หุ้น 'ปตท.สผ.'อ่วม คดีฉาว

หุ้น 'ปตท.สผ.'อ่วม คดีฉาว

หุ้นปตท.สผ.อ่วม "คดีฉาว" กดมาร์เก็ตแคปสูญ 4 หมื่นล้านบาท

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้สำรวจช่วง 5เดือนที่ผ่านมา หุ้นปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ดิ่งหนัก โดยราคาปรับลดลง 9.87% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อองค์กรหลายเรื่อง จนทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายหุ้นออกมาจนล่าสุดราคาหุ้นปรับลดลงต่ำสุดไปแตะที่ระดับ 85.75 บาท ซึ่งเป็นราคานิวโลว์รอบปีนี้

เมื่อพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ปรับตัวลดลง จากระดับ 3.8 แสนล้านบาท เหลือ 3.4 แสนล้านบาท เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปหายไปรวม 4 หมื่นล้านบาท

ประเด็นที่เป็นปัจจัยกดดันตั้งแต่เรื่องของกรณี ปตท.สผ.ถูกโยงไปถึงการจ่ายเงินสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานรัฐในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วยตั้งแต่ปี 2543-2556 จนทำให้บริษัทปตท.สผ.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง
ต่อมากรณีอินโดนีเซียฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหล แหล่งมอนทารา และล่าสุดกรณี บริษัท ปตท.สผ.แจ้ง

ตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท ปตท.สผ.สยาม บริษัทย่อยได้หยุดการผลิตโครงการเอส 1 เฉพาะในพื้นที่ ส.ป.ก. ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2560 ซึ่งการหยุดการผลิตโครงการเอส 1 ในพื้นที่ส.ป.ก จะส่งผลให้ปริมาณการขายน้ำมันดิบลดลงประมาณ 15,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงประมาณ 130 ตันต่อวัน และก๊าซธรรมชาติลดลงประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินผลกระทบปัจจัยพื้นฐาน โดยยอดขายลดลงจากประมาณการ 4-6% และกระทบมูลค่าหุ้นประมาณ 6 บาทต่อหุ้น
บล.ทิสโก้ ระบุว่า จากการประชุมผู้บริหารยังไม่ทราบว่าจะหยุดผลิตนานแค่ไหน แต่แผนการลงทุนในพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป โดยคาดว่ากำลังการผลิตที่ลดลงจะกระทบต่อประมาณการประมาณ 1.3-2 พันล้านบาท ในปี2560-2561 (6-7%) โดยคาดว่ายอดขายจะลดลง4-6%

บล.ทรีนีตี้ประเมินว่าประเมินผลกระทบในกรณี Worst Case ที่บริษัทจะไม่สามารถดำเนินการผลิตในแหล่งดังกล่าวที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ได้อีกต่อไป คิดเป็นผลกระทบต่อราคาหุ้น 6.38 บาท โดยเป็นมูลค่า NPV ของปริมาณการผลิตที่ลดลง 18,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ 5.95 บาท และ Impairment Asset เฉพาะบนพื้นที่ ส.ป.ก. 0.43 บาท

บล.เอเซียพลัส คาดว่าฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการลง โดยปรับลดปริมาณผลิตปิโตรเลียมลงวันละ 14,000 และ 18,000 บาร์เรล ในปี 2560 (เฉพาะ 7 เดือนหลังของปีนี้) และ เต็มปี 2561 ตามลำดับ ซึ่งทำให้กำไรลดลงจากเดิม 10% และ 10.6% มาอยู่ที่ 18,072 และ 21,559 ล้านบาท โดยยังคงสมมติฐานราคาน้ำมัน และ long-term growth ที่เดิม จะได้มูลค่าหุ้นใหม่อยู่ที่ 109 บาท ลดลงจากเดิม 116 บาท หรือลดลงราว 6%
อย่างไรก็ตาม จะกลับไปใช้พื้นที่ดังกล่าวอีกครั้งหรือไม่ แต่ในกรณีที่เลวร้ายคือไม่ได้กลับมาผลิตอีกก็อาจจะต้องบันทึกการด้อยค่าของเงินลงทุนราว 50 ล้านดอลลาร์ ในแหล่งผลิตดังกล่าว