เที่ยวบิน3สาวฆ่าหั่นศพสูญงบหลายแสน

เที่ยวบิน3สาวฆ่าหั่นศพสูญงบหลายแสน

เที่ยวบิน "เปรี้ยว-เอิร์น-แจ้" สูญงบหลายแสน

เปิดประเด็น! “ทีมล่าความจริง” ยิงคำถามตรงๆ กับ อดีตนายตำรวจผู้เชี่ยวชาญงานด้านสอบสวนและกฎหมาย ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวให้เดินหน้าปฏิรูปตำรวจ พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คือ การที่ตำรวจยิ้มแย้มถ่ายรูปคู่กับผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ ประเด็นนี้ พันตำรวจเอกวิรุตม์ บอกว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวต่อผู้ต้องหาลักษณะตามข่าวที่ปรากฏ ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็ต้องถามกลับไปเช่นกันว่า เหมาะสมหรือไม่ตามกาละเทศะ 

แต่ประเด็นที่ พันตำรวจเอกวิรุตม์ ตั้งคำถามมากกว่า ก็คือการคุมตัวผู้ต้องหาขึ้นเครื่องบินจากจังหวัดเชียงราย มาให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพูดคุยซักถาม แล้วเปิดแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ ซึ่งประเด็นนี้ในสื่อโซเชียลฯก็มีการตั้งคำถามกันมากในแง่ของความเหมาะสม และความสิ้นเปลืองงบประมาณ ขณะที่ถ้อยแถลงของท่าน ผบ.ตร. หลายประเด็นก็พูดอ้างอิงเฉพาะคำให้การของผู้ต้องหา ในลักษณะชี้นำรูปคดี เรามาฟังความเห็นของ พันตำรวจเอกวิรุตม์ ในเรื่องนี้กันชัดๆ 

เรื่องค่าใช้จ่ายในการนำตัวผู้ต้องหาขึ้นเครื่องบินจากเชียงรายมากรุงเทพฯ สอบปากคำเพียง 20 นาที ร่วมแถลงข่าวไม่ถึงชั่วโมง แล้วก็พาเดินทางต่อไปยังสถานที่เกิดเหตุ คือ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ประเด็นนี้วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะมาก 

จากการตรวจสอบของทีมล่าความจริงพบว่า เครื่องบินที่ใช้เป็นพาหนะนำตัวผู้ต้องหาเข้ากรุงเทพฯ คือเครื่องบินลำเลียงแบบฟอกเกอร์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีค่าใช้จ่ายต่อ 1 ชั่วโมงบินราว 1 แสนบาท หากนับระยะเวลาเดินทางไป-กลับ รวมค่าเบี้ยเลี้ยงนักบิน ค่าเชื้อเพลิง และค่าเสื่อมอื่นๆ น่าจะใช้งบประมาณหลายแสนบาท คำถามคือคุ้มหรือไม่กับการปฏิบัติเช่นนี้ 

นำตัวผู้ต้องหาแถลงข่าว-ทำแผนฯ ขัด รธน. 

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามไม่น้อยเช่นกัน ก็คือการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว ถ่ายภาพ และทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีความจำเป็นแค่ไหน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ตำรวจต้องนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนฯ โดยเฉพาะถ้าคดีไม่มีข้อสงสัย หรือผู้ต้องหารับสารภาพ พันตำรวจเอกวิรุตม์ มีมุมมองในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ 

คุณผู้ชมถ้าจำกันได้ เมื่อปีก่อน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยออกคำสั่งไม่ให้นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว ให้แถลงเฉพาะผลการจับกุมหรือการดำเนินงานของตำรวจเท่านั้น เพราะเกรงจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

เช่นเดียวกับ “การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ” หรือภาษาทางการว่า “การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ” ซึ่งเคยมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2548 กำหนดห้ามเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะถือว่าไม่ใช่พยานหลักฐานที่ศาลรับฟัง และเคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีการะบุเอาไว้อย่างชัดเจน 

นอกจากนั้นการนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนฯ ยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เพราะมีสื่อมวลชนถ่ายภาพออกไปทั่วประเทศ ขณะที่หลายกรณีตำรวจแสดงท่าทีหรือใช้ถ้อยคำข่มขู่ผู้ต้องหาด้วย หากสุดท้ายศาลตัดสินว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด ผู้ต้องหารายนั้นก็ไม่สามารถเรียกคืนความเป็นธรรมได้ ขัดกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่วางหลักเอาไว้ ให้ถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำความผิด