โซเชียลคอมเมิร์ซโตแรง ลุ้นสิ้นปีนี้ทะลุ 3 แสนล้าน

โซเชียลคอมเมิร์ซโตแรง ลุ้นสิ้นปีนี้ทะลุ 3 แสนล้าน

เอสเอ็มอี-รายย่อยแห่ขายผ่านโซเชียลคึก ‘เฟซบุ๊ค-อินสตาแกรม’ฮิต -ชำระเงินผ่านโซเชียลโต 300%

คนไทยคลั่งโซเชียลติดอันดับโลกยอดใช้งานใกล้ 50 ล้านคน “เอสเอ็มอี-รายย่อย” สบช่องแห่ขายสินค้าผ่านโซเชียลคึกคักยอดคนซื้อขายแซงหน้าเว็บไซต์ เงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน ลุ้นสิ้นปี 60 มูลค่าซื้อขายผ่านโซเชียลทะลุ 3 แสนล้าน “เฟซบุ๊ค-อินสตาแกรม” ช่องทางซื้อขายฮิตสุด จับตาแฟนเพจเฟซบุ๊คขายสินค้าเฉพาะกลุ่มมาแรง ดันยอดชำระเงินผ่านโซเชียลโต 300% “กูรู” ชี้ได้เวลาเว็บมาร์เก็ตเพลสไทยเร่งปรับตัวเชื่อมเว็บสู่โซเชียลดันยอดขาย 

คนไทยใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค พุ่งสูงขึ้นทุกปี ‘โธธ โซเชียล’ เผยปี 59 คนไทยส่งข้อความผ่านโซเชียลมากถึง 2.5 พันล้านข้อความ โดยเฉพาะการเติบโตของ เฟซบุ๊ค และอิน สตาแกรม ที่มียอดผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ไม่นับแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นๆ ที่คนไทยใช้งานจนติดอันดับโลก กลายเป็นช่องทางทำเงินของเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีต้นทุนน้อยมาก เกิดการซื้อขายสินค้าอย่างคึกคักในหลากหลายรูปแบบผ่านโซเชียลตัวเด่นๆ ส่งผลให้การซื้อขายแบบ ซีทูซี (customer to customer) และบีทูซี เติบโตอย่างมหาศาลช่วงปีที่ผ่านมา

โซเชียลฯแซงมาร์เก็ตเพลส
นายภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อีคอมเมิร์ซ) กล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้กระโดดเข้าสู่แพลตฟอร์มโซเชียล เน็ตเวิร์คอย่างเต็มรูปแบบ หรือโซเชียล คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายแซงหน้าเว็บไซต์ประเภทมาร์เก็ตเพลสไปแล้วเรียบร้อย ตัวเลขการซื้อขายผ่านโซเชียลเมื่อปี 2559 มีมากถึง 2.7 แสนล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้ จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 30% หรือทะลุ 3 แสนล้านบาท ส่วนอี-มาร์เก็ตเพลสอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ คาดการณ์ว่า กลุ่มค้าปลีกออนไลน์แบบบีทูซี ที่ยังคงแข่งขันกันสูง (B-TO-C) จะมีเม็ดเงินซื้อขายเพิ่มขึ้นเช่นกันไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท

"ภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยขณะนี้ จะซื้อขายกันผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ของแบรนด์สินค้าบริการ 2.อี-มาร์เก็ตเพลส และ 3.โซเชียล เน็ตเวิร์ค โดยโซเชียลฯ เติบโตเยอะมาก ยิ่งในกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า คนรุ่นใหม่หันมาใช้ช่องทางนี้กันคึกคักในหลากหลายรูปแบบ เช่น เปิดแฟนเพจขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม ขณะที่ ช่องทางซื้อขายผ่าน อี-มาร์เก็ตเพลส ซึ่งถือเป็นช่องทางดั้งเดิมเติบโตน้อยลงเหลือ 5% เพราะการแข่งขันเริ่มกระจุกตัวอยู่เฉพาะรายใหญ่ไม่กี่ราย ส่วนการซื้อผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์สินค้าเอง ก็เติบโตขึ้นราว 20%"

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โซเชียล คอมเมิร์ซเติบโตสูงมาก เพราะความนิยมใช้โซเชียล เน็ตเวิร์คของคนไทยที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จากอดีตเมื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต สิ่งแรกที่คนไทยใช้ คือ อีเมล แต่ปัจจุบันสิ่งแรก คือ การใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ข้อมูลระบุว่า แรงจูงใจสำคัญส่วนหนึ่ง ทำให้คนซื้อสินค้าผ่านโซเชียล คือ การเห็นโฆษณาออนไลน์แล้วคลิก นั่นหมายความว่า สินค้า และแบรนด์ต่างๆ หันมาใช้เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์กันมากขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะที่รายย่อย หรือเอสเอ็มอีเอง มองว่า โซเชียล เน็ตเวิร์คเป็นการดึงดูดให้คนเข้าไปซื้อสินค้าของพวกเขาได้มากขึ้น

จับตาสินค้าเฉพาะกลุ่มฮิต
"การขายสินค้าบนโซเชียลรูปแบบใหม่ๆ มีมากขึ้น โดยเฉพาะระยะหลังเฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นโซเชียลที่คนไทยนิยมมาก มียอดผู้ใช้กว่า 47 ล้านคน เกิดเฟซบุ๊คแฟนเพจสำหรับการขายสินค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มแฟนเพจเสื้อผ้าคนอ้วนที่มียอดสมาชิกมากถึง 3 แสนคน ถือว่าเยอะมาก ขณะเดียวกันยังเกิดแฟนเพจบนเฟซบุ๊คที่ขายตามกลุ่มจังหวัด เช่น กลุ่มระยอง เชียงใหม่ โคราช เราเห็นการเกิดขึ้นของกลุ่มเฉพาะเหล่านี้มากกว่าหมื่นๆ กลุ่ม ซึ่งจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน คนที่เลือกมาจอย (join) กับกลุ่มเหล่านี้ คือ คนที่ชอบเหมือนๆ กัน เช่นเดียวกับการไลฟ์ขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ค ก็มีความคึกคัก และดึงดูดให้คนซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น"

สำหรับอินสตาแกรม (ไอจี) ปัจจุบันคนไทยใช้มากกว่า 11 ล้านคน เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่คึกคัก มีร้านค้าบนอินสตาแกรมมากกว่า 8 แสนร้านค้า เทรนด์ที่ยังมาแรง คือ การฝากดาราที่ใช้ไอจี และมีผู้ติดตามจำนวนมาก ขายสินค้า โฆษณาสินค้าให้ สินค้าที่ได้รับความนิยมมาก คือ แฟชั่น เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอางค์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะที่เมื่อสำรวจลึกลงไป พบว่า แหล่งที่พ่อค้า แม่ค้า เช็คอินระหว่างขายสินค้าผ่านไอจี ได้แก่ ย่านสยาม ประตูน้ำ จตุจักร ชี้ให้เห็นว่า เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในตลาดนัดต่างๆ เริ่มใช้ช่องทางโซเชียลซื้อขายสินค้ามากขึ้น

โลจิสติกส์-เพย์เม้นท์โต
ความนิยมของโซเชียล เน็ตเวิร์คจนทำให้การค้าผ่านโซเชียลเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการขนส่ง โลจิสติกส์ต่างๆ ที่ปัจจุบันมีผู้เล่นต่างชาติเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดผู้เล่นรายใหญ่ของไทยอย่าง ไปรษณีย์ไทย ที่ต้องปรับตัวสู้ เช่นเดียวกับระบบการชำระเงินผ่านโซเชียล ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ข้อมูลจากบริการ เพย์ โซเชียล ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านโซเชียลของไทย ระบุว่า ตัวเลขการชำระเงินผ่านโซเชียลเติบโตขึ่้นกว่า 300%

นอกจากนี้ เทรนด์การซื้อขายในรูปแบบ Cross Border หรือการซื้อขายข้ามประเทศ จะเติบโตเพิ่มสูงขึ้นในไทย โดยเฉพาะการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ ผ่านแอพพลิเคชั่นของจีนอย่างค่ายอาลีบาบา เช่น อาลีเอ็กซ์เพลส AliExpress

นายภาวุธ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เว็บไซต์ขายของแบบดั้งเดิม รวมถึงบรรดาอีมาร์เก็ตเพลสต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเชื่อมเว็บไซต์เข้าสู่โซเชียลมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองต้องชาญฉลาดในการใช้เครื่องมิือโซเชียลกระตุ้นยอดขายของตัวเอง รวมถึงพัฒนารูปแบบการขายของตัวเองไปด้วย เพราะปัจจุบันภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทย มีต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนผสมตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงเครื่องมือต่างๆ เกินครึ่งตลาด ภาครัฐเองต้องเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเพิ่ม และมีความชัดเจนในแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนที่ต้องบาลานซ์ให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามามีบทบาทในแง่ของการให้โนว์ฮาว ความรู้ ความร่วมมือ มากกว่าการเข้ามาครอบงำในตลาดทั้งหมด