“ITEL”ท่าไม้ตาย ยูโดสายดำทุ่มยักษ์โทรคม

“ITEL”ท่าไม้ตาย ยูโดสายดำทุ่มยักษ์โทรคม

บริหารธุรกิจกงสีเพียง 5 ปี ปั้นมาร์เก็ตแคป 5 พันล้าน จนติดอันดับ200บริษัทฟอร์บส์ที่มีมูลค่าต่ำกว่าพันล้านที่ดีที่สุด (Best Under A Billion) ทั้งยังปั้นธุรกิจใหม่สู่บริการ เชื่อมสัญญาณ-ดาต้าเซ็นเตอร์ ดาวรุ่งดวงใหม่ไซส์เล็ก หวังทุ่มยักษ์โทรคม

เมื่อโลกธุรกิจเปลี่ยนไปพร้อมกับกาลเวลา" ทำให้บริษัทของผู้พ่อและแม่ (สมบัติ และชลิดา อนันตรัมพร) ผู้ปลุกปั้นธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสายสัญญาณอินเตอร์เน็ท หรือ สาย LAN แบรนด์ Link จากสหรัฐอมเริกา เป็นรายใหญ่รายเดียวในไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ต้องส่งต่อธุรกิจสู่เจเนอเรชั่นใหม่ ใช้พลังความหนุ่มของ ของลูกชายคนที่ 2 ของตระกูลในการขับเคลื่อนธุรกิจกงสี ในชื่อ บริษัทอินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK  

โดยปัจจุบัน “ณัฐนัย อนันตรัมพร นอกจากจะนั่งเก้าอี้ กรรมการบริษัท ILINK ที่ปัจจุบันธุรกิจสยายปีกออกไปใน 3 ส่วน ได้แก่ การจัดจำหน่ายสายส่งสัญญาณ ธุรกิจรับเหมาโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำ และธุรกิจโครงข่ายใยแก้วนำแสง แล้ว  

ณัฐนัยยังเข้าไปมีบทบาท กุมบังเหียนบริษัทลูก  อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม” หรือ ITEL ก่อตั้งในปี 2550 และเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ไปเมื่อปลายปี 2559 โดยบริษัทแห่งนี้เป็นผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ระหว่างสาย Fiber Optic หุ้มเกราะ และ Switching Technology ด้วยอุปกรณ์ IP network equipment รวมถึงการใช้งานโครงข่ายใยแก้วนำแสงขั้นสูง, MPLS, SDH และ DWDM ซึ่งได้เดินสายโครงข่ายบนเส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รวมไปถึงการให้บริการบนโครงข่ายของตัวเอง 100% และศูนย์สํารองข้อมูลอินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้าเซ็นเตอร์ 

สตอรี่ใหม่” ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจ ILINK  ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากการ ต่อยอด ของคนรุ่นลูก จนทำให้ธุรกิจไปแตะตา“ฟอร์บส์” (Forbes) นิตยสารธุรกิจระดับโลก ที่ยกให้ ILINK เป็นหนึ่งในบริษัทที่ติดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าต่ำกว่า1,000 ล้านดอลลาร์ที่ดีที่สุด (Best  Under A Billion) ฐานที่ธุรกิจมั่งคั่งขึ้น 3 เท่าตัวเพียงเวลาไม่กี่ปีหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI (เข้าซื้อขายวันแรก ส.ค.2547 เปลี่ยนมาอยู่ใน SET ในปี 2558) ขณะที่ณัฐนัยยังติดอันดับนักธุรกิจที่อายุน้อยที่สุดที่นำบริษัท  ITEL เข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ด้วยวัยเพียง 29 ปี

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีโอกาสได้สัมภาษณ์ทายาทรุ่น 2 ดีกรีปริญญาโท บริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา เจ้าตัวเล่าว่า กลับมาเมืองไทยในปี 2554 เริ่มงานธุรกิจกงสีในเดือนต.ค.ปีเดียวกันด้วยความไม่เต็มใจ แต่ทำไปเพราะหน้าที่โดยเขายื่นคำขาดกับผู้พ่อว่า..

ขอเวลาสร้างธุรกิจให้พ่อเพียง 5 ปี..! ก่อนจะขอเวลาไปเดินตามฝัน ทำงานกับองค์กรใหญ่ที่เชื่อว่าจะทำให้ตัวเองโดดเด่นกว่าการเป็นหัวขบวนในบริษัทกงสีเล็กๆ ซึ่งภายหลังเขายอมรับว่า เป็นทัศนคติเล็กๆ ของคนอายุน้อยในวันนั้น

ทว่า เมื่อเข้ามารับงาน ก็ทำหน้าที่ผู้บริหารมืออาชีพ ด้วยการต่อยอดธุรกิจซื้อมาขายไป(สายสัญญาณอินเตอร์เน็ต) สู่ธุรกิจบริการโครงข่าย วางระบบโครงการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ จนไปถึงการก้าวสู่การเป็นผู้เล่นในธุรกิจบริการเชื่อมต่อสัญญาณโทรคมนาคม และเก็บข้อมูล (Data Center) ภายใต้ 3 บริษัทในเครือ ILINK ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)  2.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ดูแลงานโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำ และ 3.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัดที่มุ่งเฉพาะธุรกิจให้เช่าศูนย์ข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) 

“ตอนกลับมาช่วยบริษัทเราหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น การรับงานโครงการขนาดใหญ่และเดินสายเคเบิ้ลใต้น้ำ รวมถึงมองไปที่ธุรกิจสื่อสาร" เขาเล่าจิ๊กซอว์โหนกระแสดิจิทัล ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจที่ต้องคว้าให้อยู่หมัด

ผ่านไป 5 ปีของการที่ให้คำมั่นไว้กับผู้พ่อ ปรากฎว่าธุรกิจไปได้สวย โดย ILINK มีมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด (Market Capitalization) พุ่งมาอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ในปี 2558 (ณ 1 มิ.ย.2560 มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 5,726.30 ล้านบาท ในปี 2559 รายได้อยู่ที่ 2,971.94 ล้านบาท ไตรมาสแรกปีนี้ รายได้อยู่ที่ 789.09 ล้านบาท) ธุรกิจในกลุ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความฝันที่จะไต่ระดับรายได้อยู่ที่หมื่นล้านบาทในอีก 5 ปีจากนี้ ไม่จบเพียงแค่นั้น เขายังปั้นบริษัทลูก ITEL เข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ซึ่งตรงกับวันเกิดครบรอบวัย29ปี 

นั่นคือทิศทางการก้าวเดินของนักธุรกิจหนุ่ม ไต่จากธุรกิจร้อยล้าน สู่ พันล้าน ในปัจจุบัน !

รุ่นพ่อผมเป็นเหมือนสตาร์ทอัพ ผมเป็นสเกลอัพ พ่อสร้าง ผมขยาย พ่อสร้างธุรกิจเพื่อ30ปีที่แล้ว ผมเข้ามาต่อยอด ดูเหมือนสตอรี่ของILINKจะหมดแล้ว แต่ผมมาสเกลทำภาคต่อสร้างรายได้ใหม่ และทำรายได้จากยอดขาย 1,200ล้านบาท เป็น 3,000ล้านบาท" 

เขาจำแม่นว่า วันที่พาบริษัท ITEL เข้าตลาดฯ พ่อ เดินมาจับมือพร้อมกับคำยินดีเล็กๆ ที่ทำให้ลูกชายต้องปลาบปลื้มกับความสำเร็จอีกขั้น

ในเชิงมาร์เก็ตแคป “ณัฐนัย” เล่าว่า แม้บริษัท ITEL จะต่างจากธุรกิจพ่อ ILIINK  เข้าตลาดห่างกัน 10 ปี ทว่ามาร์เก็ตแคป เท่ากัน 5,000 ล้าน (4,920 ล้านบาท มาร์เก็ตแคป ณ 1 มิ.ย.2560)

เจ้าตัวยังบอกว่า ธุรกิจโทรคมนาคม บริการเชื่อมโครงข่ายสัญญาณโทรคมนาคม และธุรกิจเก็บข้อมูล ถือเป็น “ดาวดวงใหม่” โดยในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคม ได้ซุ่มลงทุนไปมูลค่า1,800ล้านบาทในรอบ5ปีที่ผ่านมา

