‘ไอบีเอ็ม’เผยก้าวใหม่ ‘เอไอ’ เทคโนฯ ‘วัตสัน’ รักษามะเร็ง

‘ไอบีเอ็ม’เผยก้าวใหม่ ‘เอไอ’ เทคโนฯ ‘วัตสัน’ รักษามะเร็ง

‘วัตสัน’ เทคโนโลยีเรือธงของไอบีเอ็ม หรือระบบค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้ง ถูกนำไปใช้เชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ มากขึ้น เป็นระบบที่ให้บริการผ่านคลาวด์ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาล ทำความเข้าใจคำถามที่ซับซ้อนที่ถูกตั้งขึ้นในภาษาธรรมชาติได้

ไอบีเอ็ม เผยอีกด้านของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น ผ่านเทคโนโลยี “วัตสัน” โดยปัจจุบันถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งแพร่หลายไปทั่วโลกมากกว่า 55 องค์กร รวมถึงโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ฯ ของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘วัตสัน’ เทคโนโลยีเรือธงของไอบีเอ็ม หรือระบบค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้ง ถูกนำไปใช้เชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ มากขึ้น เป็นระบบที่ให้บริการผ่านคลาวด์ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาล ทำความเข้าใจคำถามที่ซับซ้อนที่ถูกตั้งขึ้นในภาษาธรรมชาติได้ ซึ่งวันนี้ถูกนำมาใช้ในเชิงการแพทย์ รักษาโรคสำคัญอย่าง “มะเร็ง”

ไอบีเอ็ม วัตสัน เฮลท์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เผยข้อมูลที่จะถูกนำเสนอในที่ประชุม ASCO 2017 การประชุมด้านมะเร็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้านการนำเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็ง (Watson for Oncology) ที่ถูกพัฒนาฝึกฝนโดย ศูนย์มะเร็งเอ็มเอสเค (Memorial Sloan Kettering Cancer Center : MSK) และ วัตสัน ฟอร์ คลินิคอล ไทรอัล แมชชิ่ง (Watson for Clinical Trial Matching : CTM) ไปใช้ทางคลินิก

ลดเวลาคัดกรองผู้ป่วย
ข้อมูล ระบุว่า เทคโนโลยีวัตสันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งการรักษามะเร็งในโรงพยาบาล และหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ แล้วหลายสิบแห่งในออสเตรเลีย บังกลาเทศ บราซิล จีน อินเดีย เกาหลี เม็กซิโก สโลวาเกีย สเปน ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และไทย รวมถึงการนำเทคโนโลยีวัตสันไปพัฒนาการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ผลการศึกษาของ ASCO พบว่า การใช้เทคโนโลยีวัตสัน ช่วยลดเวลาที่ใช้คัดกรองผู้ป่วยทางคลินิกลงได้ถึง 78% สามารถประมวลข้อมูลจากระเบียนผู้ป่วยและบันทึกของแพทย์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดผู้ป่วยเข้า หรือตัดผู้ป่วยที่ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ออกโดยอัตโนมัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งนี้ สามารถแนะนำแนวทางการรักษามะเร็งที่สอดคล้องกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (BIH)ในไทยได้ถึง 83% สำหรับโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

ทั้งนี้ ยังแนะนำแนวทางรักษามะเร็ง ที่สอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการผู้กำหนดแผนการรักษาเนื้องอก แบบสหสาขาวิชาชีพ ของศูนย์มะเร็ง ในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ถึง 96% สำหรับมะเร็งปอด 81% สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ 93% สำหรับมะเร็งทวารหนัก

การวิจัยเชิงคุณภาพ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาในเม็กซิโก ยอมรับว่า เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็งมีประโยชน์ ช่วยบ่งชี้ทางเลือกการรักษาที่เป็นไปได้สำหรับผู้ป่วย

วิเคราะห์ข้อมูล-วางแผนรักษา
นายแนน เฉิน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการวิจัยพัฒนาและข้อมูลคลินิก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า วัตสัน เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์สามารถใช้ประโยชน์จากปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการรักษาที่เริ่มมีความเฉพาะบุคคล และตอบโจทย์ผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น

