พกพาข้อมูลเซฟชีวิต ริสแบนด์ ‘MEiD’

พกพาข้อมูลเซฟชีวิต  ริสแบนด์ ‘MEiD’

“ถ้าถึงมือหมอแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” เชื่อว่าว่าใครหลายต่อหลายคนรู้สึกอย่างนี้

เวลาที่ตัวเองหรือคนใกล้ชิดต้องเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ข้อมูลของคนไข้ มีผลต่ออาการเจ็บไข้ว่าจะหายหรือไม่หาย


ข้อมูลที่ว่านี้ประกอบด้วยคนไข้โรคประจำตัวอะไร มีประวัติเคยแพ้ยาแพ้อาหารอะไร มียาอะไรที่ใช้ประจำหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาบ่อยครั้งแพทย์ไม่ได้เห็นข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้จนทำให้ไม่สามารถทำการรักษาในแนวทางที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที


“ปีติพงศ์ เหลืองเวชการ” เล่าว่าปัญหาดังกล่าวมาจากประสบการณ์ตรงของน้องชายและน้องสะใภ้ของเขาที่ต่างก็เป็นแพทย์ทั้งคู่ นั่นคือ “นพ.ภวิศ เหลืองเวชการ” และ “พญ.วีรพร ศรีสังข์” ซึ่งเวลานี้กำลังไปศึกษาต่ออยู่ที่สหรัฐอเมริกา


"เวลาที่ต้องตรวจคนไข้คนหนึ่งกรณีที่เคสไม่เร่งด่วน ที่ทำคือหมอต้องนั่งดูประวัติก่อนว่าคนไข้กินยาอะไร แพ้ยาอะไร ซึ่งแฟ้มประวัติจะมีขนาดใหญ่มาก ขณะที่คีย์เวิร์ดสำคัญมันจะซ่อนอยู่ในกระดาษไม่กี่แผ่นที่อยู่ในแฟ้ม ส่วนตัวคนไข้เองส่วนใหญ่จะไม่รู้อะไร หรือบอกได้แต่ไม่ชัดเจนว่าก่อนหน้าเขาได้กินยาแก้ปวดเม็ดสีเขียวๆ มาซึ่งไม่ได้เป็นข้อมูลการรักษาเลย "


ยิ่งในกรณีที่ฉุกเฉิน อย่างเช่น คนไข้มีอาการเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก การที่ไม่รู้ข้อมูลคนไข้ภายในเวลาที่รวดเร็วก็อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ เพราะไม่รู้ว่าคนไข้กินยาอะไร แพ้อะไรหรือไม่ ..ถ้าให้ยาผิดก็อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้เช่นกัน


พวกเขาทั้งสามคน จึงคิดอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการแพทย์ของไทย ต้องบอกว่าในช่วงเริ่มต้นจะอยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์ชื่อว่า “วอช ด็อก เซย์” ที่หวังให้เป็นฐานข้อมูล โดยให้คนไข้หรือคนทั่วไปมากรอกประวัติข้อมูลการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งทำไปทำมาก็พบข้อจำกัดหลายประการ


"มันมีความยากเพราะการกรอกข้อมูลต้องให้หมอช่วย หรือเภสัชกรช่วยเหลือ ซึ่งก็คงไม่มีเวลา และเราอยากจะมีทีมหมอมาช่วยตอบคำถามสุขภาพทางเว็บไซต์และมันก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก สรุปแล้วต้นทุนมันสูงการเข้าถึงก็ยาก เป็นแนวคิดที่ไม่สามารถทำได้จริง เหมือนเป็นกำแพงที่สูงเกินกว่าที่เราจะปีนข้ามไปได้"


มันอาจเป็นความล้มเหลว แต่ก็ไม่ได้หมายถึงพวกเขาล้มเลิกความตั้้งใจ และเมื่อได้ไปเรียนต่อที่อเมริกาก็ทำให้ นพ.ภวิศ ได้เห็นว่าที่นั่นมีการใช้ริสแบนด์เก็บข้อมูลส่วนบุคคลกันอย่างแพร่หลาย คำถามก็คือทำไมไม่ลองเอามาทำที่เมืองไทยบ้าง


"พวกเรามาปิ๊งไอเดียกันเมื่อปีที่แล้ว ว่าควรจะทำฐานข้อมูลคนไข้ที่สามารถโชว์ให้หมอดูได้ ทั้งโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ ประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร และเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน "


จึงเป็นที่มาของริสแบนด์ที่ชื่อว่า “มีไอดี” (MEiD)


ซึ่งการที่คนในทีมเป็นแพทย์ถือว่ามีความโดดเด่นสำคัญ เพราะทำให้รู้ลึกถึงความต้องการของฝั่งหมอซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ ว่าเวลาเจอคนป่วยแพทย์ต้องการอะไรบ้าง ขณะเดียวกันทีมเองได้มีการทำวิจัยหาความต้องการทางฝั่งลูกค้าและเพื่อให้รู้ว่ากลุ่มใดกันแน่ที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมาย


"แต่ก็ไม่ง่าย เราใช้เวลาในการพัฒนานานถึงครึ่งปีในการออกแบบแล้วออกแบบอีก ต้องโละทิ้งก็หลายรอบ จนเป็นตัวไฟนอลซึ่งก็ถือว่าดีพอสมควร อาจยังไม่เพอร์เฟ็คที่สุด แต่ถือว่าตอบโจทย์ได้ดี รวมถึงดีไซน์ก็สวย มีโค้งเว้าที่เป็นแฟชั่นให้คนใส่ได้ทุกวัน มันทำจากซิลิโคนเมดิคอลเกรดที่ใช้ทางการแพทย์เลย หมุดโลหะที่เราใช้จะไม่ขึ้นสนิม กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องบอกว่าผมต้องบินไปเมืองจีนหลายรอบ จริงๆก็อยากทำในเมืองไทยแต่พอให้โรงงานหลายๆรายลองทำก็ไม่มีใครทำงานละเอียดแบบนี้ได้เพราะเทคโนโลยียังไม่ถึง"


และยังมีต้นทุนอื่นๆอีกมากมายที่ต้องแบกรับ ปีติพงศ์บอกว่าราคาที่ต้้งไว้กว่า 400 บาท จึงน่าจะสมน้ำสมเนื้อไม่ได้เอารัดเอาเปรียบลูกค้าแต่อย่างไร ซึ่งเวลานี้ริสแบนด์มีไอดี มีให้เลือกซื้อสี่สี คือดำ แดง ฟ้า ชมพู และจะมีอยู่ขนาดเดียวแต่มีวิธีใส่เพื่อให้สามารถปรับขนาดให้พอดีกับข้อมือของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่


"ความตั้งใจเดิมพวกเราอยากเจาะคนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม แต่ความเป็นจริงคงไม่สามารถตอบโจทย์คนทุกกลุ่มด้วยสินค้าประเภทเดียว ดีไซน์เดียว พอทำการตลาดได้สักพัก ก็พบว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราเป็นคนวัยทำงานอายุตั้่งแต่ 20-50 ปี ที่ตอบรับเราเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนออกกำลังกาย"


เมื่อรู้ว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้สุดท้ายแล้วมีไอดีได้ถูกออกแบบให้เป็นริสแบนด์แนวสปอร์ต ที่ดูเท่ห์ โฉบเฉี่ยว เพื่อเอาใจคนชอบออกกำลังกาย รวมถึงต้องทนแดดทนฝนทนเหงื่อเป็นพิเศษด้วยริสแบนด์นี้มีประโยชน์อย่างไร? หลักๆแล้วมีดังนี้


1. เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือสามารถสแกนดูข้อมูลต่างๆ ของคนไข้ได้ทันที ลดขั้นตอนการสอบถามประวัติก่อนส่งตัวทำการรักษาในขั้นต่อไป
2. ช่วยเหลือคนพลัดหลงซึ่งอาจเป็นเด็กหรือผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เนื่องจากริสแบนด์สามารถระบุชื่อ นามสกุล และเบอร์ติดต่อฉุกเฉินได้ ผู้ช่วยเหลือก็เพียงติดต่อกลับเบอร์โทรฉุกเฉินที่ระบุไว้
3. เป็นตัวแทนบัตรข้อมูลคนไข้ สามารถลดปัญหาการสื่อสารกับแพทย์ เช่น ในกรณีที่จำชื่อโรคประจำตัว ยาที่ทานประจำ ผลตรวจเลือดล่าสุดไม่ได้ คุณสามารถกรอกข้อมูลเหล่านี้เองหรือให้แพทย์/พยาบาลประจำตัวกรอกลงได้ในแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อกับริสแบนด์มีไอดี และในเวลานี้ได้พัฒนาถึงขั้นที่ไม่ต้องกรอกแต่สามารถถ่ายรูปใบสั่งยาและข้อมูลต่างๆทางการแพทย์เก็บไว้ในระบบได้เลย เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือแพทย์ท่านอื่นรู้ข้อมูลที่อัพเดทได้


