอาจจะไม่สามารถใช้วิธีการบังคับให้บริษัททัวร์เข้าร่วมได้ ดังนั้นจึงต้องปรับแนวขอความร่วมมือ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษ (อินเซนทีฟ) ที่ตรงกับความสนใจของบริษัททัวร์ เช่น ให้สิทธิด้านภาษีบางประการ โดยนับรวมกิจกรรมนี้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และสามารถทำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคาดว่าจะสร้างแรงจูงใจให้ทัวร์เข้ามามีส่วนร่วม และกลับกันจะกระตุ้นให้เกิดรายได้หมุนเวียนสู่ชุมชนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50%

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการปรับแนวทางกฎหมายให้เข้ากับธุรกิจนำเที่ยวปัจจุบัน ที่เริ่มนิยมเข้าหาวิถีท้องถิ่นและใช้มัคคุเทศก์ (ไกด์) จากชุมชนนั้นๆ มากขึ้น ด้วยการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติข้อเสนอของคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เปิดโอกาสให้ไกด์ท้องถิ่นของชุมชนสามารถจับคู่กับบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้อง และนำทัวร์ได้โดยถูกต้องแบบไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบทั่วไป และไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ โดยมองประโยชน์ในเชิงการสร้างสำนึกท้องถิ่นระยะยาวให้คนรักชุมชน เกิดการถ่ายทอดและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงทำให้รายได้กระจายอยู่ภายในพื้นที่ เพราะบริษัทนำเที่ยวต้องเลือกไกด์จากท้องถิ่นมาปฏิบัติงาน เพราะมีความรู้เชิงลึกเข้าถึงพื้นที่มากกว่า

"สนใจเรื่องการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบกิจการเพื่อสังคมมาก เนื่องจากเป็นการแบ่งปันกำไรนำมาคืนสู่ชุมชน และที่ผ่านมามีกรณีที่ประสบความสำเร็จในอังกฤษ และอเมริกาอย่างมาก ขณะที่ไทยจะพัฒนาด้วยโมเดลนี้ได้ดี เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ควรได้รับการพัฒนาอยู่แล้ว"