หวั่น 'ภาษี' ปีนี้พลาดเป้าแสนล้าน

หวั่น 'ภาษี' ปีนี้พลาดเป้าแสนล้าน

หวั่นภาษีปีนี้พลาดเป้า"แสนล้าน" ราคาน้ำมันต่ำ-ช้อปช่วยชาติทำรายได้สูญก้อนโต สรรพากรชี้มาตรการบัญชีเล่มเดียวดันภาษีมูลค่าเพิ่มพุ่ง 

 

สรรพากรประเมินยอดจัดเก็บภาษีของกรมฯปีนี้ต่ำเป้าร่วมแสนล้านบาท ผลพวงราคาน้ำมันต่ำทำภาษีหาย 4.5 หมื่นล้านบาท และมาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นบริโภคกระทบภาษีหลักหมื่นล้านบาท ขณะที่มาตรการจัดทำบัญชีเล่มเดียวทำให้ภาษีนิติบุคคลรายกลางและรายเล็กพุ่ง

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรประเมินภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯปีงบประมาณ 2560ว่า น่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายหลายหมื่นล้านบาท สาเหตุสำคัญเกิดจากการจัดเก็บภาษีธุรกิจน้ำมันที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าที่ประมาณการรายได้ ซึ่งตั้งราคาน้ำมันไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ระยะ 8 เดือน ราคาน้ำมันที่จัดเก็บรายได้เฉลี่ยที่ 41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังชะลอการผลิตน้ำมัน โดยรอกฎหมายปิโตรเลียมที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาสภานิติบัญญัติ

“รายได้ทั้งปีน่าจะต่ำเป้าหมายหลายหมื่นล้านบาท แต่ไม่เกินแสนล้านบาท โดยรายได้หลักที่หายไปจะมาจากภาษีปิโตรเลียม ตลอดทั้งปีประเมินราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ระยะ 8 เดือนของปีงบฯ60 รายได้ต่ำเป้าไปแล้วประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเป็นรายได้ที่หายไปจากภาษีปิโตรเลียมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ตลอดทั้งปีงบประมาณ คาดว่า รายได้ส่วนนี้จะหายไปราว 4.5 หมื่นล้านบาทและรายได้รวมช่วง 8 เดือนปีนี้ยังเก็บได้มากกว่าปีก่อนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจะหายไปจากมาตรการลดหย่อนภาษีจากการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาล อาทิ มาตรการช้อปช่วยชาติ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยได้มีการนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีถึง 4 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนเพียง1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ทำให้รายได้ของกรมฯในปีนี้หายไปราว 8 พันล้านบาท

แม้รายได้จากภาษีปิโตรเลียมจะต่ำเป้าหมาย และมีรายได้ที่หายไปจากมาตรการของรัฐ แต่รายได้ส่วนอื่น ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคล โดยเฉพาะนิติบุคคลรายเล็กและรายกลางที่ดีขึ้นจากนโยบายการจัดทำบัญชีเล่มเดียว ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้แสดงรายได้แท้จริงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเสียภาษีที่ถูกต้องมากขึ้น

กรณีธุรกิจค้าทองนั้น เมื่อเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และทำบัญชีเล่มเดียว ยอดการยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก 100 ล้านบาท จากเดิม 3-5ล้านบาท ถ้าตลอดทั้งปีนี้คาดว่ารายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลน่าจะเพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาท

การที่ภาครัฐนำระบบอี-เพย์เมนท์มาใช้ในการชำระเงินแทนเงินสดจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมฯมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ว่าบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจสถาบันการเงิน จะมีรายได้ในเรื่องของค่าธรรมเนียมลดลงและมีผลกระทบต่อกำไร แต่เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนธุรกิจที่ลดลง ก็เชื่อว่า ผลกำไรจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

แม้การจัดเก็บรายได้ของกรมฯจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ในภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลตลอดทั้งปีงบประมาณก็จะไม่มีปัญหา เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของกรมจัดเก็บภาษีอื่นจะสามารถมาทดแทนได้ โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต ทำให้การปิดหีบจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณของรัฐบาลไม่มีปัญหา

ภาพรวมการจัดเก็บรายได้กรมสรรพากร 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ กรมฯจัดเก็บได้ 8.67 แสนล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 2.1 หมื่นล้านบาท หรือ 2.4%แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.95 หมื่นล้านบาท หรือ 2.3%โดยภาษีที่จัดเก็บได้ตํ่ากว่าเป้าหมายที่สําคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ตํ่ากว่าเป้าหมาย 2.16 หมื่นล้านบาท หรือ 4.8%แต่สูงกว่าปีที่แล้ว 2.1% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศเก็บได้ตํ่ากว่าประมาณการ อย่างไรก็ดีการนําเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนําเข้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.7%และใกล้เคียงกับประมาณการ

ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 1.89 พันล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 4,606 ล้านบาทหรือ 70.9% ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 63.1%ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการที่มีรอบระยะเวลาบัญชีปีงบประมาณ (ซึ่งต้องชําระภาษีเดือนก.พ.2560) ได้โอนสัมปทานหลุมขุดเจาะให้บริษัทในเครือ ทําให้การชําระภาษีลดลง ส่วนผู้รับโอนสัมปทานมีรอบระยะเวลาบัญชีปีปฏิทิน ซึ่งจะชําระภาษีในเดือนพ.ค. 2560 ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 1 หมื่นล้านบาท หรือ 5.4%สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.7%