นอกจากนั้น ไม่เพียงกลุ่มของคนออกกำลังกาย ดีไซน์ที่ดูทันสมัย ก็เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยให้สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันให้พกพาข้อมูลสำคัญไปได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นคนไข้หรือคนที่แข็งแรง


ส่วนวิธีเข้าถึงข้อมูลจะมีอยู่ 3 วิธี แบบแรก ใต้ชื่อของแบรนด์มีไอดีจะมีคำว่า “Flip&Scan” บ่งชี้ว่าต้องพลิกริสแบนด์เข้าไปดูอีกด้านซึ่งจะพบกับคิวอาร์โค้ด ที่สามารถใช้โปรแกรมคิดอาร์ รีดเดอร์สแกนอ่านข้อมูลได้เลย วิธีที่สองด้านหลังริสแบนด์จะมีเบอร์โทรคอลเซ็นเตอร์ ผู้ช่วยเหลือสามารถโทรขอดูข้อมูลได้เช่นกัน และวิธีสุดท้ายการเข้าไปในเว็บไซต์ meidlife.com


เทเลเมดิซีนครบวงจร


มีไอดีในเวลานี้ได้ผ่านขั้นการพัฒนาโปรดักส์ที่ตอบโจทย์ในส่วนที่มีความจำเป็นจริงๆ จากนั้นก็มาดูฟีดแบ็คของลูกค้าว่าเวลาใช้จริงพบเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วค่อยเอามาพัฒนาต่อยอด


แต่ความยากในเวลานี้ก็คือการสร้างความรับรู้ ซึ่งต้องแบ่งออกเป็น 2 ทาง ไม่เพียงทำให้คนใช้รู้ว่ามันใช้งานได้อย่างไร อีกทางหนึ่งก็คือ ต้องทำให้ผู้ช่วยเหลือ เช่นมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ และ โรงพยาบาลรู้ด้วยว่าริสแบนด์ที่คนไข้สวมอยู่ใช้ประโยชน์ได้อย่างไร


"แต่ในอนาคตผมคิดว่ายังไงมันก็ต้องแพร่หลาย ประเทศไทยเราเองก็เดินตามกระแสโลก ตอนเริ่มต้นย่อมต้องมีความยากแน่นอน เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ที่สุดมันจะเป็นเรื่องเบสิคที่ทุกคนรับรู้และเข้าใจเหมือนอย่างที่ในสมัยก่อนเราก็ใช้อินเตอร์เน็ตกันไม่เป็น แต่เดี๋ยวนี้คนไทยใช้กันแทบทุกคน"


ในช่วงเริ่มต้น พวกเขาไม่ได้หวังตัวเลขกำไร แต่ก็คิดไว้ในใจว่าการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม ที่สุดแล้วก็น่าจะได้รับผลตอบแทนทีหลัง


"เป้าหมายสูงสุด เราอยากเป็นเทเลเมดีซีนที่ครบวงจร หนึ่ง ฐานข้อมูลคนไข้ต้องเข้าถึงด้วยกุญแจของเรา สอง เราจะส่งเสริมให้คนดูแลสุขภาพมากขึ้น ริสแบนด์ของเราจะมีฟังก์ชั่นต่างๆ เช่นการวัดก้าว หรือวัดความดัน ที่อยู่บนฐานที่ใช้งานได้ง่ายราคาไม่แพง ทำนองว่าเส้นเดียวจบได้ครบทุกอย่าง รวมถึงเราจะไปโคกับหน่วยงานที่เป็นเรื่องสุขภาพทั้งหมดเพื่อทำงานร่วมกัน"