เราทำมา5ปีและเป็นช่วงเก็บเกี่ยวลูกค้ามาเรื่อยๆ เริ่มต้นจากมองว่าสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทย และเราก็มองว่าทุกคนจะต้องใช้การสื่อสาร เราจึงเริ่มลงทุนโครงข่ายใยแก้วนำแสงในพื้นที่ที่ยังเป็นจุดบอดและลุยตลาดที่ยังมีช่องว่าง ซึ่งรัฐบาลเริ่มพูดถึงประชารัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ธุรกิจเราก็ได้ประโยชน์ในการกระตุ้นความต้องการในตลาด

โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น ผู้แจ้งเกิด (First Mover) ในตลาดเฉพาะ และตลาดที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไม่ถึง (Niche Market)  อาทิ การให้บริการลูกค้าองค์กร (Business to Business- BtoB) เช่นในแวดวงสถาบันการเงิน ที่ต้องปรับตัวสู่ระบบดิจิทัล เป็นต้น

“การเชื่อมโครงข่ายในไทยมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเชื่อมต่อในตลาดที่แตกต่าง เป็นผู้วางระบบใยแก้วนำแสงลูกกค้าองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องการจุดเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทที่มีเสถียรภาพเพื่อเก็บรักษา ถ่ายโอนข้อมูลตู้เอทีเอ็ม และโมบายแบงก์กิ้ง จากส่วนกลาง เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูล เป็นต้น"

เขายังเล่าสเต็ปต่อไปว่า...จากนี้ไปตั้งเป้าหมายเป็นผู้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายสัญญาณเส้นทางรถไฟ และรถยนต์ทั่วประเทศ ที่จะขึ้นแทนเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด โดยเป้าหมายแรกขอแค่เบอร์2 ก่อนมีส่วนแบ่งทางการตลาด20% จากปัจจุบันข้อมูลจากกสทช.(สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ )ITELอยู่อันดับ3มีส่วนแบ่งทางการตลาด12%

โดยผู้เล่นรายใหญ่เบอร์1และ2คือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีส่วนแบ่งทางการตลาด 24%และเบอร์2มีส่วนบทางการตลาด17%ส่วนอันดับ4และ5คือหน่วยงานรัฐและวิสาหกิจ มีส่วนแบ่งการตลาดรายละ10%

เราต้องการเห็นส่วนแบ่งการตลาด 20%ซึ่งน่าจะเป็นเบอร์ ในตลาด และมีโอกาสเป็นเบอร์หนึ่งในอนาคต

ขณะที่กลยุทธ์ทางการตลาด ในการโค่นยักษ์ในธุรกิจเดียวกันหรือใกล้เคียงกันได้นั้น เจ้าตัวมองว่า อยู่ที่การสร้าง "โมเมนตัม" หาจุดศูนย์ถ่วง ที่ตัวเองถนัด

“เหมือนการเล่นยูโด ต่อให้เราตัวเล็กก็ทุ่มตัวใหญ่ได้ หากหาจุดศูนย์ถ่วงถูกจังหวะ คนตัวเล็กมีจุดแข็งตรงความว่องไว ยืดหยุ่น ตัวใหญ่จุดอ่อนคือความอุ้ยอ้าย จึงใช้ความได้เปรียบตัวเล็กบริการรวดเร็ว ในพื้นที่ที่เราคุมโซนก็แบ่งเป็นของเราตัดสินใจให้เร็ว”

ขณะที่ปัจจุบันยักษ์ใหญ่2ใน3ราย ต่างก็เป็นลูกค้าของ ITEL ในการเชื่อมต่อสัญญาณโทรคมนาคมบางจุด เช่น เส้นทางรถไฟ ที่ยังไม่เสถียรแทนการลงทุนทำเองITELจึงเป็นทั้งคู่แข่ง และพันธมิตรธุรกิจ กับยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการมือถือ(โอเปอเรเตอร์)

ส่วนธุรกิจที่2 ศูนย์รับเก็บข้อมูล เป็นธุรกิจที่ลงทุนพื้นที่เฉพาะเพื่อเก็บข้อมูลในโกดัง แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ใช้สำนักงานดัดแปลงไปเก็บข้อมูล ซึ่งยังมีจุดอ่อนในเรื่องเสถียรภาพและการสำรองไฟที่ยังเป็นสิทธิของเจ้าของพื้นที่ให้เช่า โดยพื้นที่แรกอยู่ที่รามอินทรา

“เราเป็นรายเดียวที่พัฒนาพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ เป็นโกดัง ที่ไม่ได้ดัดแปลงตึก”

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจจัดเก็บข้อมูล ยังไม่มีการสำรวจผู้ให้บริการแน่ชัดเพราะเป็นการบริการใหม่มาก ที่ยังไม่รู้ปริมาณผู้เล่นในตลาดที่ชัดเจน ประเมินว่า ITELน่าจะอยู่อันดับ4-5ของตลาดรวม

เขายังระบุว่า  3 ธุรกิจหลักที่ดำเนินอยู่นี้ ถือเป็นธุรกิจ คลื่นลูกใหม่ ทั้งการให้บริการวางสายอินเตอร์เน็ท ใยแก้วนำแสง เชื่อมต่อโครงข่าย และดาต้าแซ็นเตอร์ ที่เกิดจากการผสมผสานโมเดลธุรกิจจากต่างประเทศมาปรับใช้กับไทย 

โดยได้ไอเดียการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามเส้นทางรถไฟจากมาเลเซีย ซึ่งมีผู้ให้บริการเฉพาะ ส่วนธุรกิจเก็บข้อมูล ดาต้าเซ็นแตอร์ ได้โมเดลมาจากบริษัทรับจัดเก็บข้อมูลซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ และโมเดลสุดท้ายคือผู้เชื่อมต่อสายอินเตอร์เน็ต ได้โมเดลมาจากสหรัฐอเมริกา ประเทศต้นแบบผู้คิดค้นอินเตอร์เน็ต

“เรานำโมเดลธุรกิจ3อย่างจาก3ประเทศมารวมกัน ภายใต้ อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม ซึ่งเป็นการมิกซ์ แอนด์ แมท พัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นฐานประเทศไทย ที่เมืองไทยต้องการโครงข่ายที่มีความเร็วสูง และเสถียรภาพ”

ต่อไปในอนาคต ของ ITEL คือ ทุกเรืองที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม เราเชื่อว่ามาถูกทาง เรามีโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าใครก็ต้องใช้ เหมือนเราลงทุนถนนให้รถวิ่ง

“เราเลือกทำในสิ่งที่เราแข็งแกร่ง เราเติบโตมาในตลาดโทรคมนาคม เพราะเราคิดว่าเรารู้จักสิ่งนี้ดีที่สุด”

เขายังแจกแจงว่า ธุรกิจนี้ไม่ได้แข่งขันกันที่การลงทุนเยอะแล้วสำเร็จ แต่แข่งที่บริการ เพราะต้องดูแลโครงข่ายและข้อมูลตลอด24ชั่วโมง365วัน สิ่งที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทั่วไป ทำคือ รอให้ลูกค้าโทรมาแจ้งหากเสีย แต่บริษัทจะคอยมอนิเตอร์เช็คข้อมูลแล้วโทรไปแจ้งลูกค้านี่คือความต่าง “ณัฐนัย” เผยเพร้อมทิ้งท้ายถึงโอกาสและความฝันของนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จรวดเร็วว่า

 จะเดินตามรอย มหาเศรษฐีพันล้าน (Billionaire) ของโลก ล้วนเติบโตมาจากอุตสาหกรรมด้านไอที อาทิ บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟต์, มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก จากเฟซบุ๊ค 

ธุรกิจสื่อสารจึงเติบโตได้อีกมหาศาลในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ตลาดเริ่มขยายใหญ่ขึ้นในไทยตามเทรนด์ดิจิทัล

------------------------------

  “ล้มเร็ว-ลุกเร็ว” บริหารธุรกิจเก่า-ใหม่

จำใจต้องมารับงานธุรกิจกงสีที่แอบดื้อ ต่อต้านมาตลอด แม้จะรู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องเข้ามาสานต่อกิจการ สำหรับ “ณัฐนัย อนันตรัมพร"

“ไม่ต้องสงสัยเลยตลอดเวลาที่เรียน ก็รู้แต่แรกอยู่แล้วว่าต้องเป็นเราที่เข้ามาทำงานให้ที่บ้าน”

2ดีกรีมหาวิทยาลัยชื่อดัง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจจากบอสตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ คือแบล็คกราวน์ที่เจ้าตัวออกปากเองว่า ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง เพราะพ่อสอนมาตลอด ไม่ใช่เอาดีทางการเรียน แต่สิ่งสำคัญระหว่างเรียนคือ "การเอาตัวให้ตัว"

นั่นคือเหตุผลทายาทธุรกิจ ILINK ผู้นี้ ถูกส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐ เพื่อให้รู้จักการใช้ชีวิต เด็กภาษาไม่แข็งแรงโดนดูถูก แต่สิ่งที่ได้ติดตัวกลับมาคือ ความพยายามและเชื่อเสมอว่าตัวเองทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้” ไม่ว่าจะเป็นสอบวิชาภาษาอังกฤษต้องผ่าน หรือ การหางานได้หลังเรียนจบ แม้เป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ ก็ตาม แต่แรงแห่งความเพียรพยายาม หว่านไปสมัครไปกว่า 700 แห่ง ถูกเรียกสัมภาษณ์50แห่ง และเรียกจริง3ที่ จนกระทั่งถูกเลือกไปทำงานในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมการลงทุน ประมาณ9เดือนก่อนบินกลับไทย

หลังจากขอเวลาพ่อ 5 ปีในการทำงานให้ธุรกิจกงสีก่อนไปเดินตามฝันไปทำงานบริษัทขนาดใหญ่  กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาทุ่มเทงานตรงหน้าอย่างเต็มที่ ทำงานผ่านไปปีแรก ก็ได้รับการโปรโมทให้เป็นกรรมการบริษัท 

ความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นที่พ่อยื่นเสนอไปแล้วได้รับการอนุมัติ ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าได้รับการสนับสนุน ความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ทำให้อยากทำงานเต็มที่

โปรเจคแรกที่เขาต้องทำคือการหันหัวเรือธุรกิจจากซื้อมาขายไปสู่ผู้ให้บริการธุรกิจโทรคมนาคม โดยการยื่นขอใบอนุญาติประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่3จากกสทช. เป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อวงจนสื่อสารความเร็วสูง เส้นทางการรถไฟแห่งประเทศ เวลา15ปี ตั้งแต่วันที่19 ต.ค.2555 ภายใต้ชื่อ Interlink Fiber Optic เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนมิ.ย.2556

ณัฐนัย เล่าว่า เป็นคนจริงจังกับงานมากถึงมากที่สุด ตราบใดที่งานไม่เสร็จจะไม่ยอมหยุด โดยเฉพาะช่วงของการเตรียมตัวขอใบอนุญาติโทรคมนาคม ช่วง1เดือนก่อนทุกอย่างจะเรียบร้อยเขาไม่ได้หลับไม่ได้นอน หมกตัวทำงาน หามรุ่งหามค่ำ 3 วันติด

สิ่งที่ทุ่มเทนั้นก็คุ้มค่าเพราะเป็นการวางรากฐานอนาคตใหม่ แจ้งเกิด ในการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจโทรคมนาคม

ด้วยความที่เป็นเด็กหนุ่มเลือดร้อน จริงจัง และรู้ตัวเองว่าหัวดื้อกับครอบครัวอยู่บ่อยๆ แต่ประสบการณ์ก็สอนให้เขาผสมผสานการเป็นคนหัวเก่ากับคนหัวใหม่ในการบริการธุรกิจครอบครัว

จากเหตุการณ์เสียดีลโครงการสายส่งไปถึง70ล้านบาทเพราะในวันนั้นมั่นใจในตัวเองว่า “เป็นรายเดียว” ในตลาดที่ลูกค้าต้องกลับมาง้อต่อรองราคา แต่ลูกค้าไปแล้วไปเลย ทำให้เสียดีลไปอย่างน่าเสียดาย จุดพลาดในเสียดีล เพราะทุบโต๊ะแม้ลูกน้องบอกว่าราคาสูงไปก็ไม่ฟัง เป็บทเรียนว่าเป็นผู้บริหารที่ต้องฟังคนอื่นด้วย

ก็เสียดายดีลนั้น แต่ก็กลับไปคว้าดีลนั้นกลับมาใหม่ใน3ปีต่อมา การเสียดีลทำให้เรารู้สึกได้ว่า ความคิดเราไม่ได้ถูกเสมอไป เราก็ต้องเป็นคนฟังบ้าง

ตั้งแต่นั้นมา ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะบริหารงานแบบคนรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ผสมกัน เพราะคนรุ่นเก่ามักช้า แต่คนรุ่นใหม่ก็ชอบเสี่ยงเกินไป จึงต้องผสมผสานกับสองแบบ ที่ต้องให้คนรุ่นก่อนลองสิ่งใหม่ๆ แต่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนรุ่นเก่า

องค์กรที่เขาวางโครงสร้างไว้จึงเป็นองค์กรที่หากมีข้อสรุปชัดเจน ทุกคนจะต้องจับมือเดินไปทิศทางเดียวกันทั้งคนเห็นด้วยและคนเห็นต่าง

เขาบอกว่านั่นคือการปรับตัวที่จะต้องเดินให้ทันรับกับกระแสสตาร์ทอัพ ซึ่งคนเหล่านี้เขามีจุดแข็งตรงที่ล้มเป็น เมื่อล้มแล้วลุกขึ้นเร็ว

สิ่งที่ต้องเรียนรู้สตาร์ทอัพ คือพวกเขาเก่งตรงที่ล้มเป็น ล้มแล้วลุกเร็ว ไม่ใช่เก่งตรงที่มีโมเดลธุรกิจที่ไม่เคยล้ม นี่คือจุดแข็งที่องค์กรขนาดใหญ่อายุ50-70ปีจะต้องก้าวให้ทันและเรียนรู้กับคำๆ นี้ถี่ขึ้น"

ณัฐนัย เล่าว่าหลังผ่านไป5ปี จากมาทำงานในธุรกิจกงสีเพราะหนีไม่พ้น ทว่าปัจจุบันกลายเป็นความอิน และรักในบ้านหลังนี้ เพราะเขารู้สึกว่าธุรกิจที่เขาบริหารอยู่นี้คือบ้าน

เป้าหมายของการทำธุรกิจของเขาจึงมองขั้นกว่าของความยั่งยืนในธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ความมั่งคั่งในมูลค่าธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากการทำงานแล้วทำให้พนักงานรัก สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ที่มีความสุข(Happiness) เป็นแรงขับเคลื่อนพาธุรกิจสู่เป้าหมายในระยะ 5 ปี

“ธุรกิจนี้ทำให้ผมมาไกลเกินกว่าที่หวัง บริษัทอายุ5ขวบเข้าตลาด และเป็นเอ็มดีที่อายุน้อยที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมันเกิดขึ้นเร็ว ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายผมคือการวางรากฐานในอนาคตให้เป็นองค์กรแห่งความสุข ผมเป็นเครื่องจักรที่สวมหมวกผู้นำทีม แต่ธุรกิจจะเดินต่อไปต้องอาศัยแรงขับเคลื่อน ที่เราต้องใช้เหตุและผล ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากงานด้านวิศวกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นผู้หญิงในตัว ตรงที่เข้าใจคนในองค์กรว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งเรียนรู้จากการมีพี่น้องเป็นผู้หญิงทั้งหมด”

ส่วนเป้าหมายอันสูงสุดในระยะยาว ณัฐนัยบอกว่า จะเตรียมธุรกิจในระยะยาว ส่งต่อธุรกิจอย่างให้กับทายาทรุ่นที่3 ตามรอยพ่อที่สตาร์ทอัพให้กับเขาเป็นผู้ปั้นและต่อยอด