ศาลสั่ง'อดีตรองผู้ว่าฯกำแพงเพชร'กลับสู่ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม

ศาลสั่ง'อดีตรองผู้ว่าฯกำแพงเพชร'กลับสู่ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม

ถึงที่สุด! "ศาลปกครองสูงสุด" พิพากษาเพิกถอนคำสั่งปลัด มท. ลงโทษวินัย "อดีตรองผู้ว่าฯกำแพงเพชร" ปลดออกตำแหน่งปี2557 ให้มีผลย้อนหลังกลับสู่ตำแหน่งไม่น้อยกว่าเดิม พ้นข้อกล่าวหาโทษรายงานเท็จสถานการณ์อุทกภัยจัดจ้างซ่อมถนนกว่า 9 ล้าน

ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 6 มิ.ย.60 ศาลปกครองสูงสุด โดยนายสุเมธ รอยกุลเจริญ ประธานแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นตุลาการเจ้าของสำนวนและตุลาการหัวหน้าคณะและองค์คณะรวม 5 คน มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.57 ที่ลงโทษปลดนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ฟ้อง ออกจากราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ในกรณีที่นายจีระเกียรติ ถูกป.ป.ช.พิจารณาโทษวินัย กล่าวหากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งนายอำเภอสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ประเด็นรายงานเท็จเกี่ยวกับพื้นที่ถนนชำรุดเสียหายจากอุทกภัย เมื่อปี 2549 เป็นเหตุให้มีการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษงบประมาณกว่า 9 ล้านบาท

โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้การเพิกถอนคำสั่งลงโทษ มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ ออกคำสั่ง เมื่อปี 2557 ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาด้วยว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้ถูกฟ้องที่ 1 ควรที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายให้นายจีระเกียรติ ผู้ฟ้อง กลับสู่ตำแหน่ง ซึ่งไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมภายใน 30 วันนับแต่ศาลมีคำพิพากษา

ซึ่งคดีนี้ นายจีระเกียรติได้ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงมหาดไทย, คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ออกคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันและพิสูจน์ได้ว่าการอนุมัติจัดจ้างนั้น นายจิระเกียรติผู้ฟ้องได้รับประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้จากการอนุมัติสั่งซื้อจัดจ้างดังกล่าว และข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังถึงขนาดว่าคณะกรรมการเจรจาต่อรองและตกลงราคาจ้าง เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งทำคุณประโยชน์หรือมีอุปการะคุณต่ออำเภอสุวรรณภูมิแต่อย่างใด

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการเจรจาต่อรองฯได้ดำเนินการตามระเบียบตกลงราคาจ้างและเสนอความเห็นว่าควรจ้างแล้ว ผู้ฟ้องจึงมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องอนุมัติให้สั่งซื้อสั่งจ้างที่คณะกรรมการเจรจาต่อรองฯเสนอมาได้ กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าการกระทำของนายจีระเกียรติ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม

ดังนั้นการที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 127/2557 ลงวันที่ 24 ก.พ.57 ปลดนายจีระเกียรติออกจากราชการ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคดีอาญาที่นายจีระเกียรติถูกอัยการฟ้องนั้น ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด ก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 พ.ค.58 ให้ยกฟ้องนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของนายจีระเกียรติกับพวก ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือผู้ใด และไม่ใช่เป็นการกระทำทุจริต