“โรงพยาบาลเราให้การดูแลผู้ป่วยกว่าครึ่งล้านคนจากกว่า 190 ประเทศในแต่ละปี เทคโนโลยีเหล่านี้ มีส่วนสำคัญต่อการมอบคุณภาพการรักษาในแบบที่ผู้ป่วยคาดหวัง หนึ่งในตัวอย่างคือกรณีของโรงพยาบาลมองโกเลียน ยูบี ซองดู ในเครือบำรุงราษฎร์ ที่แพทย์ทั่วไปสามารถให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้แม้ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งอยู่เลย โดยอาศัยเทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็ง ที่ให้คำแนะนำได้อย่างสอดคล้องกับแนวทางการวินิจฉัยของแพทย์ ในการกำหนดแผนการรักษา” นายแนน กล่าว

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า วัตสันสามารถช่วยแพทย์ตัดสินใจวางแผนรักษาชีวิตผู้ป่วย ด้วยการย่นระยะเวลาสำหรับแพทย์ในการระบุสาเหตุความเป็นไปได้ รวมถึงเสนอทางเลือกเพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน จากความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบจำนวนมหาศาล ในเวลาที่รวดเร็ว

เทคโนโลยีวัตสันเพื่อการพัฒนาการรักษามะเร็ง ได้รับการพัฒนาฝึกฝนโดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาของศูนย์มะเร็งเอ็มเอสเค ในนิวยอร์ค เป็นระบบค็อกนิทีฟคอมพิวติ้งที่ใช้การประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพื่อย่อยข้อมูลผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในรูปแบบมีโครงสร้างและไร้โครงสร้าง ระบบนี้จะนำเสนอทางเลือกในการรักษาเพื่อให้แพทย์ใช้พิจารณาในการรักษาผู้ป่วย โดยเป็นคำแนะนำที่อ้างอิงไกด์ไลน์ต่างๆ ที่ผ่านการรับรอง เอกสารทางการแพทย์ รวมถึงการฝึกฝนจากเคสผู้ป่วยต่างๆ

นางซินเธีย เบิร์กฮาร์ด ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของไอดีซี เฮลท์ อินไซท์ส กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ได้เริ่มเข้ามาสู่วงการแพทย์ในปัจจุบัน เนื่องด้วยเพราะบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างไอบีเอ็มได้ผลักดันการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ จะเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ

เบื้องหลัง ค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้ง
วัตสัน คือ ระบบ ที่ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นรายแรก ในเทคโนโลยีค็อกนิทีฟของไอบีเอ็ม จะประกอบไปด้วย 1.บิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์ 2.ปัญญาประดิษฐ์ 3.ระบบที่เข้าใจภาษาธรรมชาติ ภาพ และเสียง แบบเดียวกับมนุษย์ 4.ระบบองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทความรู้ 5.โครงสร้างพื้นฐานและพลังประมวลผลขั้นสูง

เป็นเทคโนโลยีที่ประมวลผลโดยวิธีการจำลองกระบวนการคิดของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีค็อกนิทีฟ ซึ่งทำให้เข้าใจภาษา และอารมณ์ที่เกิดขึ้นของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ จนสามารถตั้งสมมุติฐาน และเรียนรู้ได้อย่างไม่มีสิ้นสุด และต่อยอดไปสู่การคิด และการตัดสินใจ เพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ซึ่งความสามารถนี้จะกลายเป็นกุญแจสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไหลเข้าออกอย่างมหาศาลในแต่ละวัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน และองค์กรในทุกอุตสาหกรรม และทุกประเทศทั่วโลก

คาดการณ์ว่าในปี 2561 กว่า 50% ของประชากรในโลกจะใช้สินค้า และบริการที่สอดแทรกด้วยระบบค็อกนิทีฟ

ส่วนไอบีเอ็ม วัตสัน เฮลท์ (IBM Watson Health) เป็นการยกระดับขีดความสามารถของแพทย์ นักวิจัย และบริษัทประกัน ในการสร้างนวัตกรรมโดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลที่มีปริมาณมหาศาลที่ได้จัดทำขึ้นและมีการใช้งานร่วมกันในแต่ละวันมาประมวลผล