'บีทีเอส' เมินเพิ่มทุนกองอินฟราฯ

'บีทีเอส' เมินเพิ่มทุนกองอินฟราฯ

"บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์" ยันไร้แผนเพิ่มทุน "บีทีเอส โกรท" แม้ต้องใช้เงินลงทุนสูง โชว์สินทรัพย์พร้อมขายเข้ากองกว่า 3 แสนล้านบาท

บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ยัน ไร้แผนเพิ่มทุน บีทีเอส โกรท แม้ต้องใช้เงินลงทุนสูง โชว์สินทรัพย์พร้อมขายเข้ากองกว่า 3 แสนล้านบาท ชี้มีกระแสเงินสดเพียงพอลงทุน คาดรายได้ปีนี้เติบโตเท่าตัว พร้อมตั้งงบลงทุนหมื่นล้าน

นายสุรยุทธ์ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) BTS เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่มีแผนที่จะขายสินทรัพย์เข้ากองทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท(BTSGIF) เพิ่มเติม แม้บริษัทจะมีการลงทุนค่อนข้างมากใน 3-5 ปีข้างหน้าเพราะบริษัทมองว่ากระแสเงินสดขณะนี้รองรับการลงทุนได้เพียงพอ

“บริษัทยังไม่มีแผนที่จะขายทรัพย์สินเข้ากองทุน บีทีเอส โกรท ในระยะสั้น แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนที่สูงก็ตาม โดยนโยบายของบริษัทนั้น จะใช้กองทุนเป็นทางเลือกในการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนหากมีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันบริษัทยังมีกระแสเงินสดที่รองรับได้”

ทั้งนี้ การลงทุนของบีทีเอสในระยะสั้นนั้น จะต้องใส่เงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง ซึ่งบีทีเอสถือหุ้นอยู่ในกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์(BSRJoint Venture) ในสัดส่วน 70 % โดยต้องใส่เงินทุนช่วงแรกประมาณ 5.2 พันล้านบาท และต้องใส่เงินลงทุนต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3-4 ปี ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมองว่ากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย(อีบิทดา) ของแต่ละปีอยู่ที่ 4,000 - 5,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะใช้ในการลงทุน ซึ่งบริษัทขอยืนยันกับผู้ถือหุ้นว่าจะไม่มีแผนในการเพิ่มทุนแน่นอน 

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลือง คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาเดินหน้าได้ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ หากสัญญาดังกล่าวสำเร็จจะช่วยให้บีทีเอสมีเส้นทางการเดินรถเพิ่มขึ้นจาก 36 กิโลเมตรเป็น 141 กิโลเมตรในอีก3-4 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้กองทุนประกอบด้วย สัญญาการเดินรถ 23 สถานี ในสายสุขุมวิท ระยะทาง 17 กิโลเมตรจากสถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช และสายสีลม ระยะทาง 6.5 กิโลเมตรจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีสะพานตากสิน ปัจจุบันบริษัทมีทรัพย์สินที่ยังไม่ขายเข้ากองทุน รวมทั้งสิ้น 3.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสัญญาเดิน รถ2 สัญญา คือ สัญญา 30 ปี มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท และสัญญา 26 ปีมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตจากปีก่อนที่ 1.04 หมื่นล้านบาทมากกว่า 1 เท่าตัว โดยจะมาจากรายได้ของส่วนงานอีแอนด์เอ็ม 6,000 - 9,000 ล้านบาท ซึ่งมีจากการเติบโตของผู้โดยสาร 3-4 % และรายได้จากการปรับค่าตั๋วโดยสารอีก1 % มีรายได้จากการเดินรถเติบโต10-12 % ขณะที่บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)VGI มีเป้าหมายรายได้ที่ 4 พันล้านบาท และต้องขยายจำนวนผู้ใช้บัตรแรบบิทให้ได้ 9.2 ล้านใบ จากปัจจุบันที่ระดับ 7 ล้านใบ