เตือนเยาวชนมีสติ อย่าหลงเลียนแบบคนไม่ดีในสื่อโซเชียล

เตือนเยาวชนมีสติ อย่าหลงเลียนแบบคนไม่ดีในสื่อโซเชียล

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เตือนเยาวชนมีสติ อย่าหลงเลียนแบบพฤติกรรมด้านลบคนไม่ดีในสื่อโซเชียลฯ ยกเป็นไอดอล แนะครอบครัว โรงเรียน สังคมและสื่อมวลชน ต้องช่วยกัน

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงพฤติกรรมการเลียนแบบของวัยรุ่นในยุคสังคมออนไลน์ ว่า เป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นจะมีการเลียนแบบบุคคลที่ชื่นชอบ เพราะเป็นวัยที่ค้นหาตัวตน แสวงหาต้นแบบ ต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูงและสังคม และปัจจุบันในยุคที่ Social Media มีการสื่อสารรวดเร็วเป็นวงกว้างแต่ไม่มีมาตรฐานจริยธรรมกำกับเหมือนสื่อหลัก เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ทำให้บุคคลทั่วไปเป็น "ไอดอล" หรือ “Net idol” ได้ง่าย

หากบุคคลต้นแบบมีพฤติกรรมดี มีจริยธรรม อยู่ในกฎระเบียบของสังคม ไม่เป็นอันธพาล ไม่ทำร้ายผู้อื่น ย่อมเป็นผลดีต่อสังคม แต่หากยอมรับต้นแบบที่ไม่ดีมากๆ คนในสังคมก็จะชินชาเห็นเป็นเรื่องปกติจนเกิดเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีของสังคม ที่จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ขาดระเบียบ มีแต่การเบียดเบียน ทำร้ายกัน ไม่ว่าจะด้วยคำพูด ความคิด หรือพฤติกรรม

ดังนั้น จึงต้องมีสติให้มาก คิดไตร่ตรอง ให้ความชื่นชมยกย่อง เลือกรับหรือเลือกเลียนแบบบุคคลต้นแบบที่ดี มีพฤติกรรมที่ดี ร่วมกันเปลี่ยนบรรทัดฐาน สร้างสังคมที่ดีให้เกิดขึ้นจะดีกว่า

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางป้องกันปัญหา ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ว่า ครอบครัว ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งทางกายหรือวาจา ไม่ใช้ความรุนแรงในการแสดงความคิดเห็นหรือแก้ไขปัญหา ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกปลอดภัย อบอุ่นใจ และสบายใจ มีการชื่นชมกันและกัน ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมด้านจิตสาธารณะ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา หลีกเลี่ยงการรับสื่อที่เกี่ยวกับความรุนแรง

ทั้งนี้ เพราะครอบครัวเป็นเหมือนต้นแบบในการใช้ชีวิตของเด็ก ครอบครัวใดที่มีความรุนแรงเป็นพื้นฐานย่อมก่อให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบด้วยการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา หากเด็กขาดบุคคลที่อบรมสั่งสอน อย่างเอาใจใส่ ขาดแบบอย่างที่ดี หรือครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่เปราะบางย่อมก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต เช่นเดียวกับโรงเรียน ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษ หรือการตำหนิ การแสดงความเห็นถึงข้อเสียของเด็กในที่สาธารณะ ควรเสริมบทเรียนด้านการวิเคราะห์แยกแยะ การรู้เท่าทันสื่อและการรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับเด็ก ตลอดจนมีมาตรการจัดการความรุนแรงในโรงเรียนที่เหมาะสม สนับสนุนให้เด็กมีกิจกรรมจิตอาสา หรือกิจกรรมที่เสริมสร้างความสามัคคี เป็นต้น

สำหรับ สื่อมวลชน นับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันที่สามารถสร้างกระแสหรือค่านิยมพฤติกรรมทางลบของบุคคลให้เกิดขึ้นได้ในสังคม สามารถสร้าง ไอดอล ด้านลบในช่วงข้ามคืนได้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงควรร่วมมือกันสร้างค่านิยมใหม่ๆที่ดีๆ ให้กับสังคมให้มากขึ้น ด้วยการ ยึดจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดีในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ไม่นำเสนอความรุนแรงซ้ำๆ หรือนำเสนอข่าวสาร ด้วยอารมณ์หรือความเห็นที่รุนแรง หรือเน้นย้ำ ให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ควรเสนอถึงผลกระทบ การป้องกัน และ การจัดการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมแทน ตลอดจน สังคม ที่ควรร่วมกัน เฝ้าระวัง แจ้งเตือนหรือแจ้งลบ เพจหรือเนื้อความที่ไม่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการส่งต่อที่จะยิ่งขยายความรุนแรงหรือเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในทางลบมากยิ่งขึ้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว