ชม ‘ชลประทานใต้ดิน’-ชิม ‘องุ่น’ ณ อุยกูร์

แม้จะไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางเท่ากับกำแพงเมืองจีน แต่ “คาเรซ” ระบบชลประทานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนและเส้นทางซับซ้อนขนาดมหึมาของอุโมงค์ใต้ดิน ถือเป็นสิ่งก่อสร้างโบราณที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

อากาศที่นี่เจือด้วยสีทองด้าน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของภูมิทัศน์อันขรุขระและเป็นทะเลทราย มองไกลออกไปที่ขอบฟ้าจะพบยอดเขาเทียนซานส่องแสงแวววาว ส่วนฉากหน้าเป็นลุ่มน้ำถูลูฟาน เต็มไปด้วยอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเล็กสำหรับตากแห้งองุ่น พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกไร่องุ่นรสชาติดีที่คุณต้องไม่พลาด

ถึงสภาพอากาศจะรุนแรง แต่แผ่นดินถูลูฟานยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไร่องุ่นกว่าสิบชนิดที่เติบโตทั่วทั้งพื้นที่ โดยได้รับน้ำจากคาเรซที่แปลว่า “ลำน้ำ” ในภาษาอุยกูร์ วิศวกรรมโบราณนี้มีไว้สำหรับส่งน้ำไปทุกพื้นที่ ก่อสร้างโดยชาวอุยกูร์ที่มาตั้งรกรากในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้เมื่อนานมาแล้ว

ชม ‘ชลประทานใต้ดิน’-ชิม ‘องุ่น’ ณ อุยกูร์

ระบบชลประทานที่นี่จะใช้แรงโน้มถ่วงส่งน้ำที่มาจากธารน้ำแข็งผ่านอุโมงค์ใต้ดินต่างๆ ความยาวตั้งแต่ 3-30 กม. เชื่อมกับลำน้ำกว่า 1,000 แห่งทั่วพื้นที่ จากตะวันออกของเทือกเขาเทียนซานไปยังที่ราบลุ่มถูลูฟาน ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวช่วยป้องกันไม่ให้น้ำถูกแสงแดดระเหยกลายเป็นไอ

ยุคช่วงรุ่งเรืองในปี 2327 คาเรซสามารถส่งน้ำเป็นระยะทาง 5,272 กม. โดยไหลผ่านที่ราบลุ่มคิดเป็น 1,237 กม. ตรงสู่ไร่และสวนองุ่นต่างๆ ขณะที่ชาวบ้านได้รับน้ำสำหรับบริโภคที่ใสสะอาดจากลำน้ำจากหนึ่งใน 172,367 แห่ง

เมื่อศตวรรษก่อน ในเปอร์เซียเคยมีการสร้างระบบชลประทานลักษณะคล้ายกัน โดยเชื่อกันว่า บรรดาพ่อค้าจากดินแดนที่กลายเป็นอิรัก อิหร่าน และเคิร์ดดิสถานในปัจจุบัน นำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมมายังพื้นที่ตะวันตกของจีน ก่อนที่จะสร้างเส้นทางสายไหมทางตะวันออกเสียอีก

หลังจากมีการพัฒนาระบบคาเรซขึ้น ที่ราบลุ่มถูลูฟานได้กลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในทะเลทราย หรือ “โอเอซิส” ตามเส้นทางการค้ายุคโบราณ เป็นผลให้ชุมชนในที่ราบลุ่มเจริญตามมา

นายอาห์หมัด มัคคุเทศก์ท้องถิ่น เขาภาคภูมิใจในมรดกจีนและตุรกีไม่ต่างจากประชาชนอุยกูร์ในถูลูฟานคนอื่นๆ ซึ่งมรดกดังกล่าวยังสะท้อนผ่านสถานที่ทางประวัติศาสตร์อย่าง ถ้ำสหัสพุทธเบเซลิค สมัยศตวรรษที่ 3 และตูยอก ศาสนสถานโบราณของชาวมุสลิมที่ตั้งอยู่นอกหมู่บ้านถูลูฟาน

“พุทธศาสนิกชนมักจะมองหาที่สำหรับทำสมาธิ จึงมาที่เทือกเขาแห่งนี้กัน” นายอาห์หมัด กล่าว

อย่างไรก็ดี คาเรซถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่ภาวะโลกร้อนและการเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมในช่วงหลายศตวรรษมานี้ ส่งผลให้ธารน้ำแข็งบนภูเขาละลายเร็วขึ้นและน้ำระเหยมากขึ้น ขณะที่ความต้องการน้ำที่สูงจากจำนวนโรงงานที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การใช้ทรัพยากรในภูมิภาคตึงตัวมากขึ้น

“ความแห้งแล้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายศตวรรษแล้ว เมื่อ 1,000 ปีก่อนยังไม่เคยมีทะเลทรายทากลามากัน และนักเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นก็ไม่เคยกล่าวถึงเลย” นายอาห์หมัด เล่า

คาเรซยังทิ้งวิถีจรรโลงชีวิตไว้ให้กับชาวอุยกูร์ที่ต่อสู้กับฤดูหนาวที่หนาวสุดขั้วและช่วงฤดูร้อนที่ร้อนจนเกือบทนไม่ไหวอีกด้วย หากไม่มีลำน้ำใต้ดินแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตที่นี่ ขณะที่ไร่องุ่น แอปริคอต ฝ้าย และเมลอนคงไม่อาจเจริญเติบโตขึ้นได้ แต่ในพื้นที่ที่รัฐบาลแทนที่ระบบคาเรซด้วยท่อน้ำ ชาวบ้านต่างอ้างว่า รสชาติของน้ำไม่เหมือนกับน้ำที่กลั่นกรองมาจากธรรมชาติเลย

สิ่งก่อสร้างนี้อาจกลายเป็นมรดกโลกที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้การรับรองได้ รัฐบาลจีนจึงได้ทุ่มงบ 45 ล้านหยวน (ราว 226 ล้านบาท) ปกป้องระบบชลประทานโบราณนี้ไว้ โดยนับตั้งแต่ปี 2552 มีการกำจัดตะกอนในอุโมงค์ยาวกว่า 600 กม. และซ่อมแซมลำน้ำไปแล้วหลายแห่ง

หลังจากขับรถชมทิวทัศน์เหนือจริงมาทั้งวันแล้ว นายอาห์หมัดได้แวะซื้อลูกเกดที่มีชื่อเสียงของถูลูฟานถุงหนึ่งในราคา 10 หยวน ลูกเกดที่นี่มีรสชาติหวานกว่าลูกเกดที่เคยรับประทานมาอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นผลิตผลจากความร้อนสุดขั้วของทะเลทราย ระดับความสูงของที่ราบลุ่ม และกระบวนการตากแห้งที่ยาวนาน 40 วัน

ชม ‘ชลประทานใต้ดิน’-ชิม ‘องุ่น’ ณ อุยกูร์

ชาวถูลูฟานผลิตลูกเกดปีละกว่า 300 ตัน องุ่นทุกลูกมีลักษณะใสและรสชาติหวานฉ่ำ บางชนิดเขียวราวกับมรดก บางชนิดแดงเหมือนหินโมรา บางชนิดเล็กเหมือนไข่มุก ขณะที่อีกหลายชนิดเหมือนกับลูกมะกอก

ส่วนองุ่นที่นำมาทำลูกเกด รวมไปถึงองุ่นขาวไร้เมล็ด มาไนซี (องุ่นหัวนมแม่ม้า) องุ่นแดง องุ่นดำ องุ่นคาชิฮาระ องุ่นบีเจียแกน องุ่นชมพูกุหลาบ และองุ่นซัวซัว ทั้งยังมีหลักฐานว่าองุ่นเติบโตในที่ราบลุ่มถูลูฟาน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตศักราช จนถึง ค.ศ. 220) 

แต่องุ่นจากที่นี่กลับไม่เป็นที่ยอมรับ ผู้เขียนอีกรายหนึ่งซึ่งเคยตระเวนชิมมาหลายแห่งไม่ว่าจะในหุบเขานาปาของสหรัฐ หรือฝรั่งเศส หรืออิตาลี บอกว่า องุ่นจากแหล่งที่กล่าวมานี้ไม่อาจเทียบเท่ากับองุ่นถูลูฟานได้เลย เพราะความหวานนั้นสุดแสนจะลงตัวและเมื่อกัดลงไปในเนื้อองุ่นกลับไม่เจอเมล็ด นับเป็นเนื้อองุ่นที่สมบูรณ์แบบมากๆ และหากรับประทานคู่กับไวน์คุณภาพดี ้ก็จะเป็นผลไม้ชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว

ครอบครัวส่วนใหญ่มักจะมีแปลงองุ่นเป็นของตัวเอง บางครอบครัวมีแปลงขนาดเล็ก ขณะที่ครอบครัวอื่นๆ กลับมีขนาดใหญ่ และหากมองเฉพาะพื้นดินภายนอกอาจเห็นองุ่นอยู่ในสวนไม่มากนัก แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกจะพบองุ่นเต็มไปหมด

หลายคนคงจะทราบว่าถูลูฟานร้อนจัดแค่ไหน แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่า การผลิตองุ่นที่ใช้น้ำในปริมาณมากจะเกิดขึ้นได้ที่นี่ แต่เป็นเพราะระบบชลประทานคาเรซ ที่ทำให้การเพาะปลูกองุ่นรสชาติอร่อยเป็นไปได้ อีกทั้งความร้อนยังมีผลต่อความหวานและคุณภาพขององุ่น ทั้งส่วนผสมของความร้อน ระยะที่มีแสงแดดเป็นเวลานาน ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศช่วงกลางวัน-กลางคืน (ทะเลทรายในตอนกลางคืนมีอากาศหนาว) และฝนตกเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดผลไม้คุณภาพสูงจำนวนมาก

ชม ‘ชลประทานใต้ดิน’-ชิม ‘องุ่น’ ณ อุยกูร์

การก้าวออกจากทะเลทรายที่เต็มไปด้วยฝุ่นล้อมรอบถูลูฟานตรงเข้าไปในบ้านองุ่น ถือเป็นประสบการณ์ที่เหมือนกับการเคลื่อนตัวจากทะเลทรายซูดาน ไปยังป่าดงดิบอันเหน็บหนาวแห่งเทือกเขาโคลอมเบีย ซึ่งอุณหภูมิลดลงได้ 20 องศาหรือมากกว่านั้น แม้ภายนอกจะอากาศร้อนและชวนอึดอัด ทั้งยังต้องหรี่ตาอยู่บ่อยครั้งจากแสงแดดจ้า แต่ภายในสิ่งก่อสร้างกลับมีอากาศเย็น กลิ่นหอมหวน และความเขียวขจีที่ช่วยบดบังแสงอาทิตย์อันร้อนแรงให้สบายตามากขึ้น

ปัจจุบัน ถูลูฟานเป็นผู้ผลิตลูกเกดเขียวรายใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งน้ำใสเย็นที่ไหลผ่านอุโมงค์ใต้ดินโบราณยังทำให้ลูกเกดมีรสชาติหวานเป็นพิเศษอีกด้วย