พี่เลี้ยงไอแทป ยกระดับผักผลไม้ขึ้นห้าง

พี่เลี้ยงไอแทป ยกระดับผักผลไม้ขึ้นห้าง

สภาหอการค้าฯ ร่วมกับ สวทช.สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยของผักและผลไม้ผ่านมาตรฐานไทยแกป เดินหน้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP เพิ่มอย่างต่อเนื่องจาก 30 รายในปัจจุบัน ซึ่งสามารถวางขายผลผลิตใน 4 โมเดิร์นเทรด

เมล่อน ร้านป้าจุกการเกษตร, ซูเปอร์เฟรซ ผักสลัดพร้อมรับประทานและเค ซี. เฟรซ ผักสดผลไม้สด ตัวอย่างแบรนด์สินค้าเกษตรขึ้นห้าง ที่ผ่านเงื่อนไขความปลอดภัย 128 ข้อของไทยแกป ครอบคลุมตั้งแต่การใช้สารเคมี ปุ๋ย การเตรียมดิน การจัดการน้ำ บรรจุภัณฑ์ จนถึงความสด สะอาด

ยกระดับผักผลไม้ไทย

จากเกษตรกรสวนมะนาว “กิตติพงศ์ ชาญนิรุตติ” ผู้จัดการร้านป้าจุกการเกษตร จ.อ่างทอง ตระหนักถึงภัยของสารเคมีทางการเกษตร หลังจากที่ต้องฉีดพ่นแทบจะทุกวันในช่วงมะนาวแตกยอดอ่อน จึงอยากจะเลิกใช้สารเคมี โดยศึกษาหาพืชผักที่ใช้สารเคมีน้อยหรือไม่ใช้เลย พบคำตอบอยู่ที่ เมล่อน เพราะเป็นการปลูกในโรงเรือนหรือปลูกแบบกางมุ้ง

2 ปีของการปลูกเมล่อนให้พ่อค้าคนกลาง กระทั่งทราบว่าห้างแม็คโครเสาะหาผักผลไม้ที่มีคุณภาพไปวางจำหน่าย โดยที่เมล่อนของร้านป้าจุกการเกษตรเป็นหนึ่งในลิสต์ แต่หนึ่งในเงื่อนไขที่จะได้รับคัดเลือกคือ ต้องได้มาตรฐานไทยแกป (ThaiGAP) ซึ่งเป็นระบบจัดการผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัย คำนึงถึงสวัสดิการผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมในการผลิต ดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย หรือ สถาบัน ThaiGAP สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“ผมใช้เวลาเพียง 2 เดือนยกระดับการผลิตให้ผ่านมาตรฐานไทยแกป เพราะทำสวนเมล่อนแบบปลอดสารเคมีอยู่แล้ว เพียงแค่เพิ่มเติมในเรื่องโรงเรือนและกระบวนการจัดเก็บสารให้เป็นระบบ” กิตติพงศ์กล่าวและว่า ปริมาณผลผลิตที่เท่ากัน แต่หลังได้รับมาตรฐานดังกล่าว ผลผลิตของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น จึงมีแผนที่จะขยับสู่มาตรฐานจีเอ็มพีและขยายพื้นที่เพาะปลูก

ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ไอแทป) สวทช. กล่าวว่า สวทช.ร่วมกับ ไอแทปร่วมกับสภาหอการค้าฯ มีโครงการยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานไทยแกป โดยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยวไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ ให้ผ่านเงื่อนไข 128 ข้อของไทยแกป ขณะเดียวกันก็มีโมเดิร์นเทรด 4 แห่งคือ แม็คโคร โลตัส ท็อปส์ บิ๊กซี เป็นตลาดรองรับ ล้วนอยู่ระหว่างการขยายสาขาไปยังตลาดเออีซี จึงต้องการผักและผลไม้อีกมาก

เติมความต้องการตลาด

นอกจากไทยแกปแล้วก็ยังมีมาตรฐาน “ไพรมารี่ ไทยแกป” เป็นระดับพื้นฐานมีข้อกำหนดไม่มาก เน้นเฉพาะระบบความปลอดภัยในการผลิต ทำให้เกษตรกรเข้าใจง่าย และเหมาะสำหรับผู้ประกอบการผักและผลไม้ขนาดเล็กหรือเป็นลูกค้ารายย่อยที่ขาดศักยภาพด้านการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยี เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางหรือขาดแคลนเงินทุน ได้มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้า และยกระดับมาตรฐานสินค้าตามข้อกำหนดและมาตรฐาน

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 2 รายที่ได้รับมาตรฐานไพรมารี่ฯ รวมผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้กว่า 70 ชนิด อาทิ เมล่อน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะและมะเขือเทศ นอกจากเกษตรกรไทยที่ได้ประโยชน์ในการเพาะปลูกและจำหน่ายผลผลิต ผู้บริโภคไทยก็จะได้ประโยชน์จากอาหารปลอดสารพิษที่ได้มาตรฐาน และหาซื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

โปรแกรม ITAP สวทช. กำหนดเปิดรับสมัครผู้ประกอบการผักและผลไม้เข้าร่วมโครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP สำหรับปี 2560 - 2561 จำนวน 20 ราย สอบถามข้อมูลโครงการโทร. 0 2564 7000 ต่อ 1301

“ความสำเร็จของโครงการคือ ได้ช่วยผู้ประกอบการในการเพิ่มคุณภาพสินค้าผักและผลไม้ของไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล” ชนากานต์กล่าว