กสทช.จี้คู่ค้า 'ทีโอที-ดีแทค' ส่งสัญญา-แผนทำตลาด4จี

กสทช.จี้คู่ค้า 'ทีโอที-ดีแทค' ส่งสัญญา-แผนทำตลาด4จี

ย้ำคลื่น 2300 ให้ใช้บริการเฉพาะ ดาต้า ห้ามทำแพ็คเกจร่วมวอยซ์

สำนักงาน กสทช.ออกโรงจี้ “ทีโอที-ดีแทค” หลังชื่นมื่นประกาศคู่ค้าทางธุรกิจบนคลื่น 2300 ย้ำอนุญาตใช้เฉพาะ “ดาต้า” ห้ามบันเดิลแพ็คเกจรวมวอยซ์ จี้ต้องส่งโปรฯ ให้สอบก่อนขายลูกค้าจริง พร้อมทุ่มงบ 7 ล้านเปิดไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเค้าท์ @NBTC หวังเป็นช่องทางสื่อสารข้อมูลยุคใหม่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานกสทช.ยังไม่ได้รับสัญญาการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจของ บมจ.ทีโอที และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) หลังดีแทคถูกเลือกเป็นคู่ค้าในการพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการ 4จีแอลทีอี-ทีดีดี ดังนั้นหากภายในสิ้นเดือนนี้ยังไม่รับ จะทำหนังสือทวงถามไปยังทีโอที ในฐานะที่ กสทช.อนุญาติให้ทีโอที ปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าว จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ และมีสิทธิใช้งานจนถึงปี 2568

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า สัญญาคู่ค้าของทีโอทีและดีแทคต้องไม่ให้บริการเกินขอบเขตที่ กสทช.อนุญาตไว้ โดยเฉพาะการให้ทำแพ็คเกจและโปรโมชั่นสำหรับให้บริการ 4จี โดยการอนุญาตของกสทช.ระบุให้การใช้คลื่น 2300 เฉพาะประเภทบริการดาต้า คือ อินเทอร์เน็ตไร้สาย และฟิกซ์ บรอดแบนด์เท่านั้น ทำให้ดีแทคไม่สามารถนำคลื่น 2300 ไปออกแพ็คเกจรวมบริการด้านเสียง(วอยซ์) และดาต้าได้ และการให้บริการต้องแยกแพ็คเกจโดยเฉพาะเท่านั้น

นอกจากนี้ ก่อนให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 ดีแทคต้องส่งรายการส่งเสริมการตลาดแพ็คเกจและโปรโมชั่นทั้งหมดมาให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบด้วย

“การอนุญาตให้ปรับปรุงคลื่นความถี่ เราให้สิทธิทีโอทีว่า ต้องให้บริการเฉพาะดาต้าเท่านั้น ซึ่งหากในสัญญาคู่ค้าระหว่างทีโอทีกับดีแทคไม่ถูกต้องตามนี้ ก็มีสิทธิที่ กสทช.จะเพิกถอนการอนุญาตแก่ทีโอที” นายฐากร ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนของทีโอทีขณะนี้ คือ ร่างสัญญาฉบับจริง เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการ (บอร์ด) กลางเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นปลายเดือน มิ.ย.จะส่งสัญญาไปยังสำนักงาน กสทช.เพื่อดูความเป็นไป และให้ถูกต้องตาม ม.46 พ.ร.บ.องค์กรจัดคลื่นความถี่กิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบสัญญา โดยทีโอทีและดีแทคเชื่อมั่นว่า จะสามารถลงนามในข้อตกลงภายในไตรมาสสี่ปีนี้ หรืออย่างเร็วคือภายในเดือน ต.ค.นี้

ก่อนหน้านี้ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ โดยกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งให้ ทีโอที เช่าใช้งาน ซึ่งมากที่สุดในบรรดาโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย โดยทีโอทีเป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตนเอง และจะให้บริษัทในกลุ่มฯ ใช้บริการโดย บมจ.ทีโอที จะมีรายได้ ปีละ 4,510 ล้านบาท สำหรับการใช้งานโครงข่ายร้อยละ 60 ด้วยจุดเด่นของบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 ซึ่งมีช่องสัญญาณที่กว้างถึง 60 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งทีโอทีมีแผนนำไปขยายเพื่อให้บริการให้พื้นที่ห่างไกลตามนโยบายของรัฐบาล

ในวันเดียวกัน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ใช้งบประมาณ 7 ล้านบาทต่อปี จัดทำไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเค้าท์ สามารถเพิ่มเพื่อนได้ในชื่อ @NBTC เป็นช่องทางสื่อสารให้ประชาชน และกลุ่มผู้รับใบอนุญาต ซึ่งนับจากนี้ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านไลน์ของสำนักงาน กสทช. ประชาชนสามารถนำไปเผยแพร่ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง

ขณะที่กลุ่มผู้รับใบอนุญาต จะได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านฟังก์ชั่นที่เรียกว่า Business Connect เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตแต่ละประเภท การแจ้งผลพิจารณาต่างๆ การเชิญเข้าร่วมประชุม และสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ และการค้นหาสำนักงาน กสทช. ที่อยู่ใกล้ที่สุด ในอนาคตสำนักงาน กสทช.จะพัฒนาฟังก์ชั่นต่างๆ อำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น เช่น สามารถตรวจสอบวันหมดอายุใบอนุญาต และวันที่ต้องมาต่ออายุใบอนุญาตผ่านไลน์ได้ทันที

นายฐากร กล่าวว่า แต่เดิมการสื่อสารกับผู้รับใบอนุญาต คือ การทำหนังสือและส่งทางอีเอ็มเอส ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้กระดาษและงบประมาณส่งอีเอ็มเอสจำนวนมาก ดังนั้น ไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนให้สะดวกมากขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนการสื่อสารให้เข้ากับยุคสมัย ที่คนส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวัน และมีการแบ่งปันข้อมูลผ่านโซเชียล ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะแบ่งปันอย่างรวดเร็ว แต่อาจขาดการตรวจสอบที่ถูกต้อง

ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านไลน์ของหน่วยงานรัฐ จะช่วยยืนยันความถูกต้องได้ในระดับหนึ่ง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อีกด